เพราะศิลปะไม่ได้จำกัดอยู่แค่ภาพวาดบนผืนผ้าใบ ไม่มีถูก ไม่มีผิด แต่คือการสร้างสรรค์ผ่านประสบการณ์ สิ่งรอบตัว และจินตนาการ ทุกคนจึงสามารถสร้างสรรค์ศิลปะได้ ผู้พิการทางสายตาก็เช่นกัน
แม้พวกเขาอยู่ในโลกแห่งความมืด มองไม่เห็นแสงสี แต่จินตนาการที่ไร้ขีดจำกัดของเขาเหล่านั้นสามารถรังสรรค์งานศิลป์ออกมาได้น่าสนใจไม่แพ้กัน
สัญชัย อภิศักดิ์ศิริกุล กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่การเงินและสนับสนุนธุรกิจ ธนาคารยูโอบี(ไทย) บอกว่า ทางธนาคารยูโอบีได้มีแนวทางที่ชัดเจนในเรื่องของการสนับสนุนโครงการทางด้านศิลปะ การศึกษา และเยาวชน ในทุกประเทศที่องค์กรตั้งอยู่ กิจกรรมเวิร์คช็อป “ศิลปะสัมผัสได้” นอกจากจะเป็นการเติมเต็มจินตนาการผ่านงานฝีมือให้กับผู้พิการทางสายตา โดยมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะเพื่อผู้พิการทางสายตา ร่วมด้วยอาสาสมัครพนักงานธนาคารยูโอบีร่วมกิจกรรมในแต่ละครั้ง กิจกรรมนี้ยังสามารถทำเป็นงานฝีมือและยังสามารถต่อยอดให้เกิดเป็นอาชีพสร้างรายได้ได้ ที่สำคัญช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้พิการทางสายตาในการใช้ชีวิตอีกด้วย
ธนาคารยูโอบี (ไทย) จึงได้ดำเนินโครงการ UOB Please Touch หรือ “โครงการกรุณาสัมผัส” ขึ้นตั้งแต่ปี 2559 โดยมุ่งยกระดับการเรียนการสอนศิลปะให้กับผู้พิการทางสายตาที่มีความสนใจด้านศิลปะ อายุระหว่าง 10-60 ปี เพื่อสร้างโอกาสสู่การเป็นศิลปินอาชีพ โดยจัดเป็นกิจกรรมเวิร์คช็อป “ศิลปะสัมผัสได้”
รศ.ทักษิณา พิพิธกุล อาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ สะท้อนมุมมองว่าศิลปะคือการสร้างสรรค์ที่หลากหลาย ไม่ได้จำกัดขอบเขตเฉพาะคนที่มองเห็นเท่านั้น เพราะปัจจุบันทัศนศิลป์มีการขยายขอบเขตที่กว้างมากขึ้น มีการใช้สื่อและวัสดุที่หลากหลายมากขึ้น งานบางชิ้นสามารถจับต้องได้ สามารถเล่นกับชิ้นงานได้ ถือเป็นการชมศิลปะได้ครบถ้วนสมบูรณ์แบบ
“น้องๆ ผู้พิการทางสายตาจึงเข้ากันได้ดีกับงานศิลปะ สร้างความภูมิใจกับผลงานศิลปะที่น้องๆได้ทำ เพราะเค้ารู้ว่าสามารถทำอะไรบางอย่างที่เกิดขึ้นในใจ ให้เกิดเป็นชิ้นงานขึ้นมาได้ สร้างความภูมิใจ ความสนุก เรียนรู้จากตัวเองว่าเรามีความสามารถอะไร เป็นการเปิดโอกาสให้กับตัวเองในอนาคต ซึ่งอาจกลายเป็นศิลปินในอนาคตได้ หรือการนำแนวคิดตรงนี้ไปทำเป็นอาชีพก็ได้ ซึ่งในอนาคตพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยเริ่มมีนโยบายในการปรับตัวพิพิธภัณฑ์ที่จะต้อนรับกับคนที่มีความต้องการพิเศษมากยิ่งขึ้น ในอนาคตถ้าน้องๆอยากที่จะทำงานในพิพิธภัณฑ์ก็จะมีความเป็นไปได้ยิ่งขึ้น ”
