ซีพี ออลล์-เซเว่นฯ ผนึก กทม. ดึง 437 โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพฯ ร่วมภาคีโรงเรียนไร้ถัง ขยายเครือข่ายจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง

ในแต่ละปีที่ผ่านมา ทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) ต้องเสียงบประมาณด้านการจัดการขยะมากกว่าปีละหมื่นล้านบาท เนื่องจากกระบวนการจัดการขยะตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำยังไม่สอดคล้องกัน ซึ่งหากสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการปัญหาเหล่านี้ได้ดีขึ้น จะช่วยลดงบประมาณในส่วนนี้ เพื่อนำไปจัดสรรให้กับการขับเคลื่อนหรือพัฒนาในมิติอื่นๆ ได้มากยิ่งขึ้น

“สัดส่วนงบประมาณในการจัดการขยะที่สูงถึงปีละกว่าหมื่นล้านบาทนั้น สูงกว่างบที่ใช้ในการพัฒนาด้านการศึกษาที่ใช้อยู่ปีละกว่า 4,000 ล้านบาท ถึง 3 เท่าตัว ดังนั้น หากสามารถแก้ปัญหาขยะอย่างยั่งยืน​ ด้วยการดำเนินการไปพร้อมกันทุกส่วนตั้งแต่ต้นน้ำ คือ ปลูกฝังให้ประชาชนเกิดการคัดแยกขยะ กลางน้ำ คือ กทม.จัดเก็บขยะแบบแยก และปลายน้ำ คือการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ จะทำให้สามารถจัดสรรงบประมาณที่ลดลงไปเพิ่มการพัฒนาส่วนอื่นๆ เช่น ด้านการศึกษา ที่แม้ว่าโรงเรียนสังกัด กทม. จะมีระบบเรียนฟรี แต่ก็สามารถนำงบประมาณมาใช้สำหรับการพัฒนาในเชิงกายภาพ การพัฒนาโรงเรียน การพัฒนาหลักสูตร หรือการพัฒนาศักยภาพหรือสวัสดิการครูให้ดีขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ”​  คุณศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการ กทม.  ให้แนวคิด

ต่อยอดภาคีเครือข่ายโรงเรียนไร้ถัง

เป็นที่มาในการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับสมาชิกภาคีเครือข่ายโรงเรียนไร้ถัง’ ร่วมกับ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) โดยกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้นำโรงเรียนในสังกัด กทม.จำนวน 437 แห่ง เข้าร่วมเป็นสมาชิกภาคีในฐานะ “โรงเรียนไร้ถังสังกัดกรุงเทพมหานคร” เพื่อร่วมกับองค์กรภาคเอกชนกว่า 10 แห่ง และ 443 โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทั่วประเทศ ปลูกฝังให้เกิดการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางให้กับเยาวชนและชุมชน แก้ปัญหาการจัดการขยะ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่และเป็นวาระสำคัญของประเทศ

คุณศานนท์ กล่าวต่อว่า กทม.จะนำโมเดลของภาคีเครือข่ายโรงเรียนไร้ถัง มาดำเนินการทันทีกับโรงเรียนสังกัด กทม.ใน 4 เขต ได้แก่ หนองแขม ปทุมวัน พญาไท และบางเขน รวม 19 โรงเรียน โดย 3 เขตแรก เป็นเขตนำร่องโครงการ “ไม่เทรวม” ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา โดยรณรงค์แยกขยะเศษอาหารออกจากขยะทั่วไป ขณะที่เขตบางเขน เป็นเขตที่ทางภาคีเครือข่ายโรงเรียนไร้ถัง มีเครือข่ายชุมชนไร้ถังอยู่แล้ว จึงทำให้สามารถดำเนินการได้ทันที รวมถึงอีก 5 เขต 5 โรงเรียนที่มีต้นทุนและความพร้อมด้านการจัดการขยะอยู่แล้วพร้อมร่วมโครงการทันที รวมทั้งหมดเป็น 9 เขต 24 โรงเรียน และหลังจากนี้ จะค่อยๆ ขยายผลไปยังโรงเรียนอื่นๆ จนครบ 437 แห่ง

“สิ่งที่เราพูดมาตลอดคือ ทำอย่างไรจะเปลี่ยนขยะให้เป็นทรัพย์สิน แบบที่หลายประเทศทั่วโลกทำกัน วันนี้ภาคีเครือข่ายต้นกล้าไร้ถัง มีพันธมิตรที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะในระดับอีโคซิสเท็ม มีระบบการนำวัสดุรีไซเคิลไปแลกพอยท์ นำพอยท์ไปแลกเป็นเงินหรือเป็นอุปกรณ์การเรียน ซึ่งเป็นแนวคิดที่เป็นประโยชน์มาก การปลั๊กอินกับโมเดลที่มีอยู่แล้ว จะช่วยสร้างทางลัดแก้ไขปัญหาให้กับเมืองได้เร็วขึ้น” 

คุณยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “โรงเรียนไร้ถัง” เป็นการนำโมเดลการจัดการขยะแบบ “ทับสะแกโมเดล” จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งประสบความสำเร็จในการลดปริมาณขยะจาก 15 ตัน/เดือน เหลือเพียง 2 กิโลกรัม/ เดือน ปลูกฝังเยาวชนให้มีองค์ความรู้เกี่ยวกับการคัดแยกขยะ รียูส รีไซเคิล อัพไซเคิล และมีส่วนร่วมคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางภายในโรงเรียน รวมทั้งสร้างรายได้จากการคัดแยกขยะ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ทุกคนหันมาคัดแยกขยะอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน นำสิ่งที่เป็นวัสดุอินทรีย์ วัสดุรีไซเคิล ส่งต่อไปยังหน่วยงานและกระบวนการจัดการขยะที่เหมาะสม สร้างรายได้กลับเข้าสู่โรงเรียนและชุมชน และทำให้โรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ชุมชน เพื่อส่งต่อองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะไปยังชุมชนใกล้เคียงโรงเรียน ปลูกฝังให้คนในท้องถิ่นร่วมคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง โดยทางภาคีจะสนับสนุนงบประมาณ และองค์ความรู้ โดยมีคู่มือการดำเนินงาน การจัดฝึกอบรม การลงพื้นที่ และการติดตามผลอย่างใกล้ชิด

“สิ่งสำคัญที่สุดของการแก้ปัญหาระดับชาติ คือการสร้างความร่วมมือ รวมพลังกันแก้ปัญหาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ภาคีของเรามีองค์ความรู้หรือ Knowhow ในการจัดการขยะที่ประสบความสำเร็จอย่างทับสะแกโมเดล มีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะครบวงจร ขณะที่ กทม.เองก็มีนโยบายและวิสัยทัศน์ชัดเจนว่าต้องการให้เกิดการคัดแยกขยะอย่างจริงจังตั้งแต่ต้นทาง รวมถึงมีบุคลากร โรงเรียน ชุมชนในสังกัดจำนวนมาก ความร่วมมือกันในครั้งนี้ จึงนับเป็นการรวมพลังครั้งสำคัญ เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาขยะอย่างยั่งยืน ตามปณิธานองค์กร “ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสต่อกัน” คุณยุทธศักดิ์ กล่าว 

 ร่วมสร้าง Green Learning Network ที่แข็งแกร่งที่สุด

ทั้งนี้ เป้าหมายที่ทางภาคีต้องการให้เกิดขึ้นกับโรงเรียนภายใต้ภาคี ได้แก่ 

1.การบูรณาการเรื่องการจัดการขยะเข้ากับหลักสูตรท้องถิ่น เพื่อปลูกฝังเยาวชนให้มีองค์ความรู้เกี่ยวกับการคัดแยกขยะ รียูส รีไซเคิล อัพไซเคิล และมีส่วนร่วมคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางภายในโรงเรียน ตามแนวทางของทับสะแกโมเดล ซึ่งประสบความสำเร็จในการลดปริมาณขยะจาก 15 ตันต่อเดือนเหลือเพียง 2 กิโลกรัมต่อเดือน 

2.การสร้างรายได้จากการคัดแยกขยะ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ทุกคนหันมาคัดแยกขยะอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน นำสิ่งที่เป็นวัสดุอินทรีย์ วัสดุรีไซเคิล ส่งต่อไปยังหน่วยงานและกระบวนการจัดการขยะที่เหมาะสม สร้างรายได้กลับเข้าสู่โรงเรียนและชุมชน และ 

3.การทำให้โรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ชุมชน เพื่อส่งต่อองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะไปยังชุมชนใกล้เคียงโรงเรียน ปลูกฝังให้คนในท้องถิ่นร่วมคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง โดยทางภาคีจะสนับสนุนงบประมาณ และองค์ความรู้ โดยมีคู่มือการดำเนินงาน การจัดฝึกอบรม การลงพื้นที่ และการติดตามผลอย่างใกล้ชิด

ด้าน คุณสุวิทย์ กิ่งแก้ว ที่ปรึกษาอาวุโสคณะเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และ เซเว่น เดลิเวอรี่ กล่าวว่า ภาคีเครือข่ายโรงเรียนไร้ถัง ถือเป็นภาคีที่มีเครือข่ายด้านการจัดการขยะครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เนื่องจากประกอบด้วยภาครัฐ ภาคเอกชน และโรงเรียนที่เกี่ยวข้องถึง 7 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มผู้ให้ความรู้ 2.กลุ่มผู้ลงมือปฏิบัติการแยกขยะ 3. กลุ่มผู้รับจัดส่งวัสดุและบันทึกข้อมูล 4.กลุ่มผู้รีไซเคิล 5.กลุ่มผู้รวบรวมจัดเก็บ 6.กลุ่มเจ้าของผลิตภัณฑ์ 7.กลุ่มผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ ความร่วมมือกับ โรงเรียนในสังกัด กทม. จึงเป็นการขยายฐานกลุ่มผู้ลงมือปฏิบัติการแยกขยะให้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และเป็นก้าวสำคัญสู่การสร้างระบบนิเวศการจัดการขยะที่แข็งแกร่งและครบวงจรที่สุดในไทย ตลอดจนสร้าง เครือข่ายการเรียนรู้ด้านการจัดการขยะ (Green Learning Network) ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ   

สำหรับภาคีเครือข่ายโรงเรียนไร้ถัง เกิดขึ้นจากความมุ่งมั่นขององค์กรภาคเอกชนเข้าร่วมเป็นภาคี ประกอบด้วย  1.บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) 2.บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC 3.บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP 4.บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด (Unilever) 5.บริษัท เอส ไอ จี คอมบิบล็อค จำกัด 6.บริษัท ไทย เบเวอร์เรจ แคน จำกัด 7.บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด 8.กลุ่มอำพลฟูดส์ (AMPOLFOOD Group) 9.บริษัท สถานีรีไซเคิล วงษ์พาณิชย์สุวรรณภูมิ จำกัด 10.บริษัท อีโค่ เฟรนด์ลี่ ไทย จำกัด และ 11.วัดจากแดง  นอกจากนี้ ยังมีโรงเรียนและชุมชนที่ร่วมดำเนินการในฐานะภาคีแล้วกว่า 443 แห่ง มีแผนขยายเครือข่ายสู่โรงเรียนและชุมชนในโครงการสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี รวมกว่า 5,000 แห่งทั่วประเทศต่อไป

Stay Connected
Latest News