วันศุกร์ที่ 3 ของเดือนมิถุนายนของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น “วันหยุดการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์” หรือ Stop Cyberbullying Day ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาสังคมใกล้ตัวที่ไม่สามารถมองข้ามได้ โดยเฉพาะในยุคที่ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทและกลายเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้น ทำให้ทุกคนมีโอกาสที่จะกลายเป็นเหยื่อของการถูกกลั่นแกล้งผ่านโลกออนไลน์ได้เช่นเดียวกัน
ขณะที่การกลั่นแกล้งผ่านโลกออนไลน์นั้น อาจจะไม่ใช่แค่เรื่องเล็กๆ แบบที่หลายคนยังมีความเข้าใจผิดอยู่ เพราะปัญหาจากความสนุกในการพิมพ์แกล้งกันเล็กๆ น้อยๆ อาจนำมาซึ่งความขัดแย้งที่เกิดจากการสื่อสารผ่านแป้นพิมพ์ บานปลายจนเกิดความเกลียดชัง หรือสร้างความอับอายให้กับเหยื่อ จนขาดความมั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวัน หรือกลายเป็นโรคซึมเศร้า หรืออาจจะเลวร้ายจนเกิดการฆ่าตัวตายได้ในที่สุด
ข้อมูลจาก Comparitech บริษัทด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ระบุว่า สถิติการกลั่นแกล้งกันบนโลกออนไลน์ (Cyberbully) ช่วงปี 2018 -2022 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าการรับรู้ถึงภัยคุกคามและผลกระทบที่เกิดจากการถูกกลั่นแกล้งทางออนไลน์จะเพิ่มมากขึ้นแล้วก็ตาม โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดใหญ่ที่ผ่านมา กลับยิ่งทำให้ปัญหาเหล่านี้เลวร้ายมากยิ่งขึ้น เนื่องจาก การใช้งานผ่านออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ ทั้งการเรียนออนไลน์ หรือประชุมออนไลน์ โดยเฉพาะการกลั่นแกล้งหรือแสดงความเกลียดชังที่มุ่งเป้าไปยังผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยตรง เช่น ชาวเอเชียที่ถูกโจมตีหรือกลั่นแกล้งทางไซเบอร์เพิ่มขึ้นมากกว่า 200%
ขณะที่ประเด็นที่มักจะมีการกลั่นแกล้งกันผ่านโลกออนไลน์อยู่บ่อยครั้ง ตามการศึกษาของ Pew Research ที่ศึกษาจากกลุ่มผู้ใหญ่ชาวอเมริกันในปี 2018 พบว่า การล้อเลียนด้วยการเรียกชื่อที่ทำให้อับอาย มีสัดส่วนมากเป็นอันดับ 1 ในทุกกลุ่มอายุ ไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่น อายุ 18-29 ปี กลุ่มผู้ใหญ่ อายุตั้งแต่ 30-49 ปี และกลุ่มผู้สูงอายุเกินกว่า 50 ปีขึ้นไป โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 31% และมากกว่าประเด็นอื่นๆ ทั้งการล้อเลียนทางกายภาพ การสะกดรอยตาม หรือการพูดคุกคามทางเพศ
AIS รณรงค์หยุดใช้สรรพนามเชิงลบ ลดความขัดแย้ง
AIS โดย AIS อุ่นใจ Cyber ในฐานะเพื่อนคู่คิดดิจิทัลเพื่อคนไทยทุกเจนเนอเรชัน ต้องการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเพื่อสร้างความเข้าใจ รู้เท่าทัน ให้สามารถรับมือกับการระรานทางไซเบอร์ทุกรูปแบบ โดยปีนี้ AIS อุ่นใจ Cyber ได้สะท้อนประเด็นปัญหาที่มีการกลั่นแกลงหรือระรานทางออนไลน์มากที่สุดอย่าง การเรียกชื่อคนอื่นที่ไม่ใช่ชื่อจริงของพวกเขา ผ่านแคมเปญ “โปรดเรียกฉันด้วยชื่อฉัน” เพื่อชวนคนไทยตระหนักถึงการหยุดการกลั่นแกล้ง ระรานผ่านโลกออนไลน์ ด้วยการใช้สรรพนามในเชิงลบ หรือใช้คำพูดล้อเลียนด้อยค่าผู้อื่น เช่น อีดำ อ้วน ตัวตลก อิตุ๊ด แทนการเรียกชื่อกันบนโลกออนไลน์ในช่องทางโซเชียลต่างๆ และหันมาให้ความสำคัญกับการให้เกียรติซึ่งกันและกันด้วยการเรียกชื่อจริงของแต่ละคน เพื่อหยุดการกลั่นแกล้งด้วยคำพูดล้อเลียนต่างๆ ที่อาจจะสร้างความรู้สึกไม่ดีให้ติดอยู่ในใจของผู้ที่ถูกเรียกได้
คุณสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า “การใช้งานออนไลน์ที่สร้างสรรค์และปลอดภัย คืออีกหนึ่งเป้าหมายของ AIS อุ่นใจ Cyber ที่เรามุ่งส่งเสริมความฉลาดทางดิจิทัล ป้องกันภัยไซเบอร์ด้วยเครื่องมือดิจิทัล รวมทั้งประเด็นที่สำคัญคือ ต้องการสร้างความตระหนักเพื่อให้คนไทยตื่นตัว พร้อมรับมือกับภัยไซเบอร์ทุกรูปแบบ โดยเฉพาะกับปัญหาการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ หรือ Cyberbully ที่หลายคนอาจมองข้ามไป เพราะคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ในความเป็นจริงแล้ว จากสาเหตุเพียงเล็กน้อยจากการหยอกล้อเล่นกันด้วยความคึกคะนอง ก็อาจจะบานปลายไปสู่ปัญหาสังคมที่มากขึ้น ขยายพื้นที่ในการสร้างความขัดแย้ง เกลียดชัง หรือสร้างบาดแผลทางจิตใจให้กับเหยื่อไปตลอดชีวิตเลยก็ว่าได้”
การใช้คำสรรพนามในเชิงลบ เพื่อเปรียบเทียบหรือล้อเลียนเรียกชื่อเพื่อนหรือบุคคลอื่นๆ แทนการเรียกด้วยชื่อ ที่อาจเป็นการสะท้อนถึง รูปร่าง สีผิว รสนิยมความชอบ อาทิ อ้วน ดำ ตุ๊ด กระเทย ถือเป็นการด้อยค่า ซึ่งตัวผู้เรียกเองอาจจะไม่ได้รู้สึกว่าเรื่องเหล่านี้เป็นปัญหาจริงจัง แต่สำหรับผู้ที่ถูกเรียกด้วยคำเชิงลบเหล่านั้น อาจไม่ได้สนุก หรือบางครั้งอาจเป็นการสร้างความไม่พอใจให้เกิดขึ้นได้
ดังนั้น ในวัน Stop Cyberbullying Day ปีนี้ AIS อุ่นใจ Cyber จึงได้หยิบยกปัญหาดังกล่าว ขึ้นมาเพื่อสะท้อนแนวคิดผ่านแคมเปญ “โปรดเรียกฉันด้วยชื่อฉัน” ให้เกิดความตระหนักถึงอีกหนึ่งพฤติกรรรมที่เป็นการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ ที่บางคนอาจมองข้าม หรือไม่ได้นึกถึงว่าสิ่งเหล่านี้อาจบานปลายจนกลายเป็นปัญหา สร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นกับผู้คนในสังคมได้เช่นเดียวกัน และอาจนำมาซึ่งความอับอาย เสียใจ วิตกกังวล จนกระทบต่อความมั่นใจในการใช้ชีวิตแต่ละวัน รวมไปถึงปัญหาทางด้านสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้า หรือโรควิตกกังวล หรืออาจร้ายแรงจนนำไปสู่การทำร้ายกันในโลกความจริง หรือการฆ่าตัวตายตามมาได้เช่นเดียวกัน
“เราอยากใช้โอกาสในวัน Stop Cyberbullying Day นี้ เพื่อย้ำเตือนสังคมและคนไทย ในฐานะแบรนด์ที่ส่งเสริมการใช้งานอินเทอร์เน็ตและสื่อออนไลน์อย่างเหมาะสม ปลอดภัย และสร้างสรรค์ รวมทั้งสร้างความตระหนักถึงปัญหาการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ทุกรูปแบบ และหยุดพฤติกรรมการเรียกชื่อคนรอบตัวด้วยคำล้อเลียน และรณรงค์ให้ทุกคน “เรียกฉันด้วยชื่อฉัน” เพื่อให้พื้นที่ในโลกไซเบอร์เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน” นางสายชล กล่าวทิ้งท้าย