ตลอดเส้นทาง 12 ปี ที่ผ่านมา เรื่องราวการเติบโตและความสามารถในการสร้างการยอมรับระดับโลกของกาแฟชนเผ่า ‘อาข่า อ่ามา’ เป็นหนึ่งในบทพิสูจน์ถึงความสำเร็จในการสร้างแบรนด์ รวมทั้งโมเดลขับเคลื่อนธุรกิจในรูปแบบ Socially Empowered Enterprise ว่าสามารถสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริง
ซึ่งน่าสนใจว่าจากนี้ คุณลี อายุ จือปา ผู้ก่อต้ังแบรนด์กาแฟ อาข่า อ่ามา ให้ได้รับการยอมรับไปทั่วโลกนั้น มีเป้าหมายหรือทิศทางในการขับเคลื่อนแบรนด์ต่อไปจากนี้อย่างไร
ปัจจุบัน ‘อาข่า อ่ามา’ ไม่เป็นเพียงที่รู้จักและยอมรับในประเทศไทยเท่านั้น แต่มีออเดอร์กาแฟมาจากทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็นยุโรป อเมริกา ตะวันออกกลาง รวมทั้งในเอเชีย โดยเฉพาะในญี่ปุ่นที่เมืองใหญ่อย่างโตเกียว มีสาขาร้านกาแฟ ‘อาข่า อ่ามา’ เปิดให้บริการมาถึง 2 ปีแล้ว ซึ่งคุณลีให้ข้อมูลว่า ตอนนี้สาขาในญี่ปุ่น มีความแข็งแรงและสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองแล้วเช่นกัน ซึ่งกำลังจะสร้างโรงคั่วเพิ่มเติมเพื่อช่วยลดต้นทุนในการขนส่งที่ค่อนข้างแพง รวมทั้งมองหาโอกาสในการขยายการสร้างโรงคั่วในยุโรปต่อไป
เมื่อฟังแผนการขยายธุรกิจจากผู้ก่อตั้ง เราอาจจะมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่คนทำธุรกิจต้องอยากเห็นธุรกิจเติบโต ขยายตลาดได้ทั่วโลก แต่สิ่งที่คุณลีคิดนั้น มีมากกว่าแค่มิติในเชิงธุรกิจ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นจากการขยายธุรกิจไปในต่างประเทศ หรือการที่ธุรกิจเติบโตขึ้นเรื่อยๆ นั้น สิ่งสำคัญที่ตามมานอกเหนือจากรายได้ หรือการเพิ่มช่องทางในการช่วยเหลือเกษตรกรได้มากขึ้น คือ การสร้างแรงบันดาลใจ หรือต้นแบบให้กับเกษตรกรภายในชุมชนกล้าที่ขับเคลื่อนความฝันของตัวเอง
สร้าง Agripreneur และ Social Impact
“Master Goal ในการทำธุรกิจของผม มีเรื่องเดียวตั้งแต่เริ่มทำธุรกิจ คือ การอยากให้พี่น้องในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตัวเองได้ การที่ผมซึ่งมีต้นทุนไม่แตกต่างจากทุกคนสามารถประสบความสำเร็จได้ ก็น่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้พี่น้องเกษตรกรในชุมชนได้อีกทางหนึ่ง ช่วยสร้างความเชื่อมั่นว่าทุกคนสามารถสร้างแบรนด์ของตัวเอง สามารถพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นได้ไม่แตกต่างกัน ผมไม่ได้มองเรื่องการเติบโตระดับโลก หรือการขยายสาขามากๆ ไม่ได้โฟกัสแค่ในมิติของการแข่งขันทางธุรกิจ เพราะถ้าทำอย่างนั้นผมรู้สึกว่ามันเหนื่อยเกินไป”
คุณลี เล่าให้ฟังว่า หลงรักโมเมนต์ในการลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาของเกษตรกรในชุมชน เพื่อมาทำการบ้านต่อด้วยการหาโซลูชันส์เพื่อสามารถแก้ปัญหาที่คนในชุมชนกำลังเผชิญอยู่ ทำให้ทุกๆ การขับเคลื่อน หรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ไม่ได้มาจากการมองเห็นโอกาสทางการตลาดเหมือนธุรกิจทั่วไป แต่มาจากความต้องการแก้ปัญหาให้ชุมชนเป็นหลัก เช่น เมื่อมีปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาด ก็มาดูว่าสามารถนำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ในร้านได้บ้างหรือไม่ เช่น การทำน้ำผึ้งดอกกาแฟ ชาดอกกาแฟ ในช่วงที่เกษตรกรยังไม่สามารถสร้างรายได้จากกาแฟได้ เพื่อเพิ่มช่องทางเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้เกษตรกร การขยายธุรกิจหรือโปรดักต์ใหม่ๆ หรือการสร้างกำลังใจ สร้างแรงบันดาลใจให้เกษตรกร ด้วยการทำ Coffee of The Month ด้วยการคัดเลือกเกษตร เดือนละ 3 คน เพื่อนำหน้าของเกษตรกรมาพิมพ์ไว้ที่ซองกาแฟ เพื่อสร้างความภาาคภูมิใจให้แต่ละคน พร้อมช่วยกระตุ้นให้แต่ละคนอยากสร้างแบรนด์ของตัวเอง
