โรคไข้เลือดออก เป็นโรคที่ได้ยินชื่อกันมาจนชินหู ทำให้หลายคนอาจไม่ได้ตระหนักถึงความน่ากลัวของโรคนี้เท่าที่ควร แต่ทราบหรือไม่ว่า โรคไข้เลือดออกถือเป็น 1 ใน 4 โรคเสี่ยงของคนไทย และยังเป็นโรคที่ยังไม่สามารถพัฒนาวัคซีนมาฉีดเพื่อป้องกันได้ รวมทั้งหากผู้ป่วยเป็นไข้เลือดออกแล้วไม่สามารถดูแลอย่างถูกวิธี หรือไม่สามารถพาผู้ป่วยไปหาหมอเพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาได้ทัน ก็อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ในที่สุด
ดังนั้น โรคไข้เลือดออกจึงถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาด้านสาธารณสุข ที่ไม่ใช่เพียงแค่ในประเทศไทย แต่ยังรวมไปถึงกลุ่มประเทศอาเซียน เนื่องจากอยู่ในภูมิภาคเขตร้อนชื้น ที่ยุงลายซึ่งเป็นพาหะของโรคสามารถแพร่ขยายพันธุ์ได้ดี เป็นสาเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคตามาได้ ทำให้ทั้ง 10 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลงมติร่วมกันเพื่อให้ทุกวันที่ 15 มิถุนายน ของทุกปีเป็น “วันไข้เลือดออกอาเซียน” (ASEAN Dengue Day) เพื่อร่วมกันรณรงค์ป้องกันการแพร่ระบาดโรคไข้เลือดออกในวงกว้าง
สำหรับในประเทศไทย โรคไข้เลือดออกมีการติดต่อระบาดต่อเนื่องมากว่า 70 ปี โดยสถานการณ์ในช่วงวันที่ 1 มกราคม – 8 มิถุนายน 2565 พบว่า มีผู้ป่วยสะสม 3,386 ราย มีผู้เสียชีวิต 5 ราย ซึ่งหากเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2564 แม้ยอดผู้ป่วยสะสมจะลดลง 21% แต่เมื่อคำนึงถึงรอบการระบาด ที่ผู้ป่วยมักจะมีภูมิป้องกันประมาณ 2-3 ปี ประกอบกับ ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้การพบปะกันของผู้คนลดน้อยลง คนอยู่บ้านมากขึ้น ตัวเลขในปีที่ผ่านมาจึงมีการระบาดอยู่ในระดับต่ำ แต่ปีนี้ต้องถือว่ามีความเสี่ยงที่น่ากังวล โดยเฉพาะช่วงฤดูฝนตั้งแต่เดือน พ.ค. เป็นต้นไป ซึ่งเป็นช่วงการแพร่ระบาดที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค
ดร.พญ.ฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กล่าวว่า การดำเนินงานเพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมไข้เลือดออกนั้น ถือเป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุด ผ่านการเข้าไปจัดการต้นเหตุการแพร่ระบาดด้วยการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานเครือข่าย เข้ามามีส่วนร่วมในการดําเนินงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอาสามัครชุมชน หรือ อสม. ซึ่งจะเป็นผู้เข้าถึงชุมชน ทำหน้าที่เป็นด่านหน้าในการให้ข้อมูลความรู้ในการเฝ้าระวังตนเองไม่ให้ป่วยด้วยโรคติดต่อจากยุงลาย รวมทั้งการคัดกรองสำรวจพื้นที่เสี่ยงที่มีแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย หรือสามารถเข้าถึงผู้ป่วยเพื่อส่งต่อให้ได้รับการวินิจฉัยและรักษาในระบบได้อย่างทันท่วงที
“ก่อนหน้านี้การลงพื้นที่ทำงานของ อสม.จะใช้การเก็บข้อมูลต่างๆ ลงบนแบบฟอร์มกระดาษ ทำให้การเก็บข้อมูลมีความคลาดเคลื่อน รวมทั้งข้อมูลจากแต่ละพื้นที่ไม่เชื่อมโยง และเข้ามาสู่ส่วนกลางแบบ Realtime ส่งผลให้การป้องกันเชิงรุกในการทำงานด้านสาธารณสุขของประเทศอาจไม่ได้ประสิทธิภาพมากเท่าที่ควร แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล เข้ามาเป็นปัจจัยสําคัญในการทำงาน เพื่อนำทักษะดิจิทัลด้านสุขภาพ (Digital Health) อย่างแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ มาเป็นเครื่องมือในการลงพื้นที่เก็บข้อมูลให้กับกลุ่ม อสม. โดยเฉพาะฟีเจอร์รายงานสำรวจลูกน้ำยุงลาย ทำให้ข้อมูลต่างๆ ที่ถูกจัดเก็บสามารถนำไปใช้งานต่อในการวิเคราะห์วางแผนเชิงป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การประเมินพื้นที่เสี่ยงและป้องกันได้อย่างแม่นยำตรงจุด โดยเฉพาะการเตรียมประสานการทำงานกับหน่วยงานด้านสาธารณสุขอย่างโรงพยาบาบส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือทีมแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งในอนาคตทางกรมฯ วางแผนจะใช้ข้อมูลผลสํารวจลูกน้ำยุงลาย จากแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ ไปวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา เช่น ปริมาณน้ําฝน ความชื้น เป็นต้น เพื่อใช้ในการชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงของโรคไข้เลือดออกที่แม่นยํามากขึ้น”
นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่น อสม.ออนไลน์ กล่าวว่า ในฐานะ Digital Life Service Provider เอไอเอสมีเป้าหมายสำคัญในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมายกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือสำคัญที่เข้ามาช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้อย่างเท่าเทียม (Social Inclusion) โดยเฉพาะแอปฯ อสม.ออนไลน์ ที่วันนี้กลายเป็นคลังความรู้ข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพที่สำคัญ ที่ทาง อสม.ได้นำไปปรับใช้ในการปฏิบัติงาน ทั้งการให้ความรู้ในพื้นที่และเก็บข้อมูลต่างๆ ผ่านฟังก์ชั่นรายงานสำรวจลูกน้ำยุงลาย ที่ได้เพิ่มฟีเจอร์เข้ามาใน อสม.ออนไลน์ ตั้งแต่ปี 2562 เพื่อร่วมกันเฝ้าระวังและช่วยลดการระบาดโรคไข้เลือดออกได้ย่างต่อเนื่อง โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข AIS และทีม อสม.ยังคงเดินหน้าร่วมกัน ป้องกันการเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
“ปัจจุบันมี อสม. กว่า 5 แสนคนที่ Active การใช้งานภายในแอปฯ ทำให้ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ครัวเรือนประเทศไทย ได้รับการสำรวจลูกน้ำยุงลายและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ไปได้แล้วกว่า 5 ล้านหลังคาเรือน จากการสำรวจลูกน้ำยุงลายไปแล้วมากกว่า 1 ร้อยล้านครั้ง รวมถึงการนำข้อมูลสำหรับการทำงานเชิงรุกด้านสุขภาพของหน่วยงานด้านสาธารณสุข เพื่อตัดวงจรก่อนที่จะเกิดการระบาด เพื่อให้ประชาชนไทยสามารถเข้าถึงการมีสุขภาพที่ดีได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน สะท้อนได้จากข้อมูลสถิติผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกที่พบว่าอัตราผู้ป่วยลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการเข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง”
อย่างไรก็ตาม เอไอเอส ยังมีการพัฒนาฟังก์ชั่นภายในแอปฯ อสม.ออนไลน์ เพื่อต่อยอดการทำงานให้บริการด้านสุขภาพในหลายมิติ โดยเฉพาะการเฝ้าระวังให้กับชุมชน เช่น ช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ก็มีฟีเจอร์ที่รองรับการทำงานเชิงรุกเกี่ยวกับการบริหารจัดการข้อมูลโควิด-19 รวมไปถึงการเฝ้าระวังปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิตของคนไทย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเช่นเดียวกัน หรือแม้แต่การนำไปเป็นเครื่องมือในการสำรวจข้อมูลอื่นๆ ที่ต้องการทราบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น เช่น การสำรวจสารเคมีอันตรายต่างๆ ที่มีอยู่ในครัวเรือน เป็นต้น ซึ่งเอไอเอสมีความพร้อมในการพัฒนา Infrastructure ให้รองรับการนำไปต่อยอดเพื่อให้บริการด้านสุขภาพโดยเฉพาะในกรณีเร่งด่วนต่างๆ รวมทั้งการติดตามการใช้งานของกลุ่มผู้ใช้งานจริงอย่าง อสม. เพื่อพัฒนาให้ฟีเจอร์ต่างๆ User Friendly ใช้งานได้ง่าย และสะดวกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการได้มาซึ่งข้อมูลที่ถูกต้องและครอบคลุมเพิ่มมากยิ่งขึ้น หรือแม้แต่แนวทางในการเพิ่มการใช้งานไปยังภาคประชาชน เพื่อให้เทคโนโลยีดิจิทัลสามารถเข้าไปช่วยลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับการมีสุขภาพที่ดีของคนไทย ลดการเจ็บป่วยทั้งทางร่างกายหรือจิตใจลงได้อย่างแท้จริง