เกาหลีใต้โชว์แผนที่จำลองการฟื้นฟูสภาพอากาศ ชี้พื้นที่โลก 89% ​ยังเสี่ยง​ แม้จะลดก๊าซเรือนกระจกได้เท่ายุคก่อนอุตสาหกรรมก็ตาม

น่าจะเป็นผลการศึกษาที่สร้างความวิตกให้ชาวโลกได้อยู่ไม่น้อย เมื่อทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยยอนเซ ประเทศเกาหลีใต้ ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับการกู้คืนสภาพอากาศ ตีพิมพ์ผ่านวารสาร Nature Climate Change พร้อมแสดงแผนที่โลกจำลองการกู้คืนสภาพอากาศเป็นครั้งแรกของโลก

เกาหลีใต้ศึกษาเกี่ยวกับการกู้คืนสภาพอากาศ และพบว่าแม้จะลดระดับความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศลงไปจนเทียบเท่ายุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมแล้ว ก็ยังเป็นเรื่องยากที่จะทำให้สภาพภูมิอากาศกลับคืนไปสู่จุดเดิม (original state)ได้อีก
ศาสตราจารย์ An Soon-il นักวิทยาศาสตร์ด้านชั้นบรรยากาศ หัวหน้าทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยยอนเซ ได้พัฒนาแผนที่โลกจำลองเกี่ยวกับ climate recovery เป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งออกแบบถึงความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิบนพื้นผิวโลกรวมทั้งปริมาณหยดน้ำในชั้นบรรยากาศ เมื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแต่ละภูมิภาคของโลก ในช่วงเวลามากกว่าศตวรรษ
กลุ่มผู้วิจัยใช้โมเดลเพื่อจำลองระบบของโลก ตามสถานการณ์สมมติในแต่ละแบบเกี่ยวกับแนวทางที่มนุษย์จะนำมาใช้เพื่อลดการเผาผลาญคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศที่เทียบเท่าได้กับช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม
ซึ่งแม้ว่าจะสามารถลดปริมาณการปล่อย CO2 ลงได้ แต่การศึกษาพบว่า 89% ของพื้นที่โลกที่เผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิจะไม่สามารถกลับไปแก้ไขให้เป็นเหมือนเดิมได้ ขณะที่ 58% ก็ยังคงต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องของปริมาณน้ำในชั้นบรรยากาศที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นเดียวกัน
 
ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าพื้นที่ในแถบแอฟริกา และอเมริกาใต้ จะเป็นภูมิภาคที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นนี้ได้ ส่วนพื้นที่แถบอเมริกาเหนือ ยุโรป และกลุ่มเอเชียตะวันออก สถานการณ์ด้านสภาพภูมิอากาศจะสามารถดีขึ้นได้ในอนาคต
แผนที่ HotSpot แสดงพื้นที่ที่ฟื้นฟูสภาพอากาศได้น้อยที่สุด แม้จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (มหาวิทยาลัยยอนเซ)
 
หนึ่งในผู้ร่วมศึกษาอย่าง Kim Soong-ki ระบุว่า การศึกษาทำให้ค้นพบว่า แม้จะมีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงจำนวนมากในหลายภาคส่วนของโลก ก็ไม่ได้ช่วยทำให้สภาพอากาศกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้ ถึงแม้จะสามารถลบก๊าซเรือนกระจกออกจากชั้นบรรยากาศ แต่ผลกระทบต่างๆ ก็ยังคงอยู่ต่อไปในระยะยาว
 
โดยยังพบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ ระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้ว กับประเทศกำลังพัฒนา ต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของภาพอากาศ โดยมีข้อบ่งชี้ว่ากลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจะเป็นพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมาก
 
กลุ่มผู้วิจัย ได้ทำเครื่องหมาย hotspots ไว้บนพื้นที่ที่มีการคาดการณ์ว่า จะสามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศได้น้อยที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะไปตกอยู่ในพื้นที่ของประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก
 
ศาสตราจารย์ An ได้เขียนข้อเสนอแนะจากการศึกษาในครั้งนี้ว่า จำเป็นต้องกำหนดนโยบายที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น เกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะแม้ว่าจะสามารถพิชิตเป้าหมายในการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ตามเป้าหมายของข้อตกลงปารีสได้ ก็ไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่สมบูรณ์ในการแก้ไขปัญหาเรื่องของสภาพอากาศ
Stay Connected
Latest News