“เราอยากให้เกษตรกรในเครือข่าย สามารถเติบโตไปเป็น Agripreneur ที่ไม่ใช่แค่เกษตรกรที่ทำการเกษตรเป็น แต่ต้องรู้จักประเมินวิเคราะห์การตลาด เข้าใจเรื่องของสินค้า รสชาติ คิดเรื่องกำไรขาดทุนได้ โดยเราจะเป็นผู้คอยสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง เพื่อตอกย้ำความเป็น Socially Empowered Enterprise ตามความตั้งใจตั้งแต่วันแรกที่ตัดสินใจกลับมาพัฒนาชุมชน การได้พูดคุยรับฟังปัญหาของเกษตรกร ยังช่วยให้เราได้ทบทวนตัวเองอยู่เสมอว่าเราเลือกมาทำสิ่งนี้เพราะอะไร เราอยากสร้างแรงบันดาลใจมากกว่าเม็ดเงิน เมื่อเรามีเม็ดเงินเพียงพอให้สามารถขับเคลื่อนให้ธุรกิจไปต่อได้แล้ว ส่ิงที่เราอยากทำจากนี้ไม่ใช่การทำให้เงินงอกเงยเพิ่ม หรือทำให้ธุรกิจใหญ่โต แต่ต้องการช่วยสร้าง Social Impact ช่วยพัฒนาสิ่งที่สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคมได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น”
เคล็ดลับขับเคลื่อนโมเดล Social Enterprise
คุณลี ยังได้ให้เคล็ดลับในการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสังคมให้เติบโต ต้องมาจากความอดทน และมีวินัย เพราะในแต่ละวันจะมีปัญหาเข้ามาท้าทายให้ต้องแก้ไขอยู่เสมอ แม้จะมี Passion แต่หากไม่อดทน ไม่มีวินัย แม้จะมี Passion ก็คงไม่สามารถนำมาซึ่ง Action อย่างต่อเนื่องได้
“ทุกวันนี้ Social Enterprise ในประเทศมีอัตรารอดต่ำที่ราวๆ 5% เพราะปัญหาหลักของคนทำธุรกิจเพื่อสังคม แม้จะมี DNA ที่ชอบช่วยเหลือสังคม แต่ต้องอาศัยความอดทนด้วย อดทนต่อความไม่เข้าใจ หรืออคติต่างๆ ในช่วงเริ่มธุรกิจ รวมทั้งต้องมีวินัย ทั้งวินัยในเรื่องของการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง วินัยในเรื่องของการใช้ทุนทรัพย์อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญต้องตีโจทย์เรื่องของโปรดักต์ให้แตก ต้องทำให้คนสามารถซื้อซ้ำได้ เพราะบางครั้งคนอาจจะเริ่มต้นสนับสนุนธุรกิจด้วยหลายๆ เหตุผล แต่ถ้าสินค้าได้รับการยอมรรับในคุณภาพ ก็จะสามารถสร้างรายได้ต่อเนื่อง เพราะได้ทั้งคุณภาพ และสร้างคุณค่าไปพร้อมกัน ทำให้สามารถสร้างความยั่งยืนได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องขอทุนสนับสนุนอยู่ตลอดเวลา”
ขณะเดียวกัน ต้องมีแผนในการพัฒนาที่จับต้องได้ ทั้งความหลากหลายของสินค้า หรือโอกาสในการเติบโต ซึ่ง อาข่า อ่ามา ก็มีทั้งน้ำพลัม ชาดอกกาแฟ น้ำผึ้งดอกกาแฟ หรือการเพิ่มเมนูสูตรใหม่ๆ จากการรับซื้อผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรในชุมชนมาต่อยอด เช่นเดียวกับการขยายธุรกิจในต่างประเทศ ที่นอกจากการขยายโรงคั่วในญี่ปุ่นแล้ว ก็อยากจะขยายต่อไปในยุโรป เพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมการดื่มกาแฟในแต่ละพื้นที่ของโลกที่แตกต่างกันไป เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ ทั้งสายพันธุ์กาแฟ รวมทั้งการเพิ่มโอกาสในการช่วยเหลือเกษตรกรได้มากขึ้น โดยเฉพาะการสร้างฝันและส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับผู้คนในวงกว้างได้มากยิ่งขึ้น