ปัจจัยในการเลือกโครงการที่อยู่อาศัย นอกจากทำเล หรือรูปแบบและดีไซน์ของตัวบ้านหรือห้องแล้ว สิ่งอำนวยความสะดวก หรือ Facilities ต่างๆ ที่โครงการอสังหาฯ แต่ละแห่งมีให้บริการแก่ลูกบ้าน ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจเลือกว่าจะเลือกซื้อโครงการไหน
ซึ่งก่อนหน้าอาจจะมีสระว่ายน้ำ ห้องออกกำลังกาย สวนสาธารณะ ห้องจัดเลี้ยง หรือแม้แต่ Co-working Space แต่จากนี้ไปผู้พัฒนาโครงการอสังหาฯ อาจจะต้องเพิ่มการมี ‘สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า’ หรือ EV เป็นอีกหนึ่งตัวเลือก เพื่อให้บริการแก่ลูกบ้านและเป็นอีกหนึ่งปัจจัยให้ลูกบ้านสนใจโครงการที่ตัวเองดูแลอยู่
บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด บริษัทด้านวิจัยและพัฒนา ในเครือบริษัท แอล. พี. เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) โดย นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ ลุมพินี วิสดอม กล่าวว่า การพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันและอนาคต จำเป็นต้องมองปัจจัยการมี ‘สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า’ เพื่อให้บริการในโครงการ ซึ่งน่าจะกลายเป็นอุปกรณ์พื้นฐานในโครงการอสังหาฯ ต่างๆ เพื่อตอบโจทย์การใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งจากวิกฤติพลังงานที่เกิดขึ้น ประกอบกับเทรนด์การเติบโตของ EV และธุรกิจในอีโคซิสเต็ม อยู่ในทิศทางที่มีการขยายตัวอย่างมาก ส่งผลให้ความต้องการ ‘สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า’ กลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญควบคู่ไปเทรนด์ที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ โอกาสและเทรนด์การเติบโตของ EV อาทิ
– การที่รัฐบาลวางนโยบายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน โดยกำหนดให้มีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยอยู่ที่ 1.2 ล้านคัน ในปี 2579
– รายงานของกรมการขนส่งทางบก ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2562-2564 มีจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าทั้งแบบ HEV (Hybrid Electric Vehicle), BEV (Battery Electric Vehicle), และ PHEV (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) จดทะเบียนในประเทศรวมทั้งสิ้น 95,034 คัน โดยเฉพาะในปี 2564 มีจำนวนยอดจดทะเบียนรถไฟฟ้าทั้ง HEV, BEV, PHEV ทั้งสิ้น 40,710 คัน เติบโต 43% จากปี 2563
– ตัวเลขยอดจองรถยนต์นั่งไฟฟ้า หรือ xEV ในงานมอเตอร์โชว์ 23 มีนาคม– 3 เมษายนที่ผ่านมา มียอดจอง 3,100 คัน หรือคิดเป็น 10% ของยอดจองรถยนต์ทั้งหมดในงาน
– นโยบายของรัฐบาลสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศโดยประกาศลดอัตราภาษี และการยกเว้นภาษีอากรศุลกากร สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (รถ EV) กรณีรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน แบบแบตเตอรี่สำเร็จรูปที่นำเข้ามาทั้งคัน 20% – 40%
ขณะที่ทาง “ลุมพินี วิสดอม” คาดว่ายอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้านั่งในปี 2565 มีแนวโน้มเติบโตได้ไม่น้อยกว่า 50% โดยคาดว่าจะมีการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าทั้ง 3 แบบ ไม่น้อยกว่า 61,065 คัน ทำให้ยอดรถยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนในประเทศไทยโดยรวมจะแตะระดับ 156,100 คัน
เทรนด์สถานีชาร์จ EV เติบโตตาม
การเติบโตของจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ทำให้ความต้องการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย Electric Vehicle Association of Thailand – EVAT ระบุว่าช่วงไตรสมาส 3 ปี 2564 (วันที่ 22 กันยายน 2564) มีจำนวนสถานีชาร์จไฟทั้งประเทศ 693 แห่ง จำนวนหัวจ่าย 2,285 หัวจ่าย และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะการติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า และหัวจ่ายในที่พักอาศัย ทั้งโครงการอาคารชุดและโครงการบ้านพักอาศัย เพื่อตอบโจทย์กับความต้องการของผู้ซื้อที่อยู่อาศัย
