เป็นที่ชัดเจนแล้วสำหรับผลการเลือกต้ังผู้ว่ากรุงเทพมหานคร คนที่ 17 โดยผู้ที่ได้ตำแหน่งไปแบบไม่ผิดโผ ได้แก่ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เจ้าของฉายา “รัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี” กับบทบาทครั้งใหม่ในฐานะพ่อเมืองกรุงเทพฯ เรียกได้ว่าเป็นการรับตำแหน่งฉลองวันเกิดในวันที่ 24 พ.ค. นี้ กันเลยทีเดียว ซึ่งต้องมาดูว่าความแข็งแกร่งของท่านผู้ว่าฯคนใหม่จะสามารถต้านทานสารพัดปัญหาที่รุมเร้าคนกรุงเทพฯ กันได้มากน้อยแค่ไหน
สำหรับวิสัยทัศน์ นโยบาย และแนวทางในการทำงาน มาจากการศึกษาถึงปัญหาจริงๆ ที่คนกรุงเทพฯ กำลังเผชิญ ผ่านอาสาสมัครและการเข้าพื้นที่พบกับคนที่อยู่อาศัยทั่วกรุงเทพฯ เพื่อเก็บข้อมูล และนำมาวิเคราะห์ร่วมกับทีมทำงาน เพื่อนำมาวางเป็นโซลูชั่นไปสู่การแก้ปัญหาร่วมกับทีมทำงาน โดยมีเป้าหมายสำคัญที่นำมาใช้เป็นนโยบายเพื่อให้ทุกคนมีภาพไปในทางเดียวกัน คือ “กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน”
โดยได้วางดัชนีชี้วัดความเป็นเมืองน่าอยู่ (The Global Liveability Index) ของ Economist Intelligence Unit (EIU) เพื่อเป็นพื้นฐานในการจัดกลุ่มนโยบายและ ดัดแปลงให้ครอบคลุมบริบทของเมืองกรุงเทพฯ นำมาสู่ “กรุงเทพฯ 9 ดี” หรือ นโยบาย 9 มิติ ซึ่งประกอบด้วยหัวข้อหรือปัญหาที่ต้องขับเคลื่นเพื่อให้ได้รับการแก้ไขรวมทั้งสิ้น 214 เรื่อง ซึ่งในบางเรื่องก็มีความซับซ้อนอยู่ในหลายมิติ ประกอบด้วย 1. ปลอดภัยดี จำนวน 34 เรื่อง 2. สร้างสรรค์ดี 20 เรื่อง 3. สิ่งแวดล้อมดี 34 เรื่อง 4. เศรษฐกิจดี 30 เรื่อง 5. เดินทางดี 30 เรื่อง 6. สุขภาพดี 34 เรื่อง 7. โครงสร้างดี 34 เรื่อง 8. เรียนดี 28 เรื่อง และ 9. บริหารจัดการดี จำนวน 31 เรื่อง
โดยเฉพาะในมิติที่เกี่ยวข้องกับการดูแลจัดการสิ่งแวดล้อม มีปัญหาที่ต้องเข้าไปแก้ไขในหลากหลายหมวดหมู่ ทั้งเรื่องของการขนส่ง สาธารณะ อากาศ ขยะ หาบเร่แผงลอย พื้นที่สีเขียว จราจร จักรยาน พื้นที่สาธารณะ สัตว์ ความมั่นคงของคนไร้บ้าน และการแก้ไขจัดการเรื่องปัญหาน้ำเสีย
และนี่คือปัญหาทั้ง 34 เรื่อง ที่ท่านผู้ว่าฯ คนใหม่ต้องเข้าไปแก้ไขเพื่อสร้างให้เกิด “สิ่งแวดล้อมดี” ประกอบด้วย
1. เพิ่มรถเมล์สายหลักและสายรองราคาถูกราคาเดียว
2. จัดทีมนักสืบฝุ่นศึกษาต้นตอพีเอ็ม 2.5
3. ตรวจสอบคุณภาพอากาศเชิงรุกในโรงงาน
4. ดำเนินการทางกฏหมายกับผู้ที่ปล่อยมลพิษ
5. สนับสนุนให้เกิด Ecosystem รถพลังงานไฟฟ้า
6. ขยายระบบการติดตามและแจ้งเตือนฝุ่นสู่ระดับแขวง 1000 จุด
7. ลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในชั่วโมงเร่งด่วนบริเวณ Low Emission Zone
8. ตรวจจับรถควันดำจากต้นตอ
9. เตรียมโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมรองรับพื้นที่การค้าหาบเร่แผงลอย
10. พัฒนาพื้นที่ปลอดฝุ่น (BKK Clean Air Area) ด้วยต้นไม้สำหรับพื้นที่เปิด ด้วยเครื่องฟอกอากาศสำหรับพื้นที่ปิด
11. ปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง
12. พยากรณ์แจ้งเตือนป้องกันฝุ่นพีเอ็ม 2.5
13. รณรงค์สิทธิ์และระเบียบวินัยพลเมืองในเรื่องการจราจร ความสะอาด คอรัปชั่น สิ่งแวดล้อม
14. จัดหารุกขกรมืออาชีพดูแลต้นไม้ประจำเขต
15. จุดจอดจักรยานคุณภาพ ปลอดภัย ทุกจุดเชื่อมต่อขนส่ง
16. สวน 15 นาทีทั่วกรุง
17. สนับสนุนการแปลงที่ของประชาชน และเอกชนให้เป็นพื้นที่สีเขียว
18. เพิ่มเวลา เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวก เพิ่มการเข้าถึงสวนและพื้นที่สาธารณะ
19. พิจารณาให้นำสัตว์เลี้ยงไปออกกำลังกายในสวน กทม. ได้
20. ขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงตลอดช่วงชีวิต
21. จัดระเบียบสัตว์จร แก้ปัญหาผ่านการจัดการอย่างเป็นระบบ
22. สร้างต้นแบบการแยกขยะ ต่อยอดในการแยกขยะระดับเขต สมบูรณ์ครบวงจร
23. สภาพแวดล้อมเมืองดี ทิ้งขยะถูกสุขอนามัย ไม่มีขยะตกค้าง
24. มุ่งเน้นแยกขยะต้นทาง และขยะเปียกจากองค์กรแบบมุ่งเป้า
25. พัฒนาต้นแบบ (BKK Food Bank )ส่งต่ออาหารให้กลุ่มเปราะบางอย่างเป็นรูปธรรม
26. รถขยะไซส์เล็ก เข้าใจเมือง เข้าถึงบ้าน
27. คาร์บอนคุมได้ กทม. ปลอดคาร์บอน (BMA Net Zero)
28. ส่งขยะคืนสู่ระบบ
29. เพิ่มสวัสดิการพนักงานเก็บและขนขยะ
30. ติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียชุมชน
31. มุ่งเป้าติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียต้นทาง (Onsite Treatment)
32. ทบทวนแผนก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียรวม และเชื่อมต่อท่อรวบรวมน้ำเสียที่มีอยู่เดิม
33. สร้างห้องน้ำสาธารณะที่ดีในพื้นที่สาธารณะ
34. ลดฝุ่นลดค่าใช้จ่ายของประชาชนในการปรับปรุงเครื่องยนต์เก่า
ภาพ : Facebook ชัชชาติ สิทธิพันธุ์