บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดเผยทิศทางลงทุนช่วงครึ่งปีหลัง จะมุ่งสร้างการเติบโตให้มั่นคงต่อเนื่อง โดยตั้งเป้ารายได้จากการขาย 1.5 แสนล้านบาท พร้อมวางงบลงทุนรวม 2 หมื่นล้านบาท เพื่อปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต การขยายกำลังการผลิต และสร้างการเติบโตร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ (Merger and Partnership : M&P)
โดยไตรมาส 2 ของปี 2565 ได้ขยายกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูกเพื่อรองรับความต้องการบรรจุภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นในประเทศไทยอีก 75,000 ตันต่อปี พร้อมลงทุนในธุรกิจรีไซเคิลวัสดุบรรจุภัณฑ์ (Packaging Materials Recycling Business) ใน Peute Recycling B.V. (เพอเธ่) และการลงทุนใน Imprint Energy Inc. (Imprint) ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ผลิตแบตเตอรี่ด้วยการพิมพ์ (Printed Battery) ด้วยเงินลงทุนประมาณ 105 ล้านบาท สัดส่วนการถือหุ้น 3.3% เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีโอกาสเติบโต สามารถนำความรู้ความเชี่ยวชาญมาขยายสู่ภูมิภาคอาเซียนได้ในอนาคต รวมทั้งการนำเทคโนโลยีมาใช้สำหรับบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะได้ด้วย
คุณวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCGP ระบุว่า SCGP มุ่งดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนตามกรอบแนวคิด ESG และการก้าวไปสู่เป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593 ด้วยการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตให้ใช้พลังงานในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การพัฒนานวัตกรรมสินค้า บริการ และโซลูชันที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม รวมถึงขยายความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อน ESG
ล่าสุดยังได้ร่วมกับพันธมิตรอย่าง บริษัท คาโอ อินดัสเทรียล (ประเทศไทย) จำกัด หรือ Kao ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคและธุรกิจเคมีภัณฑ์ชั้นนำ เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมและการให้ความสำคัญกับการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้ว เป็นการผนึกกำลังครั้งสำคัญของสองบริษัทที่มีเป้าหมายเดียวกันในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสร้างแนวทางที่ยั่งยืนสำหรับผู้บริโภค
“ผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 มีรายได้จากการขายเท่ากับ 74,616 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการเติบโตของทุกสายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และการรวมผลดำเนินงานของ Duy Tan, Intan Group และ Deltalab รวมถึงปริมาณความต้องการบรรจุภัณฑ์กระดาษและบรรจุภัณฑ์อาหารที่เพิ่มขึ้น มี EBITDA เท่ากับ 10,365 ล้านบาท ลดลง 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กำไรสำหรับงวดเท่ากับ 3,514 ล้านบาท ลดลง 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากต้นทุนวัตถุดิบและพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น”
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ในครึ่งปีหลังของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนมีแนวโน้มที่ดีขึ้น จากนโยบายเปิดประเทศที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความคึกคักให้กับการท่องเที่ยว รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยสินค้าอุปโภคบริโภค และความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์จากอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงในหมวดสินค้าแช่แข็ง อาหารกระป๋อง และอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยง มีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยเชิงบวกต่อความต้องการบรรจุภัณฑ์
อย่างไรก็ตามยังคงต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและปัจจัยต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ภาวะเศรษฐกิจถดถอยและความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ที่มีผลต่อราคาพลังงานในตลาดโลก โดยคาดว่าราคาพลังงานครึ่งปีหลังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง