หลายท่านคงได้เห็นถุงหิ้วสีรุ้ง เวอร์ชันลิมิเต็ดล่าสุดจากทางอิเกีย ที่ผลิตขึ้นมาและเริ่มลอนช์ในวันไอดาฮอท (IDAHOT) ซึ่งเป็นวันที่รณรงค์เกี่ยวกับการสร้างความเท่าเทียมกันให้แก่กลุ่ม LGBTQ ตรงกับวันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปี รวมถึงเฉลิมฉลอง Pride Month ในเดือนมิถุนายนอีกด้วย และอาจจะทราบดีถึงนัยยะที่ซ่อนอยู่ของสีรุ้ง ซึ่งสะท้อนถึงการสร้างความเท่าเทียมกัน
ขณะที่อิเกียได้ใช้โอกาสนี้จัดแคมเปญ “Make The World Everyone’s Home บ้าน…ที่ทุกคนเป็นตัวเองได้เต็มที่” เพื่อสื่อสารถึงวัฒนธรรม และคุณค่าขององค์กร ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความหลากหลาย ความเท่าเทียม และความเสมอภาคในองค์กร โดยออกสินค้ารุ่นพิเศษ ที่ใช้สัญลักษณ์ธีมสีรุ้งมาเป็นไฮไลท์ โดยเฉพาะหนึ่งในไอเท็มเด่นของแบรนด์ที่คุ้นตากันดีคือ กระเป๋าอิเกีย กระเป๋าชอปปิ้งสีฟ้าใบใหญ่ ที่เมื่อเห็นคนถือก็สามารถ Represent ได้ถึงความเป็นอิเกีย จึงไม่พลาดที่จะหยิบมาเพื่อสะท้อนการสนับสนุนในการยอมรับความแตกต่าง และเท่าเทียมกันในครั้งนี้ด้วย
สำหรับกระเป๋าสีรุ้งนี้ มีชื่อรุ่นอย่างเป็นทางการว่า “รุ่น STORSTOMMA/สตอร์สต็อมม่า” มี 2 ขนาด คือ 27x18x27 ซม. ราคา 59 บาท และ 55x37x35 ซม. ราคา 99 บาท โดยเริ่มจำหน่ายที่สโตร์อิเกีย และทางออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคมเป็นต้นไป นอกจากนี้ยังได้จัดทำเสื้อยืดคอลเลคชั่นพิเศษ ดีไซน์ด้วยสัญลักษณ์สีรุ้ง สกรีน “Make the world everyone’s home” ราคา 299 บาท นำรายได้ทั้งหมดที่จำหน่ายได้ระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม – 14 มิถุนายน 2565 โดยไม่หักค่าใช้จ่าย ร่วมบริจาคให้สมาคมฟ้าสีรุ้ง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำงานด้านการส่งเสริมความเท่าเทียมกันมาเป็นะระยะเวลานาน
ขณะที่แคมเปญ “Make The World Everyone’s Home บ้าน…ที่ทุกคนเป็นตัวเองได้เต็มที่” เพื่อสะท้อนวิสัยทัศน์องค์กร “สร้างสรรค์ชีวิตที่ดีกว่าให้กับคนทั่วไปในทุกๆ วัน” ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการคิด การทำงานของอิเกียในทุกแง่มุม รวมถึงวัฒนธรรมที่เคารพทุกความแตกต่างของทุกคน ไม่ว่าจะทางด้านอายุ ภาษา วัฒนธรรม เพศวิถี ศาสนา หรือความแตกต่างของร่างกาย เพื่อให้อิเกียเป็นองค์กรที่เปิดกว้างพร้อมที่จะต้อนรับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน
ยั่งยืนมากกว่า ถ้าขับเคลื่อนองค์กรด้วยความสุข
คุณลีโอนี่ ฮอสกิ้น ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจค้าปลีก อิเกีย ประเทศไทย และเวียดนาม กล่าวถึง ทิศทางการรขับเคลื่อนธุรกิจอิเกีย จะให้ความสำคัญกับการสร้างความเท่าเทียม หลากหลาย และเปิดโอกาสให้พนักงานทุกคนได้แสดงศักยภาพของตัวเองออกมาได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยเฉพาะการขยายธุรกิจไปในพื้นที่ใดๆ ก็จะเปิดโอกาสให้คนในประเทศนั้นๆ สามารถเป็นผู้บริหาร รวมทั้งการสร้างความเท่าเทียมและเปิดโอกาสให้ผู้หญิงสามารถขึ้นเป็นผู้บริหารได้ไม่ต่างจากผู้ชาย โดยสัดส่วนพนักงานชายและหญิงมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน รวมทั้งการดูแลทั้งโอกาสในการเติบโต รวมทั้งสวัสดิภาพและสวัสดิการต่างๆ ของพนักงานอย่างเหมาะ เช่น การอนุญาตให้พนักงานหญิง ลาคลอดได้ 4 เดือน ขณะที่พนักงานชาย ก็สามารถลาไปเพื่อดูแลครอบครัวหลังจากภรรยาคลอดได้ 1 เดือนเช่นกัน
นอกจากนี้ อิเกียยังให้ความสำคัญกับการเลือกบุคลากร โดยดูจากความสามารถที่เหมาะสมกับงาน และให้ความสำคัญกับคุณค่าของพนักงานทุกคนเป็นสำคัญ เพื่อเปิดโอกาสให้เติบโตตามสายงาน โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นเพศใด สภาพร่างกายเป็นแบบใด หรือแม้แต่การดูแลสวัสดิภาพอย่างทั่วถึงไม่ว่าจะเป็นพนักงานประจำหรือพนักงานพาร์ทไทม์ ก็มีสิทธิได้รับสวัสดิการและการดูแลไม่แตกต่างกัน รวมทั้งยังสนับสนุนการจ้างงานในพื้นที่ ซึ่งสัดส่วนพนักของอิเกีย ในประเทศไทย เป็นคนไทยถึง 95% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงมากที่สุดของอิเกีย รวมทั้งยังเป็นประเทศที่มีสัดส่วนผู้บริหารผู้หญิงสูงมากที่สุดอีกด้วย
นอกจากนี้ อีกหนึ่งดัชนีการวัดผลความสำเร็จในมิติที่สำคัญของอิเกีย นอกจากการเติบโตในเชิงธุรกิจแล้ว การสร้างองค์กรให้เป็นองค์กรที่มีความสุข เพื่อเป็นหนึ่งใน Employer of Choice หรือการเป็นองค์กรที่ผู้คนอยากจะมาร่วมงานด้วย เป็นอันดับต้นๆ และเปิดกว้างให้กับทุกความหลากหลายและแตกต่าง เพื่อให้เป็นองค์กรที่มีทั้ง Diversity-Equality-Inclusion ซึ่งในแต่ละปีทางอิเกียท่ัวโลก จะมีการสำรวจความคิดเห็นพนักงานมีต่อนโยบายด้านต่างๆ ขององค์กร ทั้งความหลากหลาย การเปิดโอกาส เพื่อให้พนักงานให้คะแนนและประเมินความพึงพอใจที่มีต่อองค์กร โดยพนักงานส่วนใหญ่มีความรักองค์กร และยังคงมีความสุขในการทำงาน ซึ่งทางอิเกียจะพยายามรักษาและเพิ่มอันดับความพึงพอใจเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่เพียงแค่การดูแลพนักงานภายในองค์กรเท่านั้น แต่อิเกียยังให้ความสำคัญกับการมอบความสุขให้กับชุมชนโดยรอบในฐานะส่วนหนึ่งของสังคมนั้นๆ
ขณะเดียวกัน อิเกียยังได้สะท้อนข้อมูลให้ฟังได้อย่างน่าสนใจ คือ พนักงานส่วนใหญ่ที่ทำงานกับอิเกีย ส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่เพราะค่าตอบแทน และอิเกียก็เลือกที่จะไม่แข่งขันด้วยการจ่ายสูงๆ เพื่อดึงดูดคนเก่งมาร่วมงาน แม้ว่าอิเกียจะไม่ใช่สายเปย์ที่ให้ค่าตอบแทนสูงที่สุดในตลาด แต่ก็จะจ่ายค่าตอบแทนให้กับพนักงานทุกคนอย่างเหมาะสม ทำให้พนักงานส่วนใหญ่มีความรักองค์กร และมีความสุขในการทำงาน รวมทั้งยังเลือกที่อยู่กับอิเกียต่อไป สะท้อนได้ว่า วัฒนธรรมในการทำงาน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อิเกียสามารถสรรหาบุคลากรที่มีความสามารถมาร่วมกันได้มากกว่าแค่ปัจจัยจากเรื่องเงินเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างการเติบโตให้กับองค์กรได้อย่างยั่งยืนมากกว่า
ส่วนมุมมองที่มีต่อประเทศไทยเรื่องการให้ความสำคัญด้านความหลากหลาย เท่าเทียม และความเสมอภาค คุณลีโอนี่ มองว่า “ประเทศไทยถือว่ามีความเปิดกว้างในประเด็นเหล่านี้ค่อนข้างมากที่สุดประเทศหนึ่ง จากที่เคยได้มีโอกาสสัมผัสมาเลยทีเดียว”