ทักษะด้านดิจิทัล ถือเป็นอีกหนึ่งทักษะสำคัญต่อการใช้ชีวิตในปัจจุบัน จากการที่เทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ เข้ามามีบทบาท และเข้าถึงทั้งเด็ก เยาวชน รวมทั้งประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ทำให้ผู้คนใช้เวลาและทำกิจกรรมต่างๆ ผ่านดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น
ขณะที่อีกด้านหนึ่ง การเติบโตจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ ทั้งการหลอกลวง การกลั่นแกล้ง หรือการปล่อยข่าวปลอมต่างๆ ผ่านโลกออนไลน์ก็เติบโตและมีมาในหลากหลายรูปแบบมากขึ้น จนกลายเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังในสังคมไทยปัจจุบัน
การสร้างภูมิคุ้มกันและรู้เท่าทันการใช้งานสื่อดิจิทัลต่างๆ จึงมีความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องหันมามอง โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางของสังคม การขยายโอกาส การเพิ่มช่องทางเข้าถึงองค์ความรู้ ผ่านสื่อการเรียนรู้ที่มีเนื้อหาครอบคลุม เข้าใจง่าย รวมทั้งมีความยืดหยุ่นให้สามารถเข้าถึงได้ในเวลาที่ต้องการ จะเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการสร้างทักษะด้านดิจิทัลที่จะส่งผลกระทบทั้งต่อสุขภาพกาย และสุขภาพใจของผู้คนไม่น้อยไปกว่าความฉลาดหรือการสร้างทักษะด้านอื่นๆ
“หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์” ยกระดับการศึกษาให้เท่าทันภัยไซเบอร์
AIS ในฐานะผู้นำที่มีความมุ่งมั่นต่อการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางบวกให้กับสังคมดิจิทัลของไทยมาอย่างต่อเนื่อง จึงได้เข้ามาเป็นแกนกลางในการขับเคลื่อนและสร้างภาคีเครือข่ายเพื่อเชื่อมต่อความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ในการร่วมพัฒนา “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์” เพื่อเป็นองค์ความรู้และเติมทักษะดิจิทัล ให้สังคมไทย ในรูปแบบสื่อการเรียนรู้ดิจิทัล ผ่านช่องทางการสื่อสารเพื่อให้เกิดการรับรู้และการลงมือทำไปยังสาธารณชน ซึ่งได้ทำการทดลองเสมือนจริง ในรูปแบบ Sandbox มาตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 เพื่อทดสอบทั้งผลลัพธ์ คุณภาพของเนื้อหา ช่องทางในการเข้าถึงผู้เรียน โดยมีครูและนักเรียนที่เข้าร่วมและสอบผ่านไปแล้วกว่า 160,000 คน
นำมาสู่การลงนามอย่างเป็นทางการเพื่อเปิดตัว “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์” หลักสูตรการเรียนรู้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ครั้งแรกของไทย ภายใต้การผนึกกำลังระหว่าง AIS ร่วมกับ 4 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงมหาดไทย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เพื่อร่วมกันยกระดับการเรียนการสอนในยุคดิจิทัล พร้อมสร้างภูมิคุ้มกันและรู้เท่าทันภัยไซเบอร์ ให้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตในยุคดิจิทัล ตั้งแต่เด็ก เยาวชน ไปจนถึงคนทั่วไป
โดยเป้าหมาย Next Step ที่ตั้งไว้หลังออกจาก Sandbox คือการส่งต่อองค์ความรู้ไปยังสถานศึกษากว่า 30,000 แห่งทั่วประเทศ ทั้งในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งยังเปิดโอกาสให้คนไทยทุกเพศ ทุกวัย เข้าร่วมเรียนรู้วัดระดับทักษะดิจิทัลจากหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ เพื่อยกระดับองค์ความรู้ในฐานะพลเมืองดิจิทัล (Digital Citizenship) โดยสามารถเข้าถึงได้ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล LearnDi และแอปพลิเคชัน อุ่นใจ CYBER ซึ่งเนื้อหาในหลักสูตรได้มีการออกแบบเนื้อหาที่อ้างอิงมาตรฐานตามกรอบการพัฒนาทักษะทางดิจิทัลอย่าง DQ Framework และปรับเนื้อหาให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต
คุณสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS กล่าวว่า “เป้าหมายการทำงานของ AIS ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาคุณภาพเครือข่ายให้ตอบโจทย์การใช้งานเท่านั้น แต่ตระหนักถึงการสร้างสังคมดิจิทัลให้ดีขึ้นด้วย จึงได้เปิดตัวโครงการ อุ่นใจไซเบอร์ ขึ้นในปี 2562 เพื่อเป็นแกนกลางและร่วมสร้างเครือข่ายกับทุกภาคส่วนให้เข้ามาร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสังคมดิจิทัลของไทย ทั้งในมุมของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือ เพื่อช่วยให้ใช้งานได้อย่างปลอดภัย และในมุมของการสร้างภูมิปัญญา ในลักษณะขององค์ความรู้เพื่อส่งเสริมและสร้างทักษะดิจิทัลให้คนไทยรู้เท่าทัน พร้อมอยู่กับโลกดิจิทัลได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์
“การพัฒนา “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์” ถือเป็นการตอกย้ำเจตนารมณ์ในการสร้างสังคมดิจิทัลที่มีคุณภาพให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้ความร่วมมือกับ 3 กระทรวงหลักของประเทศ ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสุขภาพจิต เป็นผู้พัฒนาเนื้อหาหลักสูตร ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่ออกแบบให้อยู่ในลักษณะของกราฟิกหรือแอนิเมชัน กระทรวงศึกษาธิการ โดย สพฐ. ช่วยรับรองให้เป็นไปตามมาตรฐานของหลักสูตรด้านการศึกษา พร้อมให้นักเรียนสามารถเข้ามาเรียนได้ ขณะที่กระทรวงมหาดไทยเข้ามาขยายผลต่อไปยังโรงเรียนในสังกัด เพื่อส่งต่อความฉลาดทางด้านดิจิทัลให้ครอบคลุมประชาชนวงกว้างของประเทศให้มากที่สุด ซึ่ง AIS จะคอยเป็นแกนกลางในการขับเคลื่อนและสนับสนุนทุกภาคส่วน ทั้งการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ การสร้างช่องทางการเพิ่มการรับรู้ไปสู่สาธารณะ และนำไปใช้งานได้อย่างเกิดประสิทธิภาพ ภายใต้การพัฒนาเครื่องมือทางเทคโนโลยี Online Learning Platform โดย AIS Academy อย่าง LearnDi เป็นแพลตฟอร์มให้ผู้ใช้งานเข้ามาเรียนรู้ได้ทั้งบนเว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน อุ่นใจ CYBER เพื่อให้ประชาชนสามารถเรียนรู้ได้อย่างสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น”
ปั้นหลักสูตร เสริมทักษะพลเมืองดิจิทัล
สำหรับเนื้อหาของ “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์” จะมีการออกแบบเนื้อหาให้เหมาะสมกับผู้เรียนในแต่ละหลักสูตรทั้งกลุ่มครู ในสังกัดกระทรวงศึกษา, กลุ่มครูและบุคลากรทางศึกษาในสังกัด อปท. กระทรวงมหาดไทย, กลุ่มนักเรียนในสังกัด อปท., กลุ่มเด็กและเยาวชน และกลุ่มประชาชนทั่วไป พร้อมทั้งมีข่าวสารอัพเดทเกี่ยวกับภัยไซเบอร์ เพื่อเพิ่มความรู้เท่าทันรูปแบบภัยไซเบอร์ในสังคม ขณะที่เนื้อหาจากแต่หลักสูตรจะเน้นสร้างความเข้าใจผ่าน 4 Professional Skill Module หรือ 4P4ป ครอบคลุมทักษะดิจิทัล ดังนี้
1. Practice : ผ่านการ ‘ปลูกฝัง’ ให้มีความรู้ ความเข้าใจในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้องและเหมาะสม
2. Personality : แนะนำการ ‘ปกป้อง’ ความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์
3. Protection : เรียนรู้การ ‘ป้องกัน’ ภัยไซเบอร์บนโลกออนไลน์
4. Participation : รู้จักการ ‘ปฏิสัมพันธ์’ ด้วยทักษะและพฤติกรรมการสื่อสารบนออนไลน์อย่างเหมาะสม
ด้านความร่วมมือจากแต่ละภาคีที่เข้าร่วม ต่างเข้ามีบทบาทในการขับเคลื่อนและร่วมพัฒนาหลักสูตรที่แตกต่างกันไป ตามความเชี่ยวชาญของแต่ละผ่าย ประกอบด้วย
กระทรวงศึกษาธิการ : รับรองมาตรฐานของหลักสูตร จากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ตามการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาสายงานสอน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งสามารถนำผลการนับชั่วโมงในหลักสูตรไปประกอบการขอมี/ เลื่อนวิทยฐานะ ตามหลักที่ ก.ค.ศ. กำหนด พร้อมส่งเสริมการเรียนรู้ของครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนจากสถานศึกษาภายใต้การกำกับของกระทรวงศึกษาธิการทั่วประเทศ ทั้ง สพฐ., สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ช.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (ก.ศ.น.)
“หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ นับเป็นอีกก้าวสำคัญของภาคการศึกษาไทยเพื่อปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัล สอดคล้องกับภารกิจของกระทรวงฯ ที่มุ่งมั่นขยายโอกาสการเข้าถึงบริการทางการศึกษา โดยเฉพาะการรับมือจากภัยไซเบอร์หลากหลายรูปแบบในทุกมิติ จำเป็นต้องเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และยกระดับความรู้ให้เท่าทันทั้งด้านดีและไม่ดี รวมถึงการเดินหน้าขยายความครอบคลุมการเรียนการสอนให้ได้มากที่สุด เพื่อทำให้บุคลากรทางการศึกษา และเยาวชนไทยมีความรู้ทักษะดิจิทัลที่เท่าทันภัยไซเบอร์ที่แฝงมากับการใช้งานอินเทอร์เน็ต รวมถึงสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นสูงสุด” คุณตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าว
กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข : จัดทำเนื้อหาหรือบทเรียนที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้สื่อออนไลน์ได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ รวมถึงการรับมือภัยบนโลกออนไลน์ เพื่อการใช้สื่อดิจิทัลเทคโนโลยีอย่างถูกต้องเหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของคนไทยและการเป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพ
“กรมสุขภาพจิต ในฐานะองค์กรหลักด้านการดูแลสุขภาพจิตของคนไทย มุ่งเน้นสนับสนุนให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพจิตของตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งการร่วมพัฒนาหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ครั้งนี้ ถือเป็นการสะท้อนนโยบายที่เป็นรูปธรรมดังกล่าว ผ่านการจัดทำเนื้อหาที่เหมาะสมกับประชาชนทุกกลุ่ม ทุกวัย ในลักษณะของการกระตุ้นเตือน แนะนำ ให้สามารถใช้ชีวิต รับมือกับความท้าทายต่างๆ ในยุคดิจิทัลได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ ” พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) : ผู้พัฒนาสื่อการสอนในรูปแบบดิจิทัล ในรูปแบบของ VDO, Motion Graphic และ Animation รวมถึงการจัดทำแบบทดสอบเพื่อวัดและประเมินผล โดย รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ กล่าวว่า “ความร่วมมือครั้งนี้ เกิดขึ้นจากความตั้งใจร่วมกันของคณาจารย์ บุคลากร ด้วยการใช้ศักยภาพของคณะครุศาสตร์ อุตสาหกรรม และเทคโนโลยี ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ ผ่านการพัฒนาสื่อการสอนในรูปแบบดิจิทัล รวมทั้งจัดทำแบบทดสอบเพื่อวัดและประเมินผลว่าผู้เรียนมีทักทักษะและเข้าใจหน้าที่พลเมืองดิจิทัลมากเพียงพอหรือไม่ โดยหวังว่าการเรียนรู้ในหลักสูตรนี้จะช่วยให้ทุกคนปรับตัวในการใช้ชีวิตในยุคดิจิทัล เป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพและใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์อย่างปลอดภัย”
กระทรวงมหาดไทย : แนวร่วมในการขยายหลักสูตรไปสู่กลุ่มครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนจากสถานศึกษา ในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีกว่า 700,000 คน โดย ดร.ทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า“นอกเหนือจากเป้าหมายในการรักษาความสงบเรียบร้อย ปลอดภัย ความมั่นคงภายในประเทศ กระทรวงมหาดไทยยังมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาเมืองและโครงสร้างพื้นฐาน หนึ่งในนั้นคือการทำให้ประชาชนใช้ชีวิตอยู่กับโลกออนไลน์ได้อย่างมีความสุขและปลอดภัย ผ่านการมีทักษะรับมือกับการใช้งานอินเทอร์เน็ตในยุคดิจิทัลได้อย่างดี”
หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ได้เริ่มเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนในระบบอย่างเป็นทางการแล้วตั้งแต่วันนี้ สำหรับประชาชนทั่วไป สามารถเรียนรู้และสร้างทักษะทางดิจิทัลของทุกท่านได้ที่ https://learndiaunjaicyber.ais.co.th/ ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย