สถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบกับแวดวงการศึกษาไทยและทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นักเรียนในปัจจุบันต้องปรับตัวกับรูปแบบการเรียนใหม่ๆ และบางส่วนที่ปรับตัวไม่ทันก็อาจหลุดออกจากระบบการศึกษาหรือเกิดปัญหาความรู้ถดถอย (Learning loss) ไป
โดยปัญหานี้ได้ส่งผลกระทบกับเด็กทั่วโลก นอกจากนี้ ยังมีปัญหาสุขภาพจิต เพราะการเรียนหนังสือผ่านหน้าจอมากเกินไป ทำให้เด็กทั่วโลกกำลังเผชิญกับภาวะความเครียดสูงอยู่อีกด้วย
กระทรวงศึกษาธิการมองเห็นความสำคัญของปัญหานี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนที่สุด โดยเฉพาะปัญหาเด็กไทยที่หลุดออกจากระบบการศึกษา เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ต้องดึงกลับมาและป้องกันไม่ให้หลุดซ้ำ จึงเกิด “โครงการพาน้องกลับมาเรียน” เพื่อช่วยเหลือเด็กตกหล่นและหลุดออกกลางคันได้กลับมาเรียนอีกครั้ง พร้อมผลักดันโครงการโรงเรียนคุณภาพ ซึ่งเป็นอีกแนวทางการแก้ไขที่ยั่งยืน เพราะมีการจัดสรรทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ และช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึง
นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า “3 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกเจอกับสถานการณ์โควิด-19 ต้องยอมรับว่าพฤติกรรมของเด็กและผู้ปกครองได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างรวดเร็ว ตรงนี้เป็นความท้าทายของกระทรวงศึกษาธิการที่จะต้องเข้ามาแก้ไขปัญหา ทั้งในส่วนของปัญหาเดิมที่มีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และปัญหาเร่งด่วนที่เราพบตั้งแต่เริ่มกลับมาเปิดเรียนหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คือปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาไป ซึ่งอาจเกิดจากความเดือนร้อนทางครอบครัวหรือการโยกย้ายถิ่นฐาน โดยเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในทั่วโลกเช่นกัน เพราะฉะนั้น กระทรวงศึกษาธิการจึงประกาศปักหมุดเพื่อที่จะดึงเด็กกลับมาสู่ระบบการศึกษา โดยเตรียมทางเลือกรองรับไว้ทั้งสายสามัญศึกษา สายอาชีวศึกษา รวมถึงการศึกษานอกระบบ ซึ่งตอนนี้เราสามารถดึงกลับมาได้กว่า 95% โดยเฉพาะอาชีวศึกษา เราได้เตรียมโครงการอาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ ที่มีการให้การศึกษาแบบไม่มีค่าใช้จ่าย พร้อมหอพักและอาหาร 3 มื้อ และยังมีรายได้ระหว่างเรียนด้วย เพื่อรองรับเด็กกลุ่มเสี่ยงต่อการหลุดออกจากระบบการศึกษาโดยเชื่อมโยงการศึกษาขั้นพื้นฐานและอาชีวะร่วมกัน ซึ่งตอนนี้สามารถรองรับเด็กได้กว่า 4,000 คนแล้ว
การแก้ไขปัญหานี้จำเป็นต้องบูรณาการความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรหรือหน่วยงานต่างประเทศ รวมไปถึงชุมชนในแต่ละท้องที่ ในการพาเด็กตกหล่นและหลุดออกจากระบบการศึกษาได้กลับมามีโอกาสเรียนอีกครั้ง กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ทำ MOU กับ 8 กระทรวง 3 หน่วยงาน ภายใต้นโยบายสำคัญของรัฐบาล คือ จะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (No one left behind) และนอกจากผลกระทบกับเด็กนักเรียนแล้ว ครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงโรงเรียน ก็ได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน ดังนั้น ทั้งครู นักเรียน ผู้ปกครอง โรงเรียน และชุมชน ต่างต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อช่วยยกระดับการศึกษาไทยให้ครอบคลุมทุกมิติ รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นและทำให้การศึกษามีความพร้อมและก้าวไปพร้อมเศรษฐกิจ”
