ชุดเสื้อผ้าประจำชาติอินเดียอย่าง ‘ส่าหรี’ ซึ่งเป็นผ้าผืนยาวต่อเนื่องกว่า 6 หลา ซึ่งหญิงสาวชาวอินเดียทุกคนต้องเคยสวมใส่ ไม่ว่าจะเป็นการสวมใส่ในชีวิตประจำวัน หรือตามโอกาสเทศกาลสำคัญต่างๆ
และในบางครั้งเสื้อผ้าเหล่านี้ยังได้กลายเป็นมรดกตกทอดจากรุ่นแม่ไปสู่รุ่นลูกอีกด้วย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในปัจจุบันไม่ได้มีการใช้ประโยชน์จากส่าหรีมากเหมือนเมื่อก่อน มีเพียงการใส่ไปงานตามโอกาสต่างๆ
ขณะที่บรรดาผู้หญิงยังคงซื้อส่าหรีเก็บไว้เป็นจำนวนมาก แต่ไม่สวมใส่บ่อยเหมือนคนรุ่นก่อนๆ ทำให้ผ้าส่าหรีที่ใช้ในโอกาสเพียงเล็กน้อย ถูกโยนทิ้งและจบลงในหลุมฝังกลบมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดมลภาวะในดินและอากาศ
ทั้งนี้ คาดการณ์จำนวนส่าหรีที่มีอย่างมหาศาล เฉพาะแค่ตลาดส่าหรีในประเทศอินเดียเพียงแห่งเดียว ก็มีขนาดมูลค่าถึงปีละ 4 แสนล้านรูปี หรือกว่า 5 พันล้านดอลลาร์ และพบว่ามีการทิ้งชุดส่าหรีสูงถึงหลักพันรายการในแต่ละวัน
ทำให้ผู้ประกอบการอย่าง Sari Knot Sari, I was a Sari และ Sari for Change พยายามมองหาวิธีการนำผ้าส่าหรีเก่าของหญิงชาวอินเดียมาสร้างคุณค่าใหม่ เพื่อเพิ่มประโยชน์ในการใช้งานให้หลากหลายมากขึ้น แทนการแขวนไว้ในตู้เฉยๆ หรือสุดท้ายจะกลายเป็นขยะแฟชั่นจำนวนมหาศาล รวมทั้งยังทำให้ส่าหรีเป็นที่รู้จักและสามารถขยายโอกาสในตลาดโลกได้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการนำไปตัดเย็บเป็นผ้าคลุมไหล่ และชุดกิโมโน ตามสไตล์ของ Sari for Change
ขณะที่ Sari Knot Sari ได้ทำงานร่วมกับทีมดีไซเนอร์ ในนิวเดลีเพื่อเปลี่ยนผ้าส่าหรีแบบเก่าให้เป็นแจ็กเก็ต เสื้อกั๊ก เสื้อปอนโช และหรือชุดเดรส รวมไปถึงกิจการเพื่อสังคมอย่าง I was a Sari ก็มีการนำผ้าส่าหรีเก่าไปตัดเย็บเป็นเป้สะพายหลัง ต่างหู หรือชุดไปงานเลี้ยง รวมไปถึงชุดนอนสำหรับลูกค้าในยุโรป
ที่สำคัญการนำผ้าส่าหรีเก่าไป Upcycle ในธุรกิจแฟชั่นยังสนับสนุนแนวทาง Sustainable Fashion เพราะลดการใช้ทรัพยากรใหม่ ทั้งลดการใช้น้ำที่มีการใช้ในอุตสาหกรรมแฟชั่นเฉลี่ยนกว่า 1.5 ล้านล้านลิตรในแต่ละปี รวมท้ังมีสัดส่วนในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราว 10% ของการปล่อย CO2 ทั่วทั้งโลก ตามรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จัดตั้งขึ้นโดยสหประชาชาติ
อย่างไรก็ตาม แม้การนำผ้าส่าหรีเก่ามาใช้ประโยชน์อื่นๆ อาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมอินเดีย เพราะก่อนหน้านี้มีการนำผ้าส่าหรีไปทำเป็นผ้าห่ม ปลอกหมอน ผ้าเช็ดจาน เสื้อคลุม กระโปรง สำหรับเด็ก หรือแม้แต่ไปทำผ้าอ้อมรวมทั้งสายไกวเปลสำหรับทารก แต่การนำไปต่อยอดในวงการแฟชั่นทำให้เพิ่มโอกาสในการใช้งาน และสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งยังลดจำนวนขยะจากกลุ่มแฟชั่นได้อย่างมีนัยสำคัญ
ปรียา โมฮัน ผู้ก่อตั้ง Sari Knot Sari ซึ่งเป็นชาวแคนาดาเชื้อสายอินเดียรุ่นที่สี่ ทำงานร่วมกับทีมดีไซเนอร์ในนิวเดลีเพื่อแปลงส่าหรีเก่าให้เป็นเสื้อผ้าชุดใหม่ และสวมใส่ได้หลากหลายโอกาสมากขึ้น มองว่า การต่อยอดในวงการปฟชั่น ทำให้ผ้าส่าหรีสามารถส่งต่อวัฒนธรรมของอินเดียไปสู่โลกภายนอก เพราะสินค้าได้รับความสนใจจากร้านบูติกทั่วโลก ตั้งแต่ออสเตรเลีย อเมริกาเหนือ และยุโรปตะวันตก
นิกิ โกเมซ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของ I was a Sari กล่าวว่า “การผลิตเสื้อผ้าที่สวมใส่ได้จากผ้าส่าหรีทำให้ทุกคนมีโอกาสได้เพลิดเพลินกับภาพพิมพ์และสีสันที่สวยงามเหล่านี้ โดยไม่ต้องสวมส่าหรีจริงๆ
รายา เอ็ดเวิร์ดส์ ผู้ก่อต้ัง Sari for Change กล่าวว่า พลเมืองโลกและผู้บริโภครุ่นใหม่ใส่ใจประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และใช้เป็นเหตุผลหนึ่งในการตัดสินใจซื้อ รวมทั้งข้อมูลที่มาที่ไปของสินค้าต่างๆ ซึ่งการนำส่าหรีเก่าของ Sari for Change มาใช้ ไม่ได้ช่วยแค่สิ่งแวดล้อม แต่ยังช่วยเหลือชุมชนและสนับสนุนกลุ่มช่างแรงงานฝีมือที่ทางแบรนด์ได้ว่าจ้างให้มาช่วยตัดเย็บเพื่อสร้างรายได้ รวมทั้งกลุ่มฝึกอบรมและจ้างงานในอินเดียอย่าง SETU Fair Trade ของอินเดียฝึกอบรมและจ้างช่างฝีมือมากกว่า 7,000 คนใน 16 รัฐของอินเดีย ซึ่งส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่ยากจน ส่วนใหญ่ไม่รู้หนังสือ ถูกกดขี่ที่บ้าน และไม่มีทักษะในการหางานทำที่ไหนเลย แต่สามารถสร้างอาชีพเพื่อหารายได้เลี้ยงตัวเองได้จากการขับเคลื่อน Ecosystem ของผ้าส่าหรีเก่านี้