ขยะพลาสติกยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่สร้างความเสียหายให้กับชีวิตและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปัจจุบันขยะพลาสติกในท้องทะเลมีมากถึง 75-119 ล้านตัน ขณะที่ความพยายามในการกำจัดขยะพลาสติกในทะเลมักจะโฟกัสเพียงแค่ขยะที่พบบนผิวน้ำเท่านั้น แต่รู้หรือไม่ว่า ขยะที่จมอยู่ใต้ท้องทะเลยังมีอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการจัดการ โดยมีการประเมินไว้ว่า มีขยะอยู่ตามพื้นผิวใต้ท้องทะเลถึง 94% เลยทีเดียว
การจัดเก็บขยะที่ลอยอยู่บนผิวน้ำคงไม่ใช่เรื่องยากเท่าใดนัก แต่การจัดเก็บขยะใต้ท้องทะเลมักมีความท้าทายมากมาย ทั้งในแง่ของความปลอดภัยของแรงงานมนุษย์ ที่ต้องอาศัยนักประดาน้ำในการลงไปเก็บขยะ และค่าใช้จ่ายที่สูงลิ่ว
ด้วยเหตุนี้ นักวิจัยจาก SeaClear ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับเงินทุนจาก EU ที่เห็นอุปสรรคดังกล่าว จึงพัฒนาโซลูชันในการทำความสะอาดท้องทะเลที่นำปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยให้การเก็บขยะใต้ท้องทะเลง่ายขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
SeaClear เป็นโครงการที่ผสมผสานเทคโนโลยีหุ่นยนต์และ Machine learning เข้าด้วยกันเพื่อกำหนดตำแหน่งและกำจัดขยะในทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ระบบดังกล่าวประกอบไปด้วย เรือ 1 ลำ โดรน 1 ลำ หุ่นยนต์ 2 ตัว และตะกร้ารวบรวมขยะ 1 ใบ โดยเรือทำหน้าที่เป็นยานแม่ที่คอยเป็นศูนย์สื่อสารและเป็นแหล่งพลังงานให้กับหุ่นยนต์ที่ส่งลงไปใต้น้ำนั่นเอง
สำหรับหลักการทำงานของระบบ SeaClear นั้น เรือคอยทำหน้าที่ตรวจจับวัตถุขนาดใหญ่ใต้น้ำด้วยเครื่องโซนาร์ที่เรียกว่า multibeam echosounder ขณะที่โดรนก็มีเครื่องโซน่าร์ไว้คอยระบุวัตถุขนาดใหญ่จากอากาศ หุ่นยนต์ที่ถูกปล่อยลงไปในน้ำจะทำหน้าที่เก็บชิ้นส่วนขยะ และใส่ขยะที่เก็บมาได้ลงไปในตะกร้ารวบรวมขยะ โดยกระบวนการทั้งหมดนี้ทำงานด้วยระบบอัตโนมัติ ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลมากกว่าวิธีเก็บขยะในทะเลแบบเดิมๆ
โครงการ SeaClear ร่วมกับ Subsea Tech ในประเทศฝรั่งเศส ได้พัฒนาระบบนวัตกรรมนี้ขึ้นมา และขณะนี้กำลังได้รับการทดสอบในสภาพจริง โดยทางทีมวิจัยก็หวังที่จะนำระบบนี้มาช่วยเร่งทำความสะอาดท้องทะเล ขณะเดียวกันยังช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของแรงงานมนุษย์ที่เกิดจากการทำงานดังกล่าวได้อีกด้วย
อย่างไรก็ดี โครงการ SeaClear นับเป็นการปฏิวัติวิธีจัดการกับมลพิษทางทะเลและยังจะช่วยให้ทะเลสะอาดขึ้นเพื่อคนรุ่นต่อไปในอนาคต