อุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นจากภาวะโลกร้อน ส่งผลต่อคุณภาพการนอนหลับของมุษย์

เราคงทราบกันดีว่าการนอนหลับเป็นกิจกรรมที่สำคัญอย่างมากสำหรับสิ่งมีชีวิต เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายได้พักผ่อนและอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายได้ซ่อมแซมตัวเอง โดยการนอนหลับที่ดีในระยะเวลาที่เพียงพอนอกจากจะทำให้เรารู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่าระหว่างวันแล้ว ยังมีส่วนทำให้อวัยวะต่างๆ ในร่างกายทำงานอย่างมีประสิทธิภาพขึ้นด้วย

ในทางกลับกัน การนอนไม่เพียงพอจะส่งผลให้เกิดอารมณ์หงุดหงิด การทำงานของร่างกายช้าลง และอาจส่งผลต่อปัญหาสุขภาพต่างๆ ตามมา

แต่รู้หรือไม่ว่า นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ได้ออกมาเผยว่า ภาวะโลกร้อนไม่เพียงก่อให้เกิดภัยธรรมชาติอย่างความแห้งแล้งและน้ำท่วมเท่านั้น แต่ยังมีผลโดยตรงต่อคุณภาพการนอนหลับของเราด้วย เนื่องจากอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นในเวลากลางคืนส่งผลให้มนุษย์เข้านอนช้าลงและตื่นเร็วขึ้น ทำให้ระยะเวลาการนอนหลับสั้นลง

ผลการศึกษาที่ได้ตีพิมพ์ในวารสาร One Earth ได้ระบุว่า ผู้เข้าร่วมในการศึกษาครั้งนี้ สูญเสียการพักผ่อนแม้ในสถานที่ที่มีอุณหภูมิไม่สูงมากนัก และมีปัญหาในการปรับตัวให้เข้ากับอุณหภูมิการนอนที่ท้าทายเล็กน้อย โดยนักวิจัยเตือนว่าอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น อาจส่งผลให้เรานอนหลับได้ไม่ดีเพิ่มขึ้นถึง 13-15 วันต่อปี ภายในปลายศตวรรษนี้

จากการศึกษาข้อมูลกจากอุปกรณ์ติดตามที่ติดไว้กับผู้เข้าร่วม ในการศึกษาระหว่างปี 2015 และปี 2017 จำนวน 50,000 คน จาก 68 ประเทศ พบว่า คนเหล่านั้นนอนได้มากที่สุดเมื่ออุณหภูมิภายนอกต่ำกว่า 50 องศาฟาเรนไฮท์ (10 องศาเซลเซียส) แต่เมื่ออุณหภูมิภายนอกสูงขึ้น การสูญเสียการนอนหลับก็จะเพิ่มสูงตาม โดยเมื่ออุณหภูมิภายนอกสูงถึง 86 องศาฟาเรนไฮท์ (30 องศาเซลเซียส) คนเหล่านั้นสูญเสียการนอนโดยเฉลี่ย 15 นาทีต่อคืน

“การสูญเสียการนอนหลับไป 15 นาทีอาจฟังดูไม่ใช่เรื่องใหญ่ โดยการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ชิ้นอื่นๆได้ชี้ให้เห็นว่า 15 นาทีนั้นน่าจะมาจากระยะเวลาการนอนหลับที่เรียกว่า “การหลับลึก” หรือ “Slow wave” ซึ่งการหลับลึกจะเกิดขึ้นประมาณ 1 ชั่วโมงต่อคืน ดังนั้นการสูญเสียการนอนหลับไป 15 นาที หรือเพียงแค่ 5 นาทีก็เป็นการลดช่วงเวลาของการฟื้นฟูร่างกายไปนั่นเอง” Sara Mednick นักวิจัยด้านการนอนหลับแห่งมหาวิทยาลัย California, Irvine กล่าว

นอกจากนี้ ระยะเวลาการสูญเสียการนอนหลับยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆด้วย เช่น อายุ เพศ ถิ่นที่อยู่อาศัย (ประเทศยากจนกว่าได้รับผลกระทบมากกว่าคนในประเทศร่ำรวย) เป็นต้น โดยจากการศึกษาจากสภาวะความร้อนเดียวกันพบว่า คนบางกลุ่มได้รับผลกระทบที่ร้ายแรงกว่า เช่น คนอายุ 70 ปีขึ้นไป ที่รู้สึกตัวง่ายกว่ากลุ่มอายุอื่น สูญเสียการนอนหลับไป 30 นาที และกลุ่มผู้หญิงสูญเสียการนอนหลับไป 25%

นักวิจัยกล่าวทิ้งท้ายว่า การจำกัดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศให้ได้มากที่สุดคงเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยหยุดยั้งการสูญเสียการนอนหลับในแต่ละคืนได้อย่างเท่าเทียมกัน

source

source

 

Stay Connected
Latest News