น่าจะเป็นหนึ่งในปัญหาคลาสสิค ของโครงการที่ขับเคลื่อนเพื่อสังคมต่างๆ ที่แม้ว่าโครงการจะดีอย่างไร เป็นประโยชน์ในการส่งมอบโอกาสให้คนรอบข้างมากแค่ไหน แต่สุดท้ายแล้ว กลับต้องมาตกม้าตายในช่วงของการประเมินผล เพราะคำชื่นชมต่างๆ ที่ได้รับมาในทุกๆ วัน ไม่สามารถวัดค่าออกมาเป็นตัวเลขได้ในเชิงประจักษ์
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากผู้ขับเคลื่อนโครงการไม่ใช่รัฐบาล ไม่ใช่มูลนิธิ หรือองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ที่ไม่ต้องคำนวนหาความคุ้มค่าในการลงทุนแต่ละโปรเจ็กต์ เพราะสำหรับภาคเอกชนแล้ว ความคุ้มค่าในการลงทุน หรือที่เราคุ้นหูกันดีว่า ROI (Return of Investment) ยังคงเป็นเหตุผลสำคัญว่าจะสามารถผลักดันให้โครงการต่างๆ เหล่านี้ ขับเคลื่อนได้ต่อไปหรือไม่ ซึ่งถือเป็นความท้าทายสำคัญของโครงการดีๆ แต่ไม่ได้ไปต่อหรือไม่สามารถเติบโตอย่างยั่งยืนได้ เนื่องจากไม่สามารถตอบข้อสงสัยถึงความคุ้มค่าในการลงทุนที่ชัดเจนได้ ต่างจากการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ ประเมินมูลค่าที่ดิน หรือประเมินมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ
แต่หากจะใช้เกณฑ์ประเมินผลความคุ้มค่าในการลงทุนของโครงการเพื่อสังคม เช่นเดียวกับโครงการในเชิงพาณิชย์ ก็อาจจะยิ่งทำให้มูลค่า หรือความคุ้มค่าของการลงทุนในโครงการเหล่านี้ดูไม่คุ้มค่าลงไปยิ่งกว่าเดิม จึงเป็นที่มาของการสร้างมาตรฐานใหม่ เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการประเมินโครงการเพื่อสังคมให้สามารถสะท้อนความคุ้มค่าการลงทุนออกมาเป็นตัวเลขที่ชัดเจน ผ่านเครื่องมือที่ชื่อว่า “การประเมินผลตอบแทนทางสังคม” หรือ SROI (Social Return on Investment ) ซึ่งจัดขึ้นโดย สมาคมผู้ประเมินมูลค่าทางสังคมไทย (Social Value Thailand Association) องค์กรระดับสากลที่ทำหน้าที่สนับสนุนการสร้างคุณค่าสังคมผ่านการพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนในประเทศไทย ตามกรอบมาตรฐานดัชนีชี้วัดทางสังคม (ESG Index) ซึ่งครอบคลุมในด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจอย่างครอบคลุม ภายใต้การดำเนินงานอย่างโปร่งใส น่าเชื่อถือ และสามารถตรวจสอบได้
คุณสกุลทิพย์ กีรติพันธวงศ์ เลขาธิการ สมาคมผู้ประเมินมูลค่าทางสังคมไทย กล่าวว่า SROI ถือเป็นมาตรฐานใหม่ในการสะท้อนความคุ้มค่าของการลงทุนทางสังคม ที่ไม่ได้มองเพียงมิติจากผลกำไรแต่เพียงอย่างเดียว แต่มองเรื่องการส่งมอบคุณค่าต่างๆ ให้กับสังคมและ Stakeholder ทุกมิติอย่างครอบคลุม ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญและใช้กันอย่างแพร่หลาย ทั้งกลุ่ม SME การศึกษา โครงการเกี่ยวกับเด็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการ แต่ในประเทศไทยถือว่ายังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และต้องเร่งสร้างการตระหนัก ความรู้ ความเข้าใจ ทั้งต่อหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคมในการนำเครื่องมือและกรอบแนวคิดนี้มาสู่การพัฒนายกระดับ Impact Performance ขององค์กรต่อสังคม