น้องนุช ผู้พิการทางสายตา โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพที่เข้าร่วมกิจกรรมเวิร์คช็อป เล่าให้ฟังว่าก่อนหน้านี้ถ้าพูดถึงงานศิลปะอย่างมากก็แค่ระบายสีแล้วก็วาดรูป ซึ่งชอบงานศิลปะมาก แต่ก็ไม่มีโอกาสได้ทำ พอได้เข้ามาเรียนรู้ถึงความหมาย ทฤษฎีต่าง รูปทรง เทคนิคการสร้างผลงาน ก็รู้สึกดีใจและชอบมาก พอได้ลงมือทำงานศิลปะการใช้เชือก การถัก การปัก ก็ดีใจมาก อยากทำแบบนี้มานานแล้วตั้งแต่เด็กๆ
“หนูมาร่วมเข้าเรียนเวิร์คช็อปเกือบทุกครั้ง เพราะชอบมาก ไม่มีโอกาสได้ทำแบบนี้ ประสบการณ์ ทักษะที่ได้รับดีมาก สามารถนำไปพัฒนาเป็นอาชีพได้ ผลงานศิลปะบางชิ้นอาจนำไปขายสร้างรายได้ โตขึ้นหนูอยากเป็นครูสอนศิลปะ และถ้าหากหนูพัฒนาฝีมือขึ้นไปอีก หนูก็อยากเป็นศิลปินสร้างผลงานให้คนได้รับรู้และจดจำ และให้คนอื่นรู้ว่าผู้พิการทางสายตาก็มีความสามารถไม่แพ้คนมองเห็นปกติคะ”
หลังจากที่ผ่านคอร์สเรียนภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติทางด้านศิลปะทั้ง 5 วิชา ศิลปะการม้วนกระดาษ ศิลปะการปักผ้าแบบญี่ปุ่น ศิลปะการถัดเชือกเมคราเม่ ศิลปะการทอผ้าด้วยกี่มือ และศิลปะจากปลายเชือก ผู้พิการทางสายตาที่เข้าเรียนต่างได้รับความรู้ ประสบการณ์ ความมั่นใจ และความสุขติดตัวและติดอยู่ในใจไป ซึ่งพวกเขาทุกคนต่างปรารถนาที่จะส่งต่อความสุขเหมือนที่พวกเขาได้รับให้กับคนรอบข้าง การ์ดอวยพรความสุขในช่วงเทศกาลปีใหม่จึงได้รับการสร้างสรรค์ขึ้น โดยฝีมือและรอยยิ้มของพวกเขา
“ตั้งใจที่จะส่งความสุข จากฝีมือที่พวกเราได้เรียนมา ผ่านการ์ดอวยพรปีใหม่” สาลินี ลิขิตพัฒนกุล อายุ 30 ปี
“อยากให้คนรับมีความสุข ในช่วงปีใหม่นี้ เหมือนที่หนูทำงานนี้ให้กับเค้า” จิดาภา พิศวง อายุ 13 ปี
“พวกเราได้ต่อยอดสิ่งที่เราได้เรียนมา เพื่อจะทำการ์ดคริสต์มาสและปีใหม่ ให้คนที่พวกเราคิดถึง อยากให้พวกเขารู้สึกภูมิใจ ให้พวกเขารู้สึกนึกถึงเรา เหมือนที่เรานึกถึงพวกเขา” นงนาถ หุ่นสุวรรณ อายุ 62 ปี
แม้จะมองไม่เห็น อยู่ในโลกความมืด แต่ศิลปะก็ขัดเกลาจิตใจและสามารถยกระดับ สร้างคุณค่า เพิ่มศักยภาพของคนเราได้ เพราะมุมมองศิลปะสวยไม่สวยไม่ได้อยู่แค่การมองเห็น แต่หากใช้ใจเปิดรับและสัมผัสถึงความหมายอันลึกซึ้งของงานศิลปะได้