มลพิษทางอากาศ นับเป็นวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นทั่วโลก และเป็นความเสี่ยงด้านสุขภาพอันดับต้นๆ ของโลก เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของคนนับล้านคนในแต่ละปีทั่วโลก โดยภาระด้านสุขภาพมักจะตกอยู่กับประชากรในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง
อากาศที่สะอาด ไม่ได้เป็นเพียงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังสะท้อนความเท่าเทียมและเป็นธรรมที่ทุกคนควรเข้าถึงอากาศที่สะอาดได้สำหรับการหายใจ แต่วิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นทั่วโลกยังส่งผลกระทบต่อความเหลื่อมล้ำ ซึ่งกลุ่มเปราะบางมักเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด
กรีนพีซ ได้เผยแพร่รายงาน “ความแตกต่างใต้ท้องฟ้าเดียวกัน: ความเหลื่อมล้ำจากมลพิษทางอากาศ” หลังทำการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพอากาศและสถานการณ์มลพิษจาก PM 2.5 ใน 7 ประเทศ ประกอบด้วย อินเดีย มาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ตุรกี และแอฟริกาใต้
รายงานระบุว่า มลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงหรือร่างกายอ่อนแอ ได้แก่ เด็กทารก ผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 65 ปี และหญิงตั้งครรภ์ ที่มีแนวโน้มว่าจะได้รับมลพิษสูง หรือมีความยากลำบากในการเข้าถึงข้อมูลด้านมลพิษทางอากาศเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศ
ขณะที่ผลการศึกษาในครั้งนี้ ได้ค้นพบประเด็นที่น่าสนใจ ได้แก่
– มากกว่า 99% ของประชากรในแต่ละประเทศที่ระบุไว้ในรายงาน ซึ่งคิดเป็นจำนวนมากกว่า 1 ใน 4 ของประชากรโลก ได้รับฝุ่น PM2.5 สูงเกินกว่าค่าแนะนำด้านคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลก (WHO Guideline) เพิ่มขึ้นจากในปี 2562 ที่มีสัดส่วน 90% (อ้างอิงจากผลกระทบด้านสุขภาพจากมลพิษทางอากาศ โดยมีการปรับค่ามลพิษในระดับต่ำกว่าที่เคยพิจารณามาก่อนที่ไม่เกิน 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งหากได้รับฝุ่นเป็นเวลานาน แม้จะมีความเข้มข้นของค่ามลพิษต่ำ ก็เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยด้วยโรคที่สำคัญได้)
– อินเดียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุด โดยมีสัดส่วนผู้ที่ได้รับฝุ่น PM2.5 สูงกว่า WHO Guideline กำหนดไว้กว่า 5 เท่า ถึง 95% (ความเข้มข้นมากกว่า 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ) และ 57% ที่ได้รับฝุ่น PM 2.5 สูงกว่า WHO Guideline ถึง 10 เท่า (ความเข้มข้นมากกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ) โดยเฉพาะกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูงเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมด
– ประชากรทั้ง 100% ในประเทศไทย ได้รับฝุ่น PM2.5 มากกว่าที่ WHO Guideline กำหนดไว้ แม้แต่ในจังหวัดที่มีฝุ่นน้อยที่สุดก็ตาม โดยมีถึง 44 จังหวัดทั่วประเทศ ที่มีปริมาณฝุ่น PM2.5 สูงกว่าที่ WHO Guideline กำหนดไว้ถึง 5 เท่า ซึ่งมากเป็นอันดับ 3 ของการศึกษาครั้งนี้ รองจาก อินเดีย และตุรกี
– ขณะที่เด็กทารกและผู้สูงอายุของไทย มีแนวโน้มอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความเข้มข้นของฝุ่น PM 2.5 สูงกว่า WHO Guideline กำหนดไว้ถึง 5 เท่า (ความเข้มข้นมากกว่า 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ซึ่งเด็กทารกทั้ง 100% ได้รับฝุ่น PM2.5 สูงกว่าที่ WHO Guideline กำหนดไว้