ด้านสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) วางเป้าหมายในปี 2573 ไทยควรมีสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า 567 แห่ง และเครื่องอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าแบบ Fast Charge 13,251 เครื่อง ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วไทย โดยเน้นการเข้าถึงได้ง่าย และมีต้นทุนเหมาะสม โดยกลุ่มผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ทั้งอาคารชุด และบ้านพักอาศัย เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่สามารถเป็นแนวร่วมในการขยายจำนวนสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อตอบโจทย์กับความต้องการของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในปัจจุบันและในอนาคตของโครงการได้ โดยรูปแบบในการขยายจุดชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า จากการศึกษาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต พบว่า การลงทุนสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าจะใช้เงินลงทุนราว 2-3 ล้านบาท ต่อการติดตั้ง AC 1 เครื่อง หรือ DC 1 เครื่อง พร้อมที่จอดรถ โดยมีระยะเวลาคืนทุนประมาณ 2-4 ปี โดยปัจจุบันรูปแบบของสถานีชาร์ไฟฟ้ามีอยู่ 3 รูปแบบ ประกอบด้วย
1. การอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าแบบใช้สาย เป็นรูปแบบการอัดประจุหลักที่ทั่วโลกนิยมใช้ เนื่องจากมีความคุ้มค่าในการลงทุน มีประสิทธิภาพสูง และสามารถประยุกต์ใช้ร่วมกับเทคโนโลยีการจัดการพลังงานได้
2. การอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าแบบไร้สาย โดยสามารถอัดประจุไฟฟ้าทั้งตอนจอดอยู่กับที่ หรือตอนกำลังเคลื่อนที่อยู่ ซึ่งปัจจุบัน พบว่ามี e-Road ซึ่งเป็นถนนที่สามารถชาร์จแบตเตอรี่กลับเข้าไปในยานยนต์พลังงานไฟฟ้าได้ตลอดทั้งเส้นทางในประเทศอิสราเอล โดยมีความยาวริเริ่มอยู่ที่ 600 เมตร อย่างไรก็ดี การอัดประจุรถไฟฟ้าแบบไร้สายในประเทศไทย ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการทดลองและพัฒนา
3. การสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Battery Swapping) ซึ่งเป็นการอัดประจุแบตเตอรี่ไว้ก่อนล่วงหน้า เพื่อรอการสับเปลี่ยนกับแบตเตอรี่ที่มีค่าสถานะของประจุที่ต่ำกว่า อย่างไรก็ดี ระยะเวลาและความยากง่ายของการถอดแบตเตอรี่อัตโนมัติยังขึ้นอยู่กับขนาดของแบตเตอรี่ด้วย ปัจจุบันจึงนิยมใช้วิธีการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่กับรถขนาดเล็ก เช่น รถสองล้อไฟฟ้า รถสามล้อไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า
จากผลการศึกษาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตระบุว่า สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแต่ละประเภทใช้เงินลงทุนเฉลี่ยประมาณ 2-3 ล้านบาท ต่อการติดตั้ง AC 1 เครื่อง หรือ DC 1 เครื่อง พร้อมที่จอดรถ โดยมีระยะเวลาคืนทุนประมาณ 2-4 ปี
ลุมพินี วิสดอม เพิ่ม Facilities ในโครงการ
อย่างไรก็ตาม “ลุมพินี วิสดอมฯ” ได้ทำการศึกษาการออกแบบและพัฒนาพื้นที่โครงการอาคารชุดพักอาศัยใหม่ รวมทั้งการปรับปรุงพื้นที่ในโครงการอาคารชุดพักอาศัยเดิม เพื่อก่อสร้างสถานีชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า โดยคำนึงถึง 3 ปัจจัยหลักในการก่อสร้างสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในโครงการ ประกอบด้วย
1. การสำรวจปริมาณการใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือ แนวโน้มการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตของผู้พักอาศัย เพื่อทราบถึงปริมาณรถยนต์ไฟฟ้าที่แน่ชัด ซึ่งจะส่งผลต่อการจัดสรรพื้นที่ที่เหมาะสมและไม่กระทบต่อจำนวนที่จอดรถยนต์ทั่วไปของผู้พักอาศัย
2. การเลือกพื้นที่สำหรับสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า สำหรับคอนโดมิเนียม ความเป็นส่วนตัว ของผู้พักอาศัย เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงอย่างยิ่ง การเลือกพื้นที่ในการติดตั้งสถานีชาร์จ ควรเป็นพื้นที่บุคคลภายนอกไม่สามารถเข้าถึงได้ เช่น บริเวณลานจอดรถที่มีระบบรักษาความปลอดภัยในการเข้า-ออกของรถยนต์ แต่หากต้องการให้สถานีชาร์จสร้างรายได้จากการให้บริการบุคคลภายนอก พื้นที่ติดตั้งสถานี ควรอยู่บริเวณที่ไม่ส่งผลรบกวนต่อความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของผู้พักอาศัย เช่น บริเวณหน้าทางเข้าก่อนผ่านจุดรักษาความปลอดภัยหรือจุดสแกนบัตรเข้า-ออกของโครงการ ในกรณีที่โครงการมีพื้นที่ที่เหมาะสมและเพียงพอ
3. การบริหารจัดการของนิติบุคคล เพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้พักอาศัยทุกคน นิติบุคคลจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีมาตรการในการบริหารจัดการ ทั้งในด้านการบริหารพื้นที่จอดรถสำหรับรถยนต์ทุกประเภท การบริหารต้นทุนและรายได้จากสถานีชาร์จ รวมถึงการดูแลและซ่อมบำรุงสถานีชาร์จ ที่กล่าวมาข้างต้น ผู้พักอาศัยทุกคนมีส่วนได้ส่วนเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่มีรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถยนต์ทั่วไป การบริหารจัดการที่ดีและโปร่งใส นำมาซึ่งการรักษาผลประโยชน์ของผู้พักอาศัยทุกคน