PwC แบ่งลักษณะโลกการทำงานในปี 2573 เป็น 4 สี และ 4 รูปแบบ เป็นผลมาจากอิทธิพล AI , Machine learning แรงงานจะปรับตัวได้ไหม
นอกจากนี้ ในรายงาน Workforce of the Future: the Competing Forces Shaping 2030 ยังคาดการณ์ว่า เทคโนโลยีจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของแต่ละภาคส่วนอย่างไร ดังนี้
1.โลกสีเหลือง (The Yellow World)
เป็นโลกที่มนุษย์มาเป็นอันดับแรก (Humans Come First) โดยความสำคัญของการอยู่ร่วมกันในสังคมจะเป็นตัวขับเคลื่อนให้ธุรกิจก้าวไปข้างหน้า ขณะที่เรื่องของจรรยาบรรณ (Ethics) และความน่าเชื่อถือจะนำหน้ากระแสเงินทุน ภาคสังคมจะมีความเป็นเอกภาพและมีความสัมพันธ์กัน ในขณะที่นักคิดค้น นักประดิษฐ์ และกลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่ๆ ที่มีเป้าหมายและทักษะจะประสบความสำเร็จโดยมีเทคโนโลยีเป็นทั้งตัวช่วยและความท้าทาย
2.โลกสีแดง (The Red World)
คือโลกที่เป็นแหล่งฟูมฟักนวัตกรรมใหม่ๆ (Innovation Rules) โดยรูปแบบในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการออกผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ จะพัฒนาไปอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่หน่วยงานกำกับดูแลจะสามารถควบคุมได้ ทำให้เป็นโลกที่การดำเนินธุรกิจเต็มไปด้วยความเสี่ยง แต่มนุษย์และนวัตกรรมจะอยู่อย่างแยกขาดกันไม่ได้ ในขณะที่เทคโนโลยีอาจกระตุ้นให้เกิดความคิดริเริ่มใหม่ๆ ทำให้สังคมเชื่อมต่อกันอย่างไร้ขีดจำกัด ภาคธุรกิจในโลกสีแดงจะแข่งกันคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ที่มีเอกลักษณ์ตลอดเวลา เพื่อตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย เรียกว่าเป็นโลกที่ทุกอย่างก้าวไปอย่างรวดเร็วแต่ก็เต็มไปด้วยความเสี่ยงรอบด้าน
3.โลกสีเขียว (The Green World)
เป็นโลกที่ภาคธุรกิจดูแลเอาใจใส่ (Companies Care) และให้ความสำคัญกับหน้าที่และความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม โดยเป้าหมายสำคัญขององค์กร คือการสร้างไว้วางใจต่อสังคม เป็นโลกที่คนต้องการทำงานกับองค์กรที่ตนมีความเชื่อ วัฒนธรรมองค์กร และค่านิยมที่ตรงกัน ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และความยั่งยืนจะถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนธุรกิจ
4.โลกสีน้ำเงิน (The Blue World)
เป็นโลกที่ระบบทุนนิยม คือ “พระเจ้า” (Corporate is King) โดยบริษัทต่างๆ จะให้ความสำคัญกับการสร้างอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ให้กับองค์กรของตนเอง โดยเชื่อว่าจะเป็นหนทางสู่การสร้างผลกำไรที่เหนือคู่แข่งทั้งเก่าและใหม่ ถือเป็นโลกที่ “ขนาด” มีอิทธิพลต่อการทำธุรกิจในทุกๆ ด้าน ในขณะที่ทาเลนต์ที่มากความสามารถจะเป็นที่ต้องการสูงของนายจ้างและจะได้รับผลตอบแทนสูงเช่นกัน ควบคู่ไปกับระบบอัตโนมัติและเอไอที่จะถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในการเพิ่มผลผลิตและคุณภาพ
