หลังจากก่อนหน้านี้ รัฐบาลกลางอินเดียประกาศในวันสิ่งแวดล้อมโลก เมื่อปี 2018 ว่าจะยกเลิกการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง Single-use และจะไม่มีพลาสติกประเภทนี้ หลงเหลืออยู่ในประเทศอินเดียอีกต่อไป นับจากปี 2022 พร้อมการขับเคลื่อน รณรงค์ภายในประเทศอย่างคึกคัก และต่อมาในช่วงไตรมาสที่สามของปี 2021 ได้มีความชัดเจนถึงวันที่จะเริ่มการบังคับใช้ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2022 นี้ เป็นต้นไป
สำหรับพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งส่วนใหญ่ ที่รัฐบาลกลางอินเดียประกาศห้าม เช่น ถุงพลาสติก บรรจุภัณฑ์อาหาร ขวด และหลอดพลาสติก โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการก่อมลภาวะ ซึ่งเป็นก้าวแรกในการไปสู่เป้าหมาย การไร้ซึ่ง Single-use Plastic ในอินเดีย ที่มีประชากรกว่า 1,400 ล้านคน หากสามารถลดการใช้พลาาสติกในประเทศนี้ได้จริง น่าจะเป็นอีกหนึ่งแรงกระเพื่อมใหญ่ที่ส่งผลต่อปริมาณขยะในโลกได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งนอกจากประกาศคำสั่งห้ามนี้แล้ว จำเป็นต้องหาทางแก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้างควบคู่ไปด้วย เช่น การกำกับดูแลการใช้สิ่งที่นำมาแทนพลาสติก ยกระดับการรีไซเคิล และปรับปรุงประสิทธิภาพในการแยกขยะ โดยความสามารถในการจัดเก็บขยะพลาสติกเพื่อนำไปเข้ากระบวนการรีไซเคิลหรือนำไปกำจัดของอินเดียในช่วงที่ผ่านมาอยู่ที่ราว 60% ขณะที่อีก 40% หรือกว่า 1 หมื่นตัน ที่หลุดลอดกลายเป็นขยะตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม
รัฐบาลกลางอินเดีย ยังได้ประกาศกฏแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องการจัดการขยะพลาสติกปี 2564 โดยการประกาศห้ามโรงงาน นำเข้า กักตุน แจกจ่าย จำหน่าย และใช้สิ่งของประเภทต่างๆ จากพลาสติกประเภทใช้แล้วทิ้ง โดยมีผล 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป เช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ กระทรวงสิ่งแวดล้อม ป่า และโลกร้อนของทางอินเดีย ประกาศพลาสติกประเภท ใช้แล้วทิ้ง อย่างเช่น หูฟัง ลูกโป่ง ไอศกรีม และลูกอม ที่มีบรรจุภัณฑ์พลาสติกห่อหุ้ม รวมไปถึงธง และโฟม ที่ใช้สำหรับการตกแต่งจะถูกห้ามใช้ในช่วงเวลาที่กำหนด สิ่งของประเภทพลาสติกที่มีความหนาของพลาสติกน้อยกว่า 100 ไมครอน เช่น จาน ถ้วย แก้วน้ำ และพลาสติกห่อหุ้มบรรจุภัณฑ์ที่ใช้กับกล่องขนมหวาน บัตรเชิญ และบรรจุภัณฑ์บุหรี่ รวมไปถึงอุปกรณ์ สำหรับรับประทานอาหารประเภทใช้แล้วทิ้ง เช่น ช้อน ซ้อม มีด และถาดอาหาร จัดว่าเป็นสิ่งของประเภทต้องห้ามเช่นกัน
ด้านกระทรวงสิ่งแวดล้อมของอินเดีย ระบุว่า ถุงพลาสติกประเภทแบบบางที่มีความหนา 50 ไมครอน ได้เพิ่มขึ้นเป็น 75 ไมครอน ตั้งแต่ 20 กันยายน 2564 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 120 ไมครอน ตั้งแต่ 31 ธันวาคม 2565 เป็นต้นไป เพื่อเป็นการสนับสนุนการนำถุงพลาสติก ไปใช้ซ้ำได้มากขึ้น
ในส่วนของเมืองหลักอย่างเดลี รัฐบาลได้ตัดสินใจเริ่มการห้ามใช้พลาสติกประเภทใช้แล้วทิ้ง ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2565 โดยเฟสแรกเริ่มจะยกเลิกการใช้ปากกาประเภทใช้แล้วทิ้ง และขวดน้ำ ต่อมาจะยกเลิกการใช้ แบนเนอร์ โปสเตอร์ ป้ายโฆษณา และอุปกรณ์สำหรับรับประทานอาหารประเภทใช้แล้วทิ้ง
โดยประเทศอินเดีย เล็งเห็นความสำคัญเรื่องการใช้พลาสติกประเภทใช้แล้วทิ้ง เนื่องจาก เป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมอินเดียเป็นอย่างมาก เช่น การเกิดมลภาวะทางอากาศ โดยปัจจุบัน อินเดียสร้างขยะมากถึง 3.5 ล้านตันต่อปี จากผลการศึกษาของ World Wide Fund for Nature ชี้ให้เห็นว่า ในปัจจุบันมีการใช้ไมโครพลาสติก (ชิ้นส่วนพลาสติก ขนาดจิ๋ว เล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ที่แตกออกมาจากพลาสติก) เฉลี่ยแล้ว 5 กรัมต่อสัปดาห์/คน หรือประมาณกว่า 250 กรัมต่อปี ในชีวิตประจำวันโดยที่ไม่รู้ตัว จากการใช้สินค้าที่มีบรรจุภัณฑ์เป็นพลาสติก ซึ่งส่วนมากมีที่มาจากการดื่มน้ำในขวดพลาสติก ซึ่งเป็นประเภทแบบใช้แล้วทิ้ง ซึ่งมีปริมาณไมโครพลาสติกอยู่ที่ประมาณ 2 ถึง 44 ชิ้น และหากมีการสะสมในร่างกายมากเกินไป อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็ง ระบบพัฒนาการและระบบฮอร์โมนของร่างกายได้
ข้อมูล กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