สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เผยผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2565 หรือ Thailand Internet User Behavior 2022 ในงาน IUB 2022: WHAT’S NEXT INSIGHT AND TREND เจาะลึกไลฟ์สไตล์คนไทย ในวันที่ขาดอินเทอร์เน็ตไม่ได้ พบว่า ภาพรวมคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 7 ชั่วโมง 4 นาที ซึ่งลดลงจากปีก่อนหน้าที่มีการใช้งานเฉลี่ยต่อวัน 10 ชั่วโมง 36 นาที
การสำรวจครั้งนี้ ได้ทำการสอบถามผ่านออนไลน์ จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 46,348 ราย ทั่วประเทศ กระจายตาม อายุ และจังหวัดในแต่ละภูมิภาค ตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงกรกฎาคม 2565 ซึ่งพบผลสำรวจที่น่าสนใจในหลายมิติ โดย ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA เปิดเผยว่า กลุ่มผู้ใช้งาน Gen Y ซึ่งอยู่ในวัยทำงาน อายุตั้งแต่ 22 ปีขึ้นไป เป็นกลุ่มที่ใช้งานอินเตอร์เน็ตเฉลี่ยในแต่ละวันสูงสุด ด้วยระยะเวลาใช้งาน 8 ชั่วโมง 55 นาที จากปีก่อนหน้าที่กลุ่ม Gen Z ซึ่งเป็นกลุ่มนักเรียน นักศึกษาจะเป็นกลุ่มใช้งานสูงสุด เนื่องจาก เริ่มมีการปรับรูปแบบการเรียนการสอนจากการเรียนออนไลน์ในสถานการณ์โควิด -19 แพร่ระบาด กลับมาสู่การเรียนแบบออนไซต์ ทำให้จำนวนชั่วโมงการใช้งานของกลุ่ม Gen Z ลดลง ประกอบกับการใช้งานในภาพรวมที่ลดลงเช่นเดียวกัน ตามการปรับเปลี่ยนลดนโยบาย Work From Home และการเรียนออนไลน์ ลงเมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายลง
นอกจากนี้ ยังพบว่ากิจกรรมออนไลน์ที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ได้แก่ กิจกรรมการติดต่อสื่อสารออนไลน์ กิจกรรมออนไลน์เพื่อความบันเทิง อย่าง การดูหนัง ฟังเพลง, กิจกรรรมการซื้อขายของออนไลน์, การทำธุรกรรมทางการเงิน และ การอ่านข่าว โพสบทความ หนังสือ
ส่วนกิจกรรมออนไลน์ที่มีแนวโน้มลดลงและอาจหายไปในอนาคต ได้แก่ การค้นหาข้อมูล search engine, การรับส่ง อีเมล เนื่องจาก ผู้คนมักค้นหาข้อมูลและรับส่งข้อมูล ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียมากขึ้น เช่นเดียวกับ กิจกรรมการดาวน์โหลดซอฟแวร์ เพลง ละคร เกม เพื่อเก็บไว้ดูย้อนหลัง ในอนาคตก็อาจไม่มีอีกแล้ว เพราะถูกแทนที่โดย Streaming ที่สามารถชมได้แบบ Real time และย้อนหลังได้ผ่านแพลตฟอร์มนั้น ๆ
สำหรับอาชีพที่มีการใช้งานอินเตอร์เน็ตสูงสุดในการสำรวจปีนี้ พบว่า ข้าราชการ/เจ้าหน้าที่รัฐ ติดอันดับ 1 ในกลุ่มอาชีพที่มีการใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุด ด้วยระยะเวลาใช้งาน 11 ชั่วโมง 37 นาที สะท้อนให้เห็นถึงความสนใจ รวมถึงความพร้อมของบุคลากรภาครัฐ ในการยกระดับการทำงานสู่ยุคดิจิทัล ด้วยการทำงานแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Office มากขึ้น รองลงมาคือ นักเรียน/นักศึกษา 8 ชั่วโมง 57 นาที ฟรีแลนซ์ 7 ชั่วโมง 40 นาที เจ้าของกิจการ ธุรกิจส่วนตัว 7 ชั่วโมง 29 นาที และพนักงาน/ลูกจ้างเอกชน 7 ชั่วโมง 6 นาที เป็นต้น
ขณะที่ 10 กิจกรรมออนไลน์ยอดฮิตขวัญใจสังคมออนไลน์คือ คนไทยนิยมใช้เน็ตเพื่อปรึกษาและรับบริการทางการแพทย์ (จองคิว,ปรึกษาแพทย์) มากที่สุด 86.16% อาจเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงทำให้คนสนใจและหันมาจองคิวรับวัคซีน ตรวจหาเชื้อ และปรึกษาแพทย์ผ่านทางออนไลน์มากขึ้น หรือเพื่อลดเวลาที่ต้องใช้ในโรงพยาบาลเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 รองลงมา คือ เพื่อติดต่อสื่อสาร 65.70% ดูรายการโทรทัศน์/คลิป/ ดูหนัง/ฟังเพลง 41.51% ดูถ่ายทอดสดเพื่อซื้อสินค้าและบริการ (Live Commerce) 34.10% ทำธุรกรรมทางการเงิน 31.29% อ่านโพสต์/ข่าว/บทความ/หนังสือออนไลน์ 29.51% รับ–ส่งอีเมล 26.62% ช้อปปิ้งออนไลน์ 24.55% ทำงาน/ประชุมออนไลน์ 20.67% และเล่นเกมออนไลน์ 18.75% ตามลำดับ
