การไปซูเปอร์มาร์เก็ตในญี่ปุ่นแต่ละครั้ง เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น โดยเฉพาะการซื้ออาหารสด หรือผัก ผลไม้ จะนำมาซึ่งการได้บรรจุภัณฑ์พลาสติกเป็นจำนวนมาก ทั้งจากภาชนะบรรจุสินค้า รวมถึงแร๊ปพลาสติกห่อหุ้มสินค้าแบบชิ้นต่อชิ้น ขณะเดียวกันสินค้าส่วนใหญ่มักจะมีการชั่งน้ำหนักสำเร็จไว้พร้อมขาย ทำให้บางครั้งมีการขายเกินปริมาณความต้องการผู้บริโภคในแต่ละคน นำมาซึ่งหารเกิด Food Waste จำนวนมากด้วยเช่นกัน
นำมาซึ่งการรณรงค์ให้เกิดพฤติกรรมใหม่สำหรับการซื้อสินค้าในกลุ่มโกรเซอรี่ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นกลุ่มลูกค้าประจำที่มีการกลับมาซื้อสินค้าต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการช้อปปิ้งที่ดีต่อโลก หรือ Eco-shopping เพื่อเพิ่มการเข้ามาใช้บริการที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
โดยในญี่ปุ่นมีปริมาณขยะจากภาชนะและบรรจุภัณฑ์ต่างๆ มากกว่า 60% จากขยะที่เกิดจากครัวเรือนทั้งหมด ตามรายงานจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะจากการจำหน่ายสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านรีเทลขนาดใหญ่ต่างๆ ที่มักจะมีการห่อสินค้าที่จำหน่ายแต่ละชิ้นไว้ จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำให้ปริมาณขยะพลาสติกลดลง แต่หากสามารถรณรงค์ให้มีการนำภาชนะบรรจุต่างๆ ไปใส่สินค้าเองเวลาช้อปปิ้ง จึงน่าจะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สามารถช่วยลดปัญหาจากขยะครัวเรือนได้
ร้านค้าต่างๆ ในญี่ปุ่น จึงเริ่มให้ความร่วมมือที่จะรองรับการที่ผู้บริโภคจะนำภาชนะไปบรรจุสินค้าเองมากขึ้น อาทิ สินค้าอาหารสดต่างๆ ผัก ผลไม้ รวมทั้งสินค้าอาหารที่มีการขายในรูปแบบของการชั่งน้ำหนัก ทั้งการให้ส่วนลดเพิ่มเมื่อลูกค้านำภาชนะบรรจุมาเอง หรือแม้แต่การใช้เทคโนโลยี AI มาพัฒนาเครื่องชั่งน้ำหนักเพื่อให้สามารถชั่งน้ำหนักจากสินค้าภายในภาชนะได้โดยตรง
Poco Mucho ร้านสเปเชียลตี้สโตร์ในเมืองฟุฟุโอกะ ของญี่ปุ่น เป็นหนึ่งตัวอย่าง ซึ่งร้านจำหน่ายสินค้าอาหารและของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวันมากกว่า 200 ชนิด ที่ลูกค้าสามารถซื้อได้ตามน้ำหนักที่ตัวเองต้องการ เช่น จำหน่ายถั่วพิสตาชิโอรมควัน 10 กรัม ในราคา 80 เยน หรือ ถั่วพีนัทบัตเตอร์ ราคา 55 เยน ในปริมาณที่เท่ากัน และเมื่อลูกค้านำภาชนะมาบรรจุเองก็จะได้รับส่วนลดเพิ่มขึ้นอีก 3% ทำให้มีลูกค้าเริ่มนำภาชนะมาใส่เองมากขึ้น
Motoki Yanase ผู้จัดการร้านให้ความเห็นว่า อยากให้ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการที่ร้านมีความตระหนักต่อปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมทั้งมีความพึงพอใจในการเข้ามาใช้บริการในร้านด้วย
รวมไปถึงการจัดโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นให้คนนำภาชนะบรรจุมาเองเมื่อซื้อสินค้ามากขึ้น เช่น มอบส่วนลดพิเศษให้ สำหรับลูกค้าที่ซื้อสินค้าที่ร้านและนำภาชนะเดิมมาใช้ซ้ำสำหรับการซื้อครั้งต่อไป รวมไปถึงเทรนด์ในการจัดสรรพื้นที่ในร้านให้มีมุมสำหรับขายสินค้าตามปริมาณ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอาหารต่างๆ รวมไปถึงสินค้าในชีวิตประจำวันอย่างผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นการซื้อไปตามจำนวนที่ต้องการบริโภคจริงๆ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอาหาร ที่จะช่วยลดการสร้างปัญหา Food Waste จากปริมาณอาหารที่เหลือจากการบริโภคเพราะซื้อมากกว่าความจำเป็นนั่นเอง
นอกจากนี้ ยังเห็นความพยายามในการพัฒนาเครื่องชั่งน้ำหนักสินค้า ด้วยการนำเทคโนโลยีเอไอมาร่วมพัฒนาอุปกรณ์ชั่งให้สามารถระบุน้ำหนักสินค้าที่ลูกค้าซื้อได้โดยอัตโนมัติ เพื่อรองรับเทรนด์การจับจ่ายที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ และมีแนวโน้มที่จะเติบโตกลายเป็น Major trend ของอุตสาหกรรมต่อไปในอนาคต
แต่อย่างไรก็ตาม การนำไปใช้ในกระบวนการขายยังอยู่ระหว่างการพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะปัจจุบัน ผักและผลไม้ที่มีขนาดที่แตกต่างกันยังถูกจัดให้จำหน่ายในราคาที่เหมือนกัน ตามรูปร่างสินค้าแต่ละชนิดที่มีความคล้ายคลึงกัน เมื่อการกำหนดราคาจะขึ้นอยู่กับปริมาณของน้ำหนักเท่านั้น ทำให้ยังคงขายได้แค่เฉพาะสินค้าที่ยังไม่ได้มีการคัดแยกเกรดสินค้าเท่านั้น