จอน วิลเลียมส์ หุ้นส่วน และหัวหน้าร่วมสายงานทรัพยากรบุคคลและองค์กร บริษัท PwC โกลบอล กล่าวว่า ไม่มีใครสามารถรู้แน่ชัดได้ว่าโลกในการทำงานในปี 2573 จะเป็นอย่างไร แต่เราเชื่อว่า คงหนีไม่พ้นที่จะต้องออกมาในรูปแบบใด รูปแบบหนึ่งจากสมมุติฐานที่ตั้งไว้ ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ เอไอกับการเรียนรู้ของเครื่องจักรกล จะช่วยให้เราสามารถวางแผนเรื่องกำลังคนได้ดียิ่งขึ้น โดยองค์กรและพนักงานที่เข้าใจตรงจุดนี้ควรรีบเตรียมรับมือและวางแผนอนาคตไว้ล่วงหน้าเพื่อเดินไปสู่ความสำเร็จตั้งแต่เนิ่นๆ
“อย่างไรก็ดี ความวิตกกังวล ถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำลายความเชื่อมั่นและความพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงในประเด็นนี้ อย่างที่กล่าวไปว่าพนักงานส่วนใหญ่ยังมีความเป็นห่วงว่า ระบบอัตโนมัติจะเข้ามาแย่งงานของตนในอนาคตจริงหรือไม่ ซึ่งตรงนี้ทุกฝ่ายควรเริ่มหันมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างจริงจัง เพื่อเข้าใจภาพรวมของผลกระทบจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี รวมทั้งเตรียมความพร้อม และเพิ่มทักษะที่จะเป็นประโยชน์ให้กับตัวเองและองค์กรเพื่อเป็นการเปลี่ยนถ่ายไปสู่การทำงานในอนาคต และต้องไม่ประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนี้ต่ำเกินไป”
ภิรตา ภักดีสัตยพงศ์ หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันองค์กรและบุคลากรของไทยยังไม่มีความตื่นตัวเกี่ยวกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่จะเข้ามากระทบการทำงานของพวกเขาดีพอ โดยองค์กรส่วนใหญ่ยังไม่มีการลงทุนด้านเทคโนโลยี เพราะอาจมองว่าไม่ใช่ทางออกในการแก้ปัญหาด้านต้นทุน
อย่างไรก็ดี มีองค์กรขนาดใหญ่บางแห่งที่เริ่มตื่นตัวและนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการแก้ปัญหาด้านการบริหารจัดการบุคลากร เช่น การนำเอาระบบอัตโนมัติ หรือ ออโตเมชั่น มาทดแทนงานบางประเภทที่ต้องทำซ้ำๆ หรืองานที่มีอัตราการลาออกของพนักงานสูง นอกจากนี้ ยังมีการทดลองนำเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติมาใช้เพื่อช่วยสอนทักษะบางอย่างให้แก่พนักงานใหม่ด้วย
“ในอีก 10 ปีข้างหน้า นวัตกรรมจะเข้ามามีบทบาทกับภาคธุรกิจไทยมากขึ้นอย่างแน่นอน เนื่องจากต้นทุนด้านเทคโนโลยีจะถูกกว่าปัจจุบันมาก เช่นเดียวกับกฎระเบียบต่างๆ ของภาครัฐที่จะถูกปรับให้เอื้อกับพัฒนาการของนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น องค์กรและบุคลากรของไทยจำเป็นจะต้องเตรียมความพร้อม โดยผู้นำองค์กรต้องเริ่มศึกษาและนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับธุรกิจและกระบวนการทำงานภายในองค์กร ขณะที่บุคลากรไทยจำเป็นจะต้องพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล เช่น ทักษะในการคิดวิเคราะห์ หรือ Analytical skills อย่างไรก็ดี ยังมองว่า การบริหารจัดการงานที่ซับซ้อน หรืองานที่ต้องการการตัดสินใจเชิงลึกจะยังคงเป็นงานที่ต้องใช้มนุษย์เป็นหัวใจสำคัญ”