มุมมองของ EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ ต่อธุรกิจแบตเตอรี่สำหรับรถ EV ที่มีแนวโน้มการขยายตัวตามการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นอุตสาหกรรม S-Curve ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต แต่ยังมีความท้าทายที่ต้องเผชิญ คือ ปัญหา “Greenflation” ที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และแร่ธาตุต่างๆ เพิ่มสูงขึ้นจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคม Net Zero
ทั้งนี้ Bloomberg คาดการณ์ว่าความต้องการแบตเตอรี่สำหรับรถ EV ทั่วโลกมีแนวโน้มเติบโตสูงถึง 26% ต่อปี (ระหว่างปี 2022-2030) ขณะที่ในประเทศไทย ปัจจุบันมีโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนระดับ Gigafactory แห่งแรกในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กำลังการผลิตสูงถึง 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ซึ่งนอกจากจะเสริมศักยภาพการเติบโตของรถ EV แล้ว ยังช่วยลดภาวะโลกร้อนและสนับสนุนความยั่งยืน
EIC มองว่าปัจจัยหลักที่จะสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจแบตเตอรี่ในประเทศ ได้แก่
1) การเติบโตของยอดขายรถ EV ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐได้ออกนโยบายส่งเสริมการใช้รถ EV เช่น การอุดหนุนราคา การลดภาษีนำเข้า และลดภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2% อีกทั้ง สถานการณ์ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูงและมีความผันผวน จะเป็นแรงจูงใจให้คนหันมาซื้อรถ EV มากขึ้น โดย EIC คาดว่ายอดขายรถ EV ของไทยจะขยายตัวปีละ 17.6% (ระหว่างปี 2022-2030)
2) กระแสรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งรถ EV สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนตั้งแต่กระบวนการผลิตรถยนต์ไปจนถึงขั้นตอนการขับขี่ ทั้งนี้จากข้อมูลของสถาบันยานยนต์ การใช้รถ EV ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ถึง 64% เมื่อเทียบกับรถยนต์สันดาปภายใน
3) การสนับสนุนธุรกิจแบตเตอรี่ เช่น BOI ได้ขยายนโยบายลดภาษีนำเข้าชิ้นส่วนและวัตถุดิบที่ใช้ผลิตแบตเตอรี่ จาก 2 ปี เป็น 5 ปี และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ซึ่งหากตั้งอยู่ในพื้นที่ EEC จะได้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้ 50% เพิ่มอีก 5 ปี ทำให้บริษัทที่อยู่ในธุรกิจแบตเตอรี่มีความต้องการขยายกำลังการผลิตเพิ่มมากขึ้น
“Greenflation” ความท้าทายต่อการเติบโต
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าจับตามองของธุรกิจแบตเตอรี่ในระยะสั้น คือ ปัญหา “Greenflation” ที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และแร่ธาตุต่างๆ เพิ่มสูงขึ้นจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคม Net Zero ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตแบตเตอรี่สูงขึ้น เช่น ราคาลิเธียมไฮดรอกไซด์ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่ ณ สิ้นปี 2021 ขยายตัวสูงถึง 311% YOY มาอยู่ที่ 32,650 ดอลลาร์สหรัฐ/เมตริกตัน เทียบกับราคาเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง (ปี 2016-2020) อยู่ที่ราว 15,130 ดอลลาร์สหรัฐ/เมตริกตัน เท่านั้น
ทั้งนี้ สาเหตุมาจากความต้องการใช้แบตเตอรี่เพิ่มสูงขึ้นตามการเติบโตของยอดขายรถยนต์ EV ในขณะที่อุปทานมีปัญหาขาดแคลนแร่ลิเธียม จากการขาดการลงทุนในเหมืองลิเธียมทำให้การผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ รวมไปถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้เหมืองลิเธียมบางแห่งในยูเครนต้องหยุดการผลิต ส่วนรัสเซียไม่สามารถส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์จากการคว่ำบาตรจึงเป็นอีกปัจจัยที่สนับสนุนให้ราคาพลังงาน และแร่ธาตุต่าง ๆ ทะยานสูงขึ้น
สอดคล้องกับ Bloomberg ที่ประเมินว่าในปี 2022 อุปสงค์และอุปทานของลิเธียมไฮดรอกไซด์ทั่วโลกจะอยู่ที่ 771,365 และ 437,558 เมตริกตัน ตามลำดับ ส่งผลให้ตลาดขาดแคลนลิเธียมไฮดรอกไซด์ราว 333,807 เมตริกตัน ซึ่งในปัจจุบันมีการวิจัยเพื่อหาวัตถุดิบอื่น ๆ มาแทน ลิเธียมไอออน เช่น โซเดียมไอออน
ปัญหาดังกล่าวในประเทศไทยถือเป็นความท้าทายสำคัญ เนื่องจากยังต้องนำเข้าวัตถุดิบสำคัญ เช่น แร่ลิเธียม นิกเกิล ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุน ทั้งนี้ ผู้ผลิตแบตเตอรี่ในไทยส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตขั้วตั้งต้น ผลิตส่วนประกอบ และประกอบชิ้นส่วนแบตเตอรี่ ซึ่งอยู่ใน value chain กลางน้ำ หากผู้ประกอบการแบตเตอรี่สามารถทำ Backward integration โดยเข้าร่วมลงทุนหรือเป็นพันธมิตรกับบริษัทผลิตแร่ หรือทำ R&D ขั้วแคโทด/ขั้วแอโนด/สารละลายอิเล็กโทรไลต์ เพื่อลดการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น รวมถึงลดปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตแบตเตอรี่ที่จะมีความต้องการสูงในอนาคต