ในประเทศไทยมีคนพิการมากกว่า 1.7 ล้านคน แต่มีเพียง 30% เท่านั้น ที่มีงานทํา ขณะที่ข้อมูลด้านประสาทวิทยาพบว่า บุคคลที่มีความพิการทางการมองเห็น หรือการได้ยินบางคนนั้น มีประสาทส่วนการรับรู้ที่พิเศษกว่าบุคคลทั่วไป ซึ่งเป็นการชดเชยความบกพร่องของระบบประสาทในส่วนที่เสียไป
นำมาซึ่งการพัฒนา Vulcan Coalition (วัลแคน โคอะลิชั่น) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบริการ AI ใหม่ๆ เป็นภาษาไทยพร้อมๆ ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการ ซึ่งคุณจูน – เมธาวี ทัศนาเสถียรกิจ หนึ่งในผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพที่ต้องการขยายโอกาสในการสร้างงานที่สามารถดึงศักยภาพที่แท้จริงของคนพิการ เพื่อเพิ่มโอกาสให้คนพิการมีงานทำได้มากยิ่งขึ้น สามารถมีรายได้เลี้ยงชีพตนเองได้อย่างยั่งยืน จากงานที่เหมาะสมกับศักยภาพของพวกเขา นำมาซึ่งการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อจับคู่พวกเขากับงานที่มีมูลค่าสูง
นอกจากนี้ ยังช่วยแก้ปัญหาให้ประเทศไทย ซึ่งมีความขาดแคลนพนักงานป้อนข้อมูลที่ถูกต้องเข้าระบบ AI เป็นจำนวนมาก เพื่อให้ AI สามารถเรียนรู้ เข้าใจ และประมวลผลเป็นภาษาไทยออกมา ผ่านการ label หรือการป้อนและกํากับข้อมูลเกี่ยวข้องกับการระบุข้อมูลดิบ เช่น ไฟล์เสียงหรือวิดีโอ และการเพิ่มป้ายกํากับข้อมูลสําหรับบริบท สิ่งนี้ทําให้โมเดลแมชชีนเลิร์นนิงเรียนรู้จากข้อมูล ซึ่งช่วยให้แอปต่างๆ เช่น บริการแชทบอท และการรับรู้จดจําเสียง (voice recognition)
คุณจูน-เมธาวี ทัศนาเสถียรกิจ และ คุณนิรันดร์ ประวิทย์ธนา จึงได้ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรนําเสนอต่อรัฐบาลไทย เพื่อแสดงให้เห็นว่าคนพิการสามารถปฏิบัติงานได้ดีในฐานะผู้ป้อนข้อมูล หรือ data labeler หลังจากได้รับการพัฒนาทักษะ และสามารถป้อนข้อมูลที่ถูกต้อง ภายใต้ความร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน 2,000 คน ฝึกสอนทักษะในการป้อนข้อมูล โดย Vulcan Academy ได้ทําหน้าในการฝึกอบรมและให้การทดสอบสําหรับผู้สมัครที่มีศักยภาพ
“ตอนที่เราบอกครั้งแรกว่าเราต้องการจ้างพวกเขาเป็นผู้ปรับคุณภาพข้อมูล พวกเขากลัวนิดหน่อย เพราะไม่เคยทำมาก่อน รวมทั้งยึดติดความคิดว่าพวกเขาไม่สามารถทํางานหลายประเภทได้ ซึ่งต้องใช้ความพยายามในการโน้มน้าวให้พวกเขาเรียนหลักสูตรนี้ และเมื่อสามารถทำได้ก็เป็นสิ่งที่สร้างความภาคภูมิใจให้สามารถบอกคนอื่นว่าพวกเขาทํางานที่มีมูลค่าสูงนี้ได้สำเร็จ” คุณจูน แชร์เบื้องหลังความสำเร็จให้ฟัง
คุณวิน – ปุณพจน์ เอื้อพลิศาน์ เป็นวิศวกรซอฟต์แวร์อาวุโสที่พิการทางสายตา ทำงานเป็นพนักงานประจำที่ วัลแคน โคอะลิชั่น เขาช่วยสร้างแพลตฟอร์มที่บุคคลทั่วไปใช้ในการป้อนข้อมูลผ่านการแปลงคําพูดเป็นข้อความและกระบวนการอื่นๆ และนับเป็นส่วนสําคัญในการช่วยบริษัทที่กําลังพัฒนาโปรแกรม AI หลังจากนี้เป็นต้นไป
“ผมชอบคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่เด็ก และตั้งใจลงทะเบียนเรียนที่มหาวิทยาลัย ในสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ หลังจากสําเร็จการศึกษาผมก็ได้พบกับหัวหน้าเจ้าหน้าที่วิจัยที่วัลแคน และเขาบอกผมว่าเขาต้องการจัดตั้งแผนกวิศวกรรมของคนพิการ ผมจึงเข้าร่วมทีมและทําผลิตภัณฑ์และแพลตฟอร์มมากมายโดยเปิดให้ผู้พิการที่ฝึกสอน AI ใช้ระบบของเรา นอกจากนี้ยังมีอีกหลายโครงการที่เราทําร่วมกับองค์กรภายนอกอีกด้วยครับ” คุณวิน บอกถึงความรู้สึก