“ถ้าเรามองรีเทิร์นเพียงแค่ในมิติของตัวเลขกำไรแต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้มองผลกระทบในเชิงสังคมและสิ่งแวดล้อมมาประกอบ วิธีคิด วิธีการตัดสินใจ และวิธีการใช้เงินของเรา หรือการที่เราจะไปซื้อของในฐานะผู้บริโภค ก็จะคิดแค่ในมิติด้านการเงิน หรือ Financial มาเป็นตัวตัดสินใจแต่เพียงอย่างเดียว ก็จะทำให้โครงการเพื่อชมุชน หรือสังคมต่างๆ ไม่สามารถสร้างผลตอบแทนอะไรให้กับผู้ลงทุนได้เลย ทำให้ยากกับการหาเหตุผลมาช่วยสานต่อให้โครงการดีๆ เหล่านี้ให้สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ แต่หากเราสามารถนำปัจจัย หรือองค์ประกอบทางสังคมอื่นๆ มาสะท้อนค่า และสามารถช่วยสร้าง Capital หรือนำมาเป็นต้นทุนทางสังคมให้กับองค์กร ทำให้องค์กรสามารถอยู่ในชุมชนและสังคมได้อย่างแข็งแรง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งมิติที่มีความสำคัญและเป็นเรื่องใหม่ที่ทุกคนต้องหันมาทำความรู้ และความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น เพื่อส่งเสริมกระตุ้นให้เกิดการดำเนินงาน กิจกรรม เม็ดเงินการลงทุน ที่ไม่เพียงสะท้อนผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ แต่ยังประโยชน์และคุณค่าต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย นอกจากผลสัมฤทธิ์จากโครงการตามจุดประสงค์หลัก เช่น นอกจากได้ตัวโครงการที่จับต้องได้ เช่น อาคาร ตึก สถาปัติยกรรมต่างๆในมิติของ Physical แล้ว ยังสามารถสร้างให้เกิด Social Value กลับมาได้อีกด้วย”
สามย่าน โค-ออป โชว์รีเทิร์นด้านสังคม 3.5 เท่า
โครงการ “สามย่าน โค-ออป (Samyan CO-OP)” ภายใต้การสนับสนุนของพันธมิตรอย่าง ธนาคารกสิกรไทย ให้บริการพื้นที่แห่งการแบ่งปันเพื่อการเรียนรู้ของทุกคน โดยเปิดให้บริการพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน โดยมีธนาคารกสิกรไทยเป็นผู้สนับสนุนตลอดการดำเนินการกว่า 3 ปี ซึ่งมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ (ข้อมูล ณ 31 พ.ค. 2565) ได้แก่
– ผู้ใช้บริการลงทะเบียนใช้พื้นที่รวมกว่า 120,000 คน แบ่งเป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา 60% และเป็นบุคคลทั่วไป 40%
– ผู้ใช้บริการเฉลี่ยต่อเดือนกว่า 50,000 คน (ช่วงเวลาปกติที่ไม่ต้องปิดให้บริการจากการแพร่ระบาดของโควิด-19)
– จัดงานเวิร์คช็อป ติวเข้มด้านวิชาการ เทรนนิ่งด้านวิชาชีพ มากกว่า 250 งาน และมีผู้เข้าร่วมรวมกว่า 12,000 คน
– เกิดชุมชน (Community) ของบุคคล องค์กร หรือหน่วยงานที่ต้องการทำประโยชน์เพื่อสังคมที่แข็งแรง
ทั้งนี้ สามย่าน โค-ออป ได้เข้าร่วมการประเมินผลตอบแทนทางสังคม SROI ซึ่งทางสมาคมผู้ประเมินมูลค่าทางสังคมไทยได้ประเมินสามย่าน โค-ออปไว้ว่าทุกการลงทุน 1 บาทในสามย่านโค-ออป จะก่อให้เกิดผลตอบแทนทางสังคม 3.5 บาท สามารถแบ่งออกเป็นผลตอบแทนด้านสังคมที่สำคัญ 5 มิติ ดังนี้
1. คุณค่าทางสังคมต่อผู้ใช้บริการ (User Value)
ผู้ใช้บริการสามย่าน โค-ออป มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมีความมุ่งมั่นตั้งใจเพิ่มมากขึ้น มีความสะดวกในการนัดพบ มีประสิทธิภาพในการนัดพบ มีประสิทธิภาพในการทำงานดีขึ้น มีพื้นที่ทางสังคม และสุขภาพจิตดีขึ้น
2. คุณค่าทางสังคมต่อชุมชน (Community Value)
สร้างคุณค่าในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนรอบข้างด้วยการเพิ่มพื้นที่ความสะดวกสบาย และปลอดภัยที่เข้าถึงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สำหรับคนทุกวัยและพัฒนาให้เป็นชุมชนเพื่อการเรียนรู้ที่แข็งแกร่ง
