ผู้บริโภคมองปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใกล้ตัว กว่า 2 ใน 3 พร้อมจ่ายให้สินค้า Eco-friendly ที่แพงกว่าไม่เกิน 20%

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ผู้บริโภคในปัจจุบันต่างรู้สึกว่าตัวเองได้รับผลกระทบจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันไป และมองว่าปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องใกล้ตัว จึงเริ่มมีความตระหนัก และพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในวิถีชีวิตประจำวัน เพื่อช่วยลดผลกระทบและความรุนแรงของปัญหา

โดยผู้บริโภค 72.6% มองว่าตัวเองได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมค่อนข้างมาก ขณะที่ 22.3% ระบุว่าได้รับผลกระทบปานกลาง และ  5.1% ระบุว่า ได้รับผลกระทบน้อย พร้อมมีแนวคิดปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวัน เพื่อช่วยลดผลกระทบปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ลดหรืองดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วทิ้ง การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ มีการแยกขยะหรือนำของเหลือกลับมาใช้ใหม่ พร้อมทั้งเลือกใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ประหยัดพลังงาน สะท้อนการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคในการดำเนินการเพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากปัญหาสิ่งแวดล้อม

ประเด็นที่น่าสนใจ คือ แม้การเลือกเดินทางด้วยรถสาธารณะแทนการใช้รถส่วนตัว จะช่วยลดการใช้พลังงาน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้มาก แต่กลับเป็นพฤติกรรมที่ผู้ตอบแบบสอบถามให้ความสนใจน้อยที่สุด ซึ่งอาจสะท้อนถึงระบบการขนส่งสาธารณะที่ควรเร่งพัฒนาให้ดีขึ้นเช่นกัน

ขณะเดียวกัน เราจะเริ่มมองเห็นผู้ผลิตมีการปรับตัวเพื่อรับมือกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ตระหนักและมีแนวโน้มการบริโภคสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือใช้หรือขยะ การออกผลิตภัณฑ์ประเภทเติม (refill) เพื่อลดปริมาณขยะ พร้อมทั้งเร่งสร้างความเชื่อมั่นในตัวผลิตภัณฑ์ สินค้าหรือบริการ ว่ายังคงเป็นสินค้าที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัย

นอกจากนี้ การสำรวจยังพบว่า ผู้บริโภคกว่า 71.4% สนใจที่จะหันมาเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม รองลงมาได้แก่ สินค้าอุปโภคและของใช้ส่วนตัว เช่น สบู่ แชมพู ผงซักฟอก จำนวน 49.3% โดยพบว่าสินค้าทั้งสองประเภทที่ผู้บริโภคให้ความสนใจมากที่สุดเป็นกลุ่มสินค้าที่ผู้บริโภคใช้เป็นประจำในชีวิตประจำวัน ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่มองว่าการบริโภคสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมประเภทดังกล่าวจะเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย และควรสนับสนุน ​ซึ่งภาคธุรกิจอาจนำประเด็นดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการต่อยอดธุรกิจจากการชูจุดเด่นของสินค้าเพื่อกระตุ้นยอดขายได้

ด้านผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการควรควบคุมราคาสินค้าหรือบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้เพิ่มขึ้นในกรอบไม่เกิน 20% เมื่อเทียบกับราคาสินค้าปกติทั่วไป เนื่องจาก ผลสำรวจพบว่า ผู้บริโภคกว่าร้อยละ 66.3% เต็มใจที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในราคาที่แพงกว่าสินค้าปกติทั่วไปไม่เกิน 20%  มากกว่าสัดส่วนที่เลือกจ่ายในราคาเท่าสินค้าปกติที่มีสัดส่วน 3.4% สะท้อนความพร้อมของผู้บริโภคที่ยินดีจ่ายเงินสูงขึ้นเพื่อเป็นส่วนร่วมในการช่วยลดปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

แต่ทั้งนี้ อาจไม่ได้หมายความว่าผู้ผลิตสามารถปรับราคาขายให้เพิ่มขึ้นเท่ากับจำนวนที่ผู้บริโภคยอมรับได้ แต่จะขึ้นอยู่กับคุณค่าของสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในสายตาผู้บริโภคว่ามากน้อยแค่ไหน ประกอบกับความสามารถของผู้ผลิตในการแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น หรือผลตอบแทนที่ลดลงจากการปรับเปลี่ยนมาจำหน่ายสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้มากน้อยเพียงใดเช่นกัน  ถึงแม้ว่าผู้บริโภคจะมองว่าราคาของสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะมีราคาสูงกว่าสินค้าทั่วไปตามท้องตลาด แต่หากผู้ประกอบการให้ข้อมูลด้านอื่นๆ เพื่อมาประกอบการตัดสินใจของผู้บริโภค เช่น ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมว่าสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคซื้อจะช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้จริง ได้แก่ บรรจุภัณฑ์ไม่มีสารเคมี ย่อยสลายได้ ได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ หรือบริษัทมีการทำกิจกรรมเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากกระบวนการผลิตสินค้าดังกล่าวจนหมด จะช่วยให้ผู้บริโภครู้สึกถึงความคุ้มค่าในการจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม ในอีกมุมหนึ่งยังมีผู้บริโภคที่ทำการตอบแบบสำรวจถึง 32.0% มองว่าสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสินค้าที่มีราคาแพง และอีก 10.7% มองว่าสินค้าดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้จริง

 

Stay Connected
Latest News