“การนำขยะพลาสติกมารีไซเคิล (Recycle) เพื่อใช้ในงานสถาปัตยกรรม หรือ Up-Cycling Design ถือเป็นการรีไซเคิลที่มีความยั่งยืน เพราะนอกจากจะเป็นการช่วยโลกลดปริมาณขยะแล้ว ยังมีส่วนช่วยให้สถาปัตยกรรมการก่อสร้าง มีอายุการใช้งานที่ยาวนานนับสิบปี เมื่อเทียบกับการนำมารีไซเคิลด้วยวิธีอื่นๆ ซึ่งมีขั้นตอนที่ไม่ซับซ้อน จะมีความต้องการวัสดุจำนวนมากในการสร้าง”
หนึ่งในแนวความคิดของนักศึกษาคณะสถาปัตย์ จากรั้วพระจอมเกล้าลาดกระบัง “น้องต้า” หรือ พงศ์สุริยะ สกลภูวรักษ์ ที่สามารถถ่ายทอดหลักคิดสู่งานดีไซน์แลนด์มาร์คจนคว้ารางวัลชนะเลิศ จากเวทีการประกวดออกแบบ Landmark ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แก่ชุมชนบ้านอำเภอ พัทยา จังหวัดชลบุรี เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา
พงศ์สุริยะ สกลภูวรักษ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขา ภูมิสถาปัตยกรรม ภาควิชา สถาปัตยกรรมและการวางแผน คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เล่าว่า ด้วยโจทย์ที่ได้รับจากผู้นำชุมชนที่มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์เชิงพื้นที่ของ ‘อาคารพักสายตรวจ’ สถานีบริการประชาชนขนาดเล็กภายในชุมชนบ้านอำเภอ ที่ปัจจุบันมีความชำรุดทรุดโทรมจากการใช้งานมานานหลายปี แต่ด้วยข้อจำกัดด้านจำนวนเจ้าหน้าที่ที่ไม่เพียงพอ และการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน จึงเกิดเป็นไอเดียในการออกแบบให้อาคารแห่งนี้ กลายเป็น Landmark ใหม่ของชุมชน ที่นอกจากการเป็นจุดพักสายตรวจแล้ว ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่ทุกคนในชุมชน ตลอดจนนักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด
โดยวัสดุที่นำมาใช้ในการก่อสร้างสถาปัตยกรรมครั้งนี้ ได้ผ่านการศึกษาแหล่งอ้างอิงถึงความเป็นไปได้ในการใช้งานจริงเรียบร้อยแล้ว โดยประกอบด้วยขยะพลาสติก
“ขยะพลาสติก” สู่บล็อกปูพื้นที่ทนต่อแรงสั่นสะเทือน เนื่องจากมีรายงานระบุว่า ถุงพลาสติกมากกว่า 2 ล้านตัน ถูกพบว่ายังคงตกค้างในสิ่งแวดล้อมถึง 79% อีกทั้งยังพบผลสำเร็จของการชุบชีวิตขยะพลาสติกชนิดอ่อน เช่น แก้ว ถุง หลอด ของ ผศ. ดร.เวชสวรรค์ หล้ากาศ ที่ได้นำมาหลอมเหลวเพื่อขึ้นรูปใหม่ จนได้ “บล็อกปูพื้น” มาใช้ทดแทนยางมะตอย ที่มีน้ำหนักเบา แข็งแรง อีกทั้งยังสามารถรับแรงสั่นสะเทือนได้ดี
“ขวดพลาสติก” สู่อิฐที่เบากว่าทั่วไปถึง 2 เท่า หนึ่งในขยะพลาสติกที่ก่อให้เกิดขยะจำนวนมหาศาลเช่นกัน โดยเฉพาะขวดที่บรรจุเครื่องดื่ม ที่บางส่วนถูกนำไปรีไซเคิลอย่างเหมาะสม ขณะที่บางส่วนจะถูกปล่อยทิ้งฝังกลบหรือหลุดลงทะเล ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว จึงได้ต่อยอดไอเดียจากองค์กร Ecoinclusion ประเทศอาร์เจนติน่า ที่นำขยะขวดพลาสติกมาบดละเอียดแล้วนำไปผสมกับคอนกรีต จนได้เป็น “อิฐมวลเบา” ที่มีส่วนผสมของพลาสติกรีไซเคิลประมาณ 1 กิโลกรัมต่อก้อน น้ำหนักเบากว่าอิฐทั่วไปถึง 2 เท่า อีกทั้งยังมีความทนทานและเป็นฉนวนกันความร้อนได้ดีกว่าอิฐทั่วไปอีกด้วย