3. คุณค่าทางสังคมต่อพันธมิตรทางธุรกิจ (Business Partner Value)
ช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพันธมิตรทางธุรกิจและผู้ใช้บริการ รวมถึงทำให้เข้าใจพฤติกรรม และความต้องการของลูกค้าผ่านแอปพลิเคชั่นของสามย่าน โค-ออป ทำให้แบรนด์ของพันธมิตรเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น
4. คุณค่าทางสังคมต่อพันธมิตรคอนเทนต์ (Content Partner Value)
สามารถจัดงานเทรนนิ่ง เวิร์คช็อป และทอล์ค ได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย มีสถานที่ที่เปิดกว้างโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพิ่มโอกาสในการจัดกิจกรรมและเผยแพร่เนื้อหาหรือคอนเทนต์ที่เป็นประโยชน์กับผู้เข้าร่วม
5. คุณค่าทางสังคมต่อสามย่าน โค-ออป (Space Value)
สร้างคุณค่าการรับรู้แบรนด์สามย่าน โค-ออป ผ่านการสื่อสาร และกิจกรรม โดยขยายฐานผู้ใช้บริการไปยังชุมชนที่หลากหลายมากขึ้น ช่วยให้เกิดความยั่งยืนทางธุรกิจ
คุณปิยะวัลย์ สร้อยน้อย ผู้อำนวยการ สามย่านโค-ออป ภายใต้การบริหารของ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ คอมเมอร์เชียล (ประเทศไทย) กล่าวว่า “สามย่าน โค-ออป เชื่อว่าการมีพื้นที่โคเลิร์นนิ่งสเปซ จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการแบ่งปันความรู้ และยกระดับคุณภาพชีวิต เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ใช้บริการตั้งแต่เยาวชนตลอดจนคนวัยทำงาน โดยยังได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากธนาคารกสิกรไทย ซึ่งเป็นพันธมิตรที่มีวิสัยทัศน์และแนวคิดในเรื่องการตอบแทนสู่สังคมสอดคล้องกับกลุ่มเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ทำให้โคเลิร์นนิ่งสเปซแห่งนี้ประสบความสำเร็จในการเข้าร่วมการประเมินผลตอบแทนทางสังคม (Social Return on Investment: SROI) ที่จัดโดยสมาคมผู้ประเมินมูลค่าทางสังคมไทย (Social Value Thailand Association) ตอกย้ำถึงวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งและผลักดันพื้นที่สามย่าน โค – ออป ให้เป็นสเปซเพื่อการเรียนรู้อย่างยั่งยืนของทุกคนในชุมชน”
คุณฐิติภร สิริศรีสกุลชัย ผู้อำนวยการอาวุโส Business Solution Integration Chapter ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า “ความร่วมมือกับศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ในการสนับสนุนสามย่าน โค-ออป เป็นความมุ่งมั่นของธนาคารที่ต้องการมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์และเรียนรู้ในโลกยุคดิจิทัล โดยการผลักดันให้เกิดพื้นที่สาธารณะ (Public Space) สำหรับทุกๆ คนให้ได้มาเรียนรู้ ทำกิจกรรมต่อยอด แลกเปลี่ยนมุมมอง ความคิด การเรียนรู้ที่หลากหลาย ทำให้สามย่าน โค-ออป เป็นสถานที่พบปะ เรียนรู้ที่ครบวงจรแห่งใหม่ใจกลางเมือง ตอบรับกับโจทย์ทักษะแห่งโลกอนาคตที่ต้องมี ซึ่งสามารถใช้ในโลกของการเรียน การทำงาน และการใช้ชีวิต เช่น ทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง ทักษะการคิดเชิงสร้างสรรค์ ทักษะด้านเทคโนโลยี เป็นต้น”
ขณะที่ทางสมาคมผู้ประเมินมูลค่าทางสังคมไทย เชื่อว่าการริเริ่มของสามย่านโค-ออป จึงนับเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจและการนำไปสู่การขยายผลสัมฤทธิ์วงกว้างในสังคมไทยต่อไป