บริจาคมือถือเก่าไป ชีวิตใหม่มา[PR.NEWS]

มือถือเก่าที่ใช้แล้ว 1 เครื่องนั้นสามารถช่วยโลกได้แค่ไหน รู้แล้วคุณจะอึ้ง! มือถือ 1 เครื่องเมื่อแยกชิ้นส่วนและนำไปรีไซเคิลแล้ว สามารถช่วยชีวิตต้นไม้ใหญ่ได้ 5 ต้น ช่วยลดการขุดเจาะระเบิดดินเปลือกโลกได้ 500 ตัน และที่สำคัญช่วยผู้ป่วยยากไร้ได้ 7 คนหรือเป็นอาหารสำหรับเด็กยากไร้หนึ่งมื้อได้ 20 คน

ข้อความดังกล่าวเป็นเนื้อหาที่รณรงค์เรื่องการกำจัดขยะอิเลคทรอนิคส์ ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษ กรมควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมป่าไม้ ภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ฝ่ายวิชาการ) ร่วมกันทำโครงการ “มือถือเก่าไป ชีวิตใหม่มา” และได้รับความร่วมมือจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด และหน่วยงานอื่นๆอีกหลายหน่วยงาน โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณการจัดการจากบริษัท บางกอก รีไซเคิล แอนด์ รียูส จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจด้านการจัดการรีไซเคิลชั้นนำของประเทศไทย

“มือถือเก่า”ที่ไม่ใช้แล้ว ถือเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ประเภทหนึ่งที่พบเห็นทั่วไปตามครัวเรือนและอาคารสำนักงาน ซึ่งตามสถิติพบว่าเฉพาะที่ตกค้างตามครัวเรือนทั่วประเทศมีมากกว่า 200 ล้านเครื่อง โดยตลอดเวลาที่ผ่านมา 10 ปี หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ดำเนินธุรกิจด้านการให้บริการเครือข่ายสัญญาณได้มีแผนงานต่างๆในการรวบรวมมือถือเก่าเหล่านี้ไปรีไซเคิลแต่สามารถรวบรวมได้เพียง 20 ล้านเครื่องเท่านั้น แต่ในข้อเท็จจริงยังคงมีเครื่องใหม่สะสมอย่างต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลาไม่น้อยกว่า 15 ล้านเครื่องต่อปี

จึงเกิดเป็นโครงการ “มือถือเก่าไป ชีวิตใหม่มา” เป็นการรณรงค์ให้นำมือถือเก่าที่ไม่ใช้แล้วมาบริจาค โดยมีวางจุดรับบริจาคตามสถานที่ราชการกว่า 5 หมื่นจุดทั่ว กำหนดระยะเวลาโครงการฯ1 พ.ย. – 10 ธ.ค. 60 ซึ่งมียอดผู้บริจาคประมาณ 1.7 เครื่องทั่วประเทศ

มือถือเก่า ทุกรุ่น ทุกยี่ห้อ ที่ได้รับบริจาคมาทางไปรษณีย์

สายฝน อภิธนัง หัวหน้าส่วนประชาสัมพันธ์โครงการฯ กล่าวถึงขั้นตอนในการบริหารจัดการกับมือถือที่ได้รับบริจาคเหล่านี้ ซึ่งเรียกว่า “ขยะอิเลคทรอนิคส์”

“ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายในการรีไซเคิลขยะอิเลคทรอนิคส์เหล่านี้ เราจึงต้องนำมือถือที่ได้รับบริจาคทั้งหมดส่งไปที่นิคมอุตสาหกรรมคัดแยกขยะอิเลคทรนิกส์ ที่มณฑลซัวเถา ประเทศจีน ซึ่งใหญ่ที่สุดในโลกในขณะนี้”

สายฝน อภิธนัง หัวหน้าส่วนประชาสัมพันธ์โครงการฯ

สายฝนให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มือถือ 1 เครื่อง มีสารพิษอาทิ ตะกั่ว ปรอท คลอรีน แคทเมี่ยมและโบรมีน ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย สำหรับมือถือที่บริจาค 1.7 ล้านเครื่องเมื่อนำไปแยกชิ้นส่วนรีไซเคิลแล้วจะได้ แพลตตินั่ม 63 ตัน ทองคำ 23 กิโลกรัม ยาง 17 ตัน เซรามิค 14 ตัน ทองแดง 13 ตัน คิดเป็นเงินหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว 3,632,000 บาท


เงินบริจาคของโครงการมอบให้แก่องค์กรกุศล 4 แห่งคือ มูลนิธิรามาธิบดี เพื่อสมทบทุนสร้างอาคารสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ,ศิริราชมูลนิธิ เพื่อสมทบทุนสร้างอาคารนวมิทรบพิตร 84 พรรษา , กลุ่มพหุชนคนอาสา(The CAP) และ มูลนิธิเดอะวอยซ์(เสียงจากเรา) ช่วยให้ชีวิตใหม่มา

อย่างไรก็ตามจำนวนมือถือเก่าก็ยังค้างอยู่ในครัวเรือนอีกเป็นจำนวนมาก โครงการนี้จึงเดินหน้ารณรงค์ในเฟสที่ 2 โดยใช้ระยะเวลา 15 ธ.ค. 60 – 31 ม.ค. 61โดยครั้งนี้จะมีพันธมิตรเข้ามาช่วยรณรงค์เพิ่มมากขึ้น คาดว่าจะได้รับบริจาคโทรศัพท์มือถือเก่าจากประชาชนทั่วประเทศจำนวน 9,999,999 เครื่อง และสามารถส่งมอบรายได้จากการรีไซเคิลให้องค์กรการกุศลทั่วประเทศได้ จำนวนไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท

Stay Connected
Latest News