ในปี 2565 กระทรวงศึกษาธิการได้ปรับทิศทางการศึกษาไทย โดยมุ่งเน้นพัฒนาโครงสร้างการศึกษาไปที่การออกแบบการศึกษาให้ยืดหยุ่น ซึ่งทางด้าน สพฐ. ได้มีการพัฒนาหลักสูตรห้องเรียนอาชีพ เพื่อให้ทุกคนสามารถค้นหาความถนัดความชอบของตนเอง ซึ่งเชื่อว่าหากเด็กไทยได้เรียนในสิ่งที่ชอบแล้ว ก็จะประกอบอาชีพได้อย่างมีความสุข นอกจากนี้ ยังทำแผนพัฒนาหลักสูตรความเป็นเลิศของอาชีวศึกษา ในโครงการศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา (Excellent Center) และโครงการ CVM ให้รองรับการขยายตัวของอาชีพในกลุ่มอุตสาหกรรม S-CURVE และ NEW S-CURVE และยังมีการทำ MOU ส่งเสริมการมีงานทำร่วมกับกระทรวงแรงงาน เพื่อจับคู่ความต้องการของตลาดแรงงานกับการผลิตคนอาชีวะให้สอดคล้องกัน นอกจากนี้ ยังผลักดัน การศึกษาแบบอาชีวะทวิภาคี จับมือกับภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมและสร้างโอกาสให้นักศึกษาอาชีวะได้เข้าไปเรียนรู้การทำงานจริง และในส่วนของนักเรียนสายสามัญ ก็ได้มีการริเริ่มห้องเรียนอาชีพ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนมัธยมต้นได้ลองไปเรียนรู้ในสายอาชีวะเพื่อค้นหาตัวตนก่อนตัดสินใจหลังจบ มัธยมศึกษาปีที่ 3 รวมไปถึงกลุ่มคนที่จบการศึกษาแล้ว กระทรวงศึกษาธิการยังจัดให้มีการ up skill / re skill เพื่อให้ทุกช่วงวัยได้มีโอกาสได้เรียนรู้และสร้างเสริมทักษะเพิ่มเติมสำหรับการประกอบอาชีพเพิ่มอีกด้วย
“การศึกษาและเศรษฐกิจไทยในอนาคต เป็นสิ่งที่ต้องเดินไปคู่กัน เราจึงผลักดันให้คนไทยเข้าถึงการศึกษาได้ทุกช่วงวัย โดยเปิดโอกาสให้คนไทยสามารถเข้าถึงการศึกษาและการเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต ตามนโยบายสำคัญของรัฐบาลและแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นอกจากนี้ เราต้องปรับรูปแบบการเรียนในปัจจุบันให้เป็น Active Learning โดยให้เด็กมีกระบวนการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบผ่านการลงมือปฏิบัติ และนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงการจัดหาอุปกรณ์การสื่อสารและอินเตอร์เน็ต เพื่อให้เหมาะกับการศึกษาในยุคหลังโควิด-19 ซึ่งนักเรียนจะสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ไม่จำเป็นต้องอยู่แต่ในโรงเรียน และสิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการพัฒนาเด็กไทย คือการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยมุ่งเน้นเปลี่ยนบทบาทให้ครูเป็น Facilitator พร้อมทั้งเพิ่มศักยภาพครูให้สามารถจัดการเรียนการสอนให้เด็กไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดังนั้น เมื่อเด็กไทยได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา และพัฒนาความรู้ความสามารถได้เท่าเทียมกันทั้งประเทศ ก็เป็นเหมือนขุมพลังและกำลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้พัฒนาอย่างยั่งยืน” นางสาวตรีนุช เทียนทอง กล่าว