CKPower ตั้งเป้า NET ZERO EMISSION 2050 ขึ้นแท่นหนึ่งผู้นำผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ใหญ่ที่สุดในอาเซียน

CKPower ในฐานะผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่และมีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต่ำที่สุดรายหนึ่งของภูมิภาคอาเซียน ได้วางโรดแม็พ CKP NET ZERO EMISSION 2050 เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกมิติของการดำเนินงาน​ และสร้างความแข็งแกร่งด้านการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน พร้อมวางรากฐานความมั่นคงทางพลังงาน ตลอดจนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมาย​การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593)

คุณธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า CKPower ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจภายใต้แนวทางการสร้างความยั่งยืนและสมดุลให้กับโลก ​ตามข้อตกลงจากที่ประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP 26) รวมถึงแผนนโยบายของประเทศไทยที่มุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ตามโรดแม็พ CKP NET ZERO EMISSION 2050

คุณธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน)

โดยเริ่มต้นจากการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Risk Management) พร้อมตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกกระบวนการผลิต และให้ความสำคัญในทุกโรงไฟฟ้าที่บริษัทเข้าไปลงทุนโดยเลือกใช้เทคโนโลยีระดับสูงเพื่อให้เกิดเสถียรภาพของระบบการจ่ายไฟฟ้าให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมและการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพให้กับบุคลากรทุกระดับ ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาระบบการปฏิบัติงานเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ที่จะช่วยต่อยอดระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพ เตรียมความพร้อมนำกลไกการกำหนดราคาคาร์บอนสร้างโอกาสในการลงทุนเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก (Green Finance) ให้กับองค์กร

“เป็นที่น่าภูมิใจที่ CKPower ได้ผ่านการรับรองให้เป็นองค์กรผู้นำด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก (Climate Action Leading Organization) จากคณะกรรมการเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย ในการประชุมคณะกรรมการเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย จัดโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา”

อีกหนึ่งความก้าวหน้าล่าสุดคือ โรงไฟฟ้าบางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น บริษัทในเครือของ CKPower ผ่านเกณฑ์สำคัญคือ Carbon Footprint Product (เครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์) จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ในการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ ที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การใช้งาน และการกำจัดซากผลิตภัณฑ์หลังการใช้งาน โดยโรงไฟฟ้าบางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มุ่งเน้นการจำหน่ายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และจำหน่ายไฟฟ้าส่วนที่เหลือและไอน้ำ ให้ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม

CKPower ยังได้กระตุ้นการมีส่วนร่วมของพนักงานทั้งในไทยและ สปป.ลาว ผ่านชุดยูนิฟอร์มใหม่ ‘CKPower Cool Mode’ ด้วยผ้า Cool Mode​ (ผ้าอนุรักษ์โลก) ที่มีนวัตกรรมโดดเด่น ด้วยคุณสมบัติพิเศษในการซับเหงื่อและระบายความร้อนได้ดี ให้ความเย็นสบายในขณะที่สวมใส่อยู่ในห้องอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียสได้ โดยไม่รู้สึกอึดอัด รีดง่าย ช่วยลดการใช้กระแสไฟฟ้าจากเครื่องใช้ไฟฟ้า และยังมีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อม ด้วยดีไซน์ที่ออกแบบให้ดูทันสมัย ซึ่งชุดยูนิฟอร์ม CKPower Cool Mode นี้ได้รับเกียรติบัตรรับรองการเป็นองค์กรลดโลกร้อน จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทออีกด้วย นับว่าเป็นความสำเร็จอีกขั้นในการตอกย้ำภารกิจสำคัญที่มุ่งสู่ CKP NET ZERO EMISSION ผ่านการร่วมแรงร่วมใจของผู้บริหารและพนักงานทุกระดับ

นอกจากนี้ CKPower ยังบรรลุความสำเร็จตามแผนงานที่วางไว้ คือ การเข้าร่วมเป็น Task Force on Climate-Related Financial Disclosures (TCFD) Supporter หรือเป็นผู้สนับสนุนมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศในหมวด Electric Utilities เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจและความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยร่วมแก้ไขปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เป็นวาระเร่งด่วนในระดับชาติและระดับโลก เพื่อให้การดำเนินธุรกิจสอดคล้องไปกับการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่เป้าหมายสำคัญของการลดคาร์บอนอย่างแท้จริง

“CKPower มุงมั่นที่จะเพิ่มสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าภายในองค์กรจากพลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์ลูกค้าที่มุ่งสู่เทรนด์พลังงานสะอาด รักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 89% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด คาดว่าในอีก 5 ปี จะเพิ่มสัดส่วนเป็น 95% รวมทั้งการวางแนวทางเพื่อเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน​และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ​ ทั้งเพิ่มการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop)​ การเปลี่ยนหลอดไฟในอาคารและโรงไฟฟ้าในเครือเป็นหลอด LED รวมถึงลดปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ตลอดจนมีความมุ่งมั่นในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่มีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมการดำเนินงานทุกขั้นตอน และร่วมยกระดับมาตรฐานทางด้านพลังงานหมุนเวียนของประเทศ สู่การเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน  คุณธนวัฒน์ กล่าวสรุป

 

Stay Connected
Latest News