– ไม่เพียงแค่ความเสี่ยงจากการต้องเผชิญกับมลพิษเท่านั้น แต่ยังมีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมอีกด้วย โดยประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งในเกือบทุกประเทศที่ศึกษาในรายงานนี้ รวมทั้งประเทศไทย (48%) ไม่สามารถเข้าถึงสถานีวัดคุณภาพอากาศภายในรัศมี 25 กิโลเมตร โดยเฉพาะในอินเดีย ที่มากกว่า 70% ของประชากรทั้งหมดในประเทศไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศภายในระยะรัศมี 25 กิโลเมตรได้
อวินาช ชันชาล ผู้จัดการฝ่ายงานรณรงค์ กรีนพีซ อินเดีย กล่าวว่า “รายงานฉบับนี้ ทำให้เห็นว่าสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของอินเดียมีจำนวนน้อยจนน่าตกใจเมื่อพิจารณาจากขนาดของประเทศ การรายงานคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์คือขั้นตอนแรกของการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องดำเนินการจัดทำระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศที่มีประสิทธิภาพทั่วทั้งประเทศ และเผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณะแบบเรียลไทล์ควบคู่ไปกับการแนะนำด้านสุขภาพ และมีระบบการแจ้งเตือน เช่น “การแจ้งเตือนสีแดง” สำหรับวันที่มีมลพิษทางอากาศสูง เพื่อให้ประชาชนสามารถปกป้องสุขภาพของตัวเองได้ และกำหนดมาตรการให้ผู้ที่ปล่อยมลพิษลดการปล่อยมลพิษเพื่อเป็นการปกป้องสิ่งแวดล้อม”
เฉินหย่งเหริน ผู้ประสานงานรณรงค์อาวุโส ฝ่ายงานรณรงค์ด้านมลพิษทางอากาศทั่วโลก กล่าวว่า “การเข้าถึงข้อมูลด้านคุณภาพอากาศ และการเข้าถึงอากาศสะอาดคือปัญหาของความเหลื่อมล้ำ ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงคือผู้ที่ต้องการใช้ประโยชน์สูงสุดจากการเข้าถึงข้อมูลด้านคุณภาพอากาศ ซึ่งทุกคนควรมีสิทธิได้เข้าถึงอากาศสะอาดและสิ่งแวดล้อมที่ดี นโยบายของรัฐเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงอากาศสะอาดถือเป็นเรื่องเร่งด่วนและสำคัญในการรักษาสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน”
ส่วนในประเทศไทย สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของภาครัฐในไทยยังมีน้อยเมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมดของประเทศ ประชาชนในบางจังหวัดไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศได้ในระยะรัศมี 25 กิโลเมตร มีประชากรเพียงร้อยละ 26.8 เท่านั้นที่พักอาศัยอยู่ในระยะรัศมี 5 กิโลเมตร การรับรู้ข้อมูลด้านคุณภาพอากาศ ณ สถานที่และเวลาจริงจะช่วยให้ประชาชนสามารถปกป้องสุขภาพตัวเองได้ และหน่วยงานรัฐสามารถนำข้อมูลไปแก้ไขปัญหาด้านมลพิษทางอากาศได้ตรงจุดมากขึ้น
อัลลิยา เหมือนอบ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านมลพิษทางอากาศกรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า “เพื่อให้การแก้ปัญหามลพิษทางอากาศของไทยมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม รัฐบาลต้องประกาศใช้กฎหมายควบคุมการปล่อยฝุ่น PM2.5 จากปลายปล่องโรงงานอุตสาหกรรม และกฎหมายการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register หรือ PRTR) และระบุให้ฝุ่น PM2.5 อยู่ในรายชื่อสารที่ภาคอุตสาหกรรมต้องรายงานข้อมูลการปล่อยสู่สาธารณะ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง ตรวจสอบ และป้องกันสุขภาพประชาชนจากฝุ่น PM2.5 ได้”
ทั้งนี้ รายงาน “ความแตกต่างใต้ท้องฟ้าเดียวกัน: ความเหลื่อมล้ำจากมลพิษทางอากาศ” ในส่วนของประเทศไทย สามารถดูได้ที่ https://www.greenpeace.org/thailand/publication/24564/climate-airpollution-inequity-report/