อำเภอศรีราชา เป็นคลัสเตอร์ในการกำจัดขยะ และรองรับขยะจากพื้นที่ต่างๆ ปริมาณขยะ สามารถแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ ซึ่งเป็นแนวทางในการกำจัดขยะ และได้พลังงานไฟฟ้ากลับมาใช้ประโยชน์
สุทรรศน์ คลังกำแหงเดช รองปลัด เทศบาลเมืองศรีราชา ริเริ่มโครงการการกำจัดขยะเพื่อความยั่งยืน โดยจับมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก และบริษัท HOBART ประเทศไทย ร่วมกันดำเนินการทดสอบ และพัฒนาการใช้เทคโนโลยีเครื่องย่อยและอบขยะในการขจัดขยะมูลฝอย โซแมท (SOMAT Pulper – Dehydrator) หรือเครื่องขจัดขยะอาหารอัจฉริยะเข้าร่วมทดสอบ โดยนำผลการดำเนินการย่อยสลายขยะไปใช้ในการพัฒนา เพื่อให้ผลต่อเนื่องในด้านเกษตรกรรมอันเป็นแนวทางกำจัดขยะอย่างยั่งยืน
โครงการดังกล่าวพร้อมจะประกาศใช้ในต้นปี2561 ซึ่งนับเป็นโครงการนำร่องเมืองต้นแบบการขจัดขยะอาหาร ณ จุดกำเนิด แห่งแรกในประเทศไทย
ก่อนหน้านั้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 บริเวณชายหาด สวนสุขภาพเทศบาลเมืองศรีราชา จังหวัดชลบุรี พบขยะจำนวนมากทับถมอยู่ตลอดแนว เป็นทางยาว 500 เมตร จนถึงสะพานข้ามไปยังเกาะลอย
นอกจากนี้ยังมีเลนโคลนสีดำจากฝั่งไหลลงไปในทะเล เป็นระยะทางเกือบ 200 เมตร ส่งผลให้สภาพน้ำแถวนั้นกลายเป็นสีดำ ส่งกลิ่นเหม็นคลุ้งไปทั่วบริเวณ จากข้อมูลพบว่าจังหวัดชลบุรี มีขยะเฉลี่ยวันละเกือบ 3,000 ตัน
ภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี จึงกำหนดแนวทางในการกำจัดขยะ ตามนโยบายกระทรวงมหาดไทย โดยกำหนดแบ่งพื้นที่ในการบริหารจัดการเป็น 4 กลุ่ม และ 1 อำเภอเกาะสีชัง คือกลุ่มที่ 1 อำเภอศรีราชา เป็นผู้รับผิดชอบ กลุ่ม 2 เมืองพัทยา กลุ่ม 3 อำเภอเมืองชลบุรี กลุ่ม 4 เทศบาลบ้านบึง และเทศบาลตำบลเกาะสีชัง
โดยเฉลี่ยแล้วในแต่ละกลุ่มมีปริมาณขยะวันละกว่า 500 ตัน ซึ่งปริมาณขยะดังกล่าวสามารถแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ ซึ่งเป็นแนวทางในการกำจัดขยะ และได้พลังงานไฟฟ้ากลับมาใช้ประโยชน์ได้
ทั้งนี้ อำเภอศรีราชา เป็นคลัสเตอร์ในการกำจัดขยะ และรองรับขยะจากพื้นที่ต่างๆ ประกอบด้วย เทศบาลนครแหลมฉบัง เทศบาลนครเจ้าพระยาสุรศักดิ์ เทศบาลตำบลบางพระ เทศบาลเมืองศรีราชา องค์การบริหารส่วนตำบลหนองขาม องค์การบริหารส่วนตำบลเขาคันทรง และองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อวิน