“จากนโยบายการขับเคลื่อนสู่ E-Government ส่งผลให้หลายหน่วยงานของภาครัฐมีการทำ Digital Transformation ประกอบกับการมีข้อบังคับทางกฏหมายให้หน่วยงานรัฐต้องมีช่องทางดิจิทัลเพื่อให้บริการและเป็นช่องทางให้ประชาชนสามารถติดต่อประสานงานได้อย่างสะดวก ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐ และข้าราชการต้องมีการปรับตัวและเรียนรู้การนำเครื่องมืออินเตอร์เน็ตและแพลตฟอร์มดิจิทัลมาใช้ในกระบวนการทำงานต่างๆ เพิ่มมากขึ้น”
โจทย์ใหญ่ ‘สร้างสมดุล’ ธุรกิจแพลตฟอร์ม และความรับผิดชอบต่อสังคม
ดร.ชัยชนะ ยังได้แสดงความเป็นกังวลต่อผลกระทบต่อเนื่องจากการใช้งานอินเตอร์เน็ตของกลุ่ม Gen Z จากการปรับพฤติกรรม New Normal ในการเรียนออนไลน์ช่วงสถานการณ์โรคระบาด ที่แม้ปัจจุบันจะเริ่มมีการกลับไปเรียนออนไซต์แล้ว แต่หลายคนยังมีพฤติกรรมการติดมือถือ ติดเกม ติดอินเตอร์เน็ตมากขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งเรื่องที่สังคมไทยและหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการกำกับดูแลควรตระหนักถึงประเด็นเหล่านี้ เพื่อหาจุดสมดุลในการส่งเสริมเจ้าของแพลตฟอร์มต่างๆ ยังคงสามารถเติบโต และสร้าง Engagement กับกลุ่มผู้ใช้งาน โดยไม่ได้คำนึงถึงแค่ผลพลอยได้ทางธุรกิจเพื่อให้คนอยู่บนแพลตฟอร์มนานๆ เพียงอย่างเดียว แต่ต้องมี Social Responsibility ที่คำนึงถึงผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดกับผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ต ซึ่งถือเป็นโจทย์สำคัญที่ทุกฝ่ายจำเป็นต้องหันมาหาทางออกร่วมกัน เพราะหากบังคับมากเกินไป อาจทำให้แพลตฟอร์มต่างๆ ไม่สามารถทำธุรกิจได้เลย แต่หากหละหลวมก็จะกลายเป็นปัญหาสังคมที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่น่าจับตา คือ การเติบโตอย่างมากของ Live Commerce ซึ่งแม้ว่าจะเริ่มสำรวจในปีนี้เป็นปีแรก แต่กลับติด TOP 5 กิจกรรมออนไลน์ยอดฮิตที่คนไทยทำมากที่สุด สะท้อนให้เห็นว่า Live Commerce เป็นอีก 1 กิจกรรมที่น่าจับตาว่าเป็นสิ่งที่คนไทยให้ความนิยมมากขึ้น โดยกลุ่มคนที่เข้าชมมากที่สุด คือ Gen Y รับชมมากที่สุดถึง 64.65% และเพศหญิงรับชมมากกว่าเพศชาย นี่จึงทำให้ Gen Y ครองแชมป์ “นักช้อปออนไลน์” (88.36%) รองลงมาคือ Gen X ( 84.55 %) Gen Z (81.53%) Baby Boomers (74.04%) และ Gen Builders ซึ่งมีอายุ 70 ปี ขึ้นไป (52.30%)
ทั้งนี้ เหตุผลที่ซื้อสินค้าออนไลน์ ส่วนใหญ่เลือกซื้อเพราะราคาถูก 63.10% ความหลากหลายของสินค้า 58.73% แพลตฟอร์มใช้งานง่าย 45.81% การจัดโปรโมชัน เช่น 11.11, 12.12, Flash Sale ที่ 44.39% และค่าจัดส่งถูกหรือฟรี 34.10% โดยช่องทางที่คนไทยเลือกซื้อออนไลน์มากที่สุด คือ e-Marketplace (เช่น Shopee, Lazada, Kaidee) 75.99% รองลงมาคือ Facebook 61.51% Website 39.7% LINE 31.04% Instagram 12.95% และ Twitter 3.81%
นอกจากประเด็น พฤติกรรมการซื้อขายของออนไลน์แล้ว ผลสำรวจปีนี้ ยังพบว่า Gen Y และ Gen Z มีแนวโน้มมุ่งสู่การเป็น Content Creator มากกว่า Gen อื่นๆ เนื่องจากเป็น Gen ที่นิยมสร้าง Online Content มากที่สุด โดยประเภท Content ที่นิยมสร้างมากที่สุด คือ วิดีโอ/คลิป 49.85% เขียนบทความ/คอนเทนต์/เว็บไซต์ 41.79% ถ่ายทอดสด (Live) 36.77% สตรีมมิงเกม/สตรีมมิงอื่น ๆ 11.86% จัดรายการวิทยุออนไลน์ 10.32% และจัดรายการพอดแคสต์ 8.98%