Pain point ที่ทำให้การแยกขยะของประชาชนไม่ถูกขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม เพราะความเชื่อว่า แม้จะแยกขยะไปแล้ว แต่สุดท้าย กทม. ก็เอาไปเทรวมกันในรถขยะอยู่ดี จึงไม่รู้จะแยกไปทำไม และส่งผลให้การรณรงค์พฤติกรรมแยกขยะของคนไทยไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
ขณะที่ต้องเสียงบประมาณ ทั้งการศึกษาและการบริการจัดการเกี่ยวกับการจัดการขยะ ในแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณจำนวนมหาศาล รวมท้ังหากสามารถแยกขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ แยกขยะเปียกที่เน่าเหม็นออกจากขยะแห้งทั่วไป ก็จะสามารถนำไปรีไซเคิลเพื่อใช้งานใหม่ได้สะดวกขึ้น ก็จะทำให้ขยะมีคุณค่าขึ้นมาทันที
เป็นที่มาของการคิกออฟโครงการ ‘ไม่เทรวม’ ของทาง กทม. เพื่อชวนคนกรุงเทพฯ ร่วมเปลี่ยนขยะเป็นทรัพย์สิน ด้วยการแยก “ขยะเศษอาหาร” ออกจาก “ขยะทั่วไป” ตามนโยบายของ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างต้นแบบการแยกขยะ ตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งสามารถลดปริมาณการเกิดขยะในภาพรวมได้ด้วย
พร้อมทั้งการเปิดตัวรถขยะแบบใหม่ที่มีพื้นที่จัดเก็บเศษอาหาร 2 ประเภท ได้แก่ รถอัดท้ายที่ต่อเติมส่วนจัดเก็บขยะเศษอาหาร และรถขยะเปิดข้างเพื่อจัดเก็บขยะเศษอาหาร เพื่อแยกขยะเศษอาหารออกจากขยะประเภทอื่น ช่วยลดปัญหาน้ำชะขยะ กลิ่นขยะระหว่างการเก็บรวบรวมและการกำจัดและใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่า โดยจะออกวิ่งรับขยะที่ไม่เทรวมนำร่องก่อนใน 3 เขตพื้นที่ ได้แก่ เขตปทุมวัน เขตพญาไท และ เขตหนองแขม ซึ่งเป็นพื้นที่ตัวแทน ทั้งเขตกลางเมือง ใกล้เมือง และไกลเมือง ซึ่งมีรูปแบบแตกต่างกันไป ทั้งชุมชน ตลาดสด และออฟฟิศ คอนโดฯ เพื่อสร้างแบบจำลองในการบริหารจัดการ หรือเป็น Prototype (ต้นแบบ) สำหรับศึกษาและประเมินผล ก่อนจะขยายผลต่อให้ครบทั้ง 47 เขต
“ถ้าแก้ปัญหาเรื่องขยะได้ จะช่วยทั้งการแก้ปัญหาก๊าซเรือนกระจก สภาพแวดล้อม ต้นทุนการจัดเก็บ และความยั่งยืนของเมือง เพราะหากแยกขยะแล้วค่าใช้จ่ายลดลง ก็จะสามารถนำเงินงบประมาณตรงนี้ไปช่วยเหลือเด็ก หรือผู้สูงอายุได้อีก ซึ่งแนวคิดการเปลี่ยนขยะเป็นทรัพย์สินมีการขับเคลื่อนกันทั่วทั้งโลกแล้ว”
ในส่วนของการดำเนินงาน จะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ โดยในช่วงแรก (ก.ย. – ต.ต. 2565) จะเริ่มนำร่อง เขตละ 1 เส้นทาง ส่วนระยะที่ 2 จะขยายเป็นทุกเส้นทางในระดับแขวง (พ.ย.-ธ.ค.2565) และระยะที่ 3 ( ม.ค. – มี.ค. 2565) จะขยายทั่วพื้นที่ทั้ง 3 เขตนำร่อง ซึ่งจะมีการติดตามประเมินผลความเหมาะสม ผลดี ผลกระทบต่องบประมาณ ความเพียงพอของทรัพยากร เตรียมความพร้อมด้านงบประมาณจัดหาวัสดุ อุปกรณ์ แลรถก็บขนมูลฝอยเฉพาะขยะเศษอาหารให้เพียงพอ และระบบการแปรรูปขยะเศษอาหารที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยให้พร้อมทั้ง 3 ศูนย์ ก่อนขยายผลไป 47 เขต
ส่วนขยะเศษอาหารที่จัดเก็บได้สำนักงานเขตรวบรวมส่งโรงงานกำจัดมูลฝอยด้วยเทคโนโลยีเชิงกล-ชีวภาพ อ่อนนุซ (Mechanical and Biological Waste Treatment : MBT) เพื่อหมักเป็นก๊าซผลิตไฟฟ้า และในปี 2566 จะเริ่ม 3 เส้นทางนำร่องและระดับแขวงในพื้นที่อีก 47 เขตที่เหลือต่อไปด้วย
ท่านผู้ว่าฯ ยังเผยถึงการทดลองนำไอเดียด้านการจัดการขยะ ที่ศึกษาจากแนวทางของหลายๆ ประเทศ เช่น การทำตะแกรงพับแบบมีฝาปิดเหมือนในญี่ปุ่น สำหรับล้อมขยะที่จุดรวบรวมรอรถขยะเพื่อกันสัตว์มากัดแทะ ทำให้ขยะเล็ดลอดออกมาได้ หรือการสร้างแรงจูงใจในการแยกขยะ เช่น การลดค่าเก็บขยะให้ผู้ที่มีการแยกขยะ หรือการมอบปุ๋ยคืนกลับไปให้ใช้ประโยชน์ หรืออาจจะเป็นการให้สติกเกอร์เพื่อชมเชยในการให้ความร่วมมือ หรือแม้แต่แนวทางเพื่อสร้างให้เกิดความร่วมมือเพิ่มขึ้น ตามนโยบาย PPP (Polluter pays principle) โดยการจ่ายค่าบริการสูงกว่าผู้ที่แยกขยะมา เพราะถือว่าสร้างมลพิษมากกว่า เป็นต้น