ปี 2563 คุณจูน ได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณสัตยา นาเดลลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไมโครซอฟท์ ที่งาน Microsoft APAC Innovators Forum ที่ประเทศสิงคโปร์ พร้อมเล่าถึงความมุ่งมั่นการขับเคลื่อน Vulcan Coalition ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจระดับโลกของไมโครซอฟท์ในการช่วยให้ทุกคนและทุกองค์กรบนโลกใบนี้ ประสบความสําเร็จมากขึ้นผ่าน AI for Good ซึ่งเป็นแคมเปญระดับโลกของไมโครซอฟท์ โดยดึงเอาความสามารถทางเทคโนโลยีอย่างเต็มรูปแบบจากแพลตฟอร์ม Microsoft Cloud และ AI เพื่อทําให้โลกมีความยั่งยืนและเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงเทคโนโลยี
วัลแคน โคอะลิชั่น จึงได้รับการสนับสนุนจากไมโครซอฟท์ ในการนำ AI เข้ามาสร้างโอกาสให้ผู้พิการ และเป็นเหมือนใบเบิกทางให้สามารถพัฒนาแพลตฟอร์มให้แข็งแรงเพิ่มขึ้น รวมทั้งช่วยให้ได้รับการยอมรับและเชื่อถือจากองค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งคุณจูนให้ความเห็นว่า “ถ้าไม่มีความช่วยเหลือของไมโครซอฟท์ มันจะยากขึ้นมาก เพราะเราเป็นสตาร์ทอัพเล็กๆ ที่เพิ่งเริ่มต้นและก็ยากที่จะได้รับการยอมรับจากองค์กรใหญ่ๆ”
วัลแคนยังได้รางวัลชนะเลิศ Thailand Virtual Hackathon จากการพัฒนาฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ขับเคลื่อนด้วย AI เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้พิการสามารถตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย อาการป่วย และเช็คอินเมื่อเข้าสู่สถานที่หรืออาคารต่างๆ ได้โดยอัตโนมัติ ทั้งยังสามารถใช้กล้องตรวจสอบว่าแต่ละคนใส่หน้ากากอยู่หรือไม่ ด้วยระบบ AI ที่ทำงานอยู่บนแพลตฟอร์มคลาวด์ Microsoft Cloud
ทีมวัลแคน ได้ให้สมาชิกที่หูหนวกทำการสอน กํากับ และฝึก AI โดยฝึกจากข้อมูลภาพ และจากการเป็นผู้ชนะในครั้งนั้น ไมโครซอฟท์ภายใต้โครงการสนับสนุนสตาร์ทอัพ ได้มอบ Cloud credit ให้เป็นมูลค่า 25,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนวัลแคนให้พัฒนาโครงการที่เหมาะสมต่อไป รวมถึงได้ให้คําปรึกษาและการสนับสนุนการสร้างแอปพลิเคชันบนโจทย์ AI for Good และตามด้วยการสนับสนุนให้ผู้พิการนำ IP มาขายอยู่บน Microsoft Azure Marketplace อีกด้วย
ปัจจุบันวัลแคน ได้เป็นพันธมิตรกับภาคธนาคาร แผนกบุคคลของหลายองค์กร และบริษัทรีเทลของแต่งบ้าน โดยการสร้าง AI แชทบอทและ กระบวนการการทำงานที่ใช้ AI เป็นผู้ช่วย โดยมีการใช้งานทั่วประเทศ ซึ่งราว 30% ของรายได้จากบริการ AI ของ Vulcan จะถูกแบ่งให้กับพนักงานเพื่อสร้างความยั่งยืนในระยะยาว
การขับเคลื่อนของวัลแคน ช่วยเพิ่มศักยภาพให้แรงงานผู้พิการอย่างแท้จริง เพราะแม้ว่า ประเทศไทยจะมีนโยบายให้บริษัทจ้างพนักงานผู้พิการ 1 คน ต่อพนักงานทุกๆ 100 คน แต่ในบางกรณี มักมีเนื้องานไม่ตรงกับผู้พิการ โดยหลายๆ บริษัท เพียงแค่จ่ายเงินให้กับบุคคลและไม่ได้เสนอโอกาสในการทํางานที่แท้จริง ซึ่ง Vulcan จะเข้าไปเป็นพันธมิตรกับบริษัทที่ต้องการแรงงานที่มีทักษะอย่างแท้จริง โดยคาดว่าภายใน 2 ปี หลังจากเริ่มโปรแกรม บริษัทจะสามารถจับคู่คนพิการเข้ากับงาน AI ได้ราว 600 คน ซึ่งเป็นการยกระดับทักษะแรงงาน รวมทั้งเพิ่มโอกาสให้กลุ่มผู้พิการในการสร้างรายได้จากงานที่ต้องใช้สกิล หรือได้รับการฝึกฝนทักษะด้านเทคโนโลยีซึ่งมีความต้องการสูงในตลาด