สำหรับแลนด์มาร์คแห่งนี้โดดเด่นด้วย “ใบเรือขนาดใหญ่” ที่ทำมาจากผ้าใบสีขาว ยืนตระหง่านบริเวณดาดฟ้าของตัวอาคาร เพื่อสื่อสารถึงชุมชนวิถีที่มีความใกล้ชิดกับท้องทะเลและมีอาชีพหาเลี้ยงครอบครัวด้วยการประมง เรียกได้ว่าถ้านึกถึงชลบุรีก็ต้องนึกถึงทะเลหรือเรือใบ นอกจากนี้ เท่าที่ พงศ์สุริยะ ได้ทำหารศึกษาข้อมูลแลนด์มาร์คในที่ต่างๆ ยังไม่พบการนำเอาใบเรือมาองค์ประกอบของงานดีไซน์ โดยใบเรือขนาดใหญ่นี้ จะสร้างสีสันและให้อรรถรสที่แตกต่างกันในสองช่วงเวลา คือ ช่วงเวลากลางวัน จะคงสีขาวเด่นเป็นเอกลักษณ์ตัดกับท้องทะเลสีฟ้าคราม ขณะที่ช่วงกลางคืนจะมีการทำ Project Mapping ด้วยการฉายแสงโปรเจคเตอร์ ไปยังผ้าใบ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมแสงสี พร้อมกับสัมผัสบรรยากาศสุดชิคยามค่ำคืน
ทั้งนี้พงศ์สุริยะ ได้ทำการออกแบบตัวอาคารให้มีพื้นที่ใช้สอยที่ตอบโจทย์การใช้งานของทุกคน ทั้งเจ้าหน้าที่ ชุมชน ตลอดจนนักท่องเที่ยว ในลักษณะอาคาร 2 ชั้น บนพื้นที่ขนาด 640 ตารางเมตร ดังนี้
โดยชั้นล่าง พื้นที่ทำงานของเจ้าหน้าที่ ที่แบ่งออกเป็น 4 โซน ประกอบด้วย ‘Commu(nity) Service’ โซนให้บริการข้อมูลนักท่องเที่ยวบริเวณหน้าต่างด้านข้างอาคาร ‘Complain’ โซนรับเรื่องร้องทุกข์หรือแจ้งเหตุกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ‘Car Park’ โซนจอดรถของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้พร้อมต่อการออกปฏิบัติหน้าที่จำนวน 3 คัน ‘Take a rest’ โซนพักผ่อนของเจ้าหน้าที่เพื่อพักผ่อนก่อนการกลับมาทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังมีการออกแบบห้องน้ำตามหลักอารยสถาปัตย์ (Universal Design) หนึ่งในรายวิชาที่เรียนที่คณะ ซึ่งเน้นสร้างความเท่าเทียมในการใช้บริการของผู้สูงอายุและผู้พิการรวม 4 ห้อง
ส่วนชั้นบน ลานใบเรือขนาดใหญ่ พื้นที่สำหรับทุกคนในครอบครัว ด้วยการจัดสรรพื้นที่ที่เหมาะสำหรับการวิ่งเล่นหรือปลดปล่อยจินตนาการของเด็กๆ ได้อย่างเต็มที่ มีม้านั่งสำหรับนั่งเล่นพักผ่อน หรือเลือกมาถ่ายรูปเล่นเก๋ๆ โดยมีวิวด้านหลังเป็นผืนทะเล นอกจากนี้ระหว่างทางขึ้นที่เชื่อมจากชั้นล่างไปยังชั้นบน มีการตกแต่งพื้นที่ด้วยต้นไม้และดอกไม้นานาชนิด เพื่อสร้างบรรยากาศความร่มรื่นให้กับพื้นที่ พร้อมดูดซับมลพิษ
“ สำหรับการเข้าร่วมประกวดงานออกแบบในโครงการดังกล่าวจะไม่ประสบความสำเร็จหรือได้รับรางวัลชนะเลิศได้ หากไม่ได้รับการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์จากรายวิชาต่างๆ จากคณะ และการให้คำปรึกษาตั้งแต่เริ่มต้นไอเดียไปถึงวันส่งผลงานเข้าประกวดจากอาจารย์เป็นที่ปรึกษา ผศ.ธีรชัย ลี้สุรพลานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชา สถาปัตยกรรมและการ ทั้งนี้ทางผู้นำชุมชนเตรียมวางแผนดำเนินการจัดสร้างให้แล้วเสร็จเร็วๆ นี้ เพื่อเป็นพื้นที่ส่วนกลางแก่คนในชุมชนให้สามารถออกไปใช้ชีวิตหรือเลือกพักผ่อนหย่อนใจได้ตามอัธยาศัย “ พงศ์สุริยะ กล่าวทิ้งท้าย