นับตั้งแต่วินาทีที่เราต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรค Covid-19 ในช่วงต้นปี 2020 จนถึงปัจจุบัน จำนวนขยะทางการแพทย์โดยเฉพาะหน้ากากอนามัยป้องกันโรคก็เพิ่มปริมาณขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจนกลายเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการจัดการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์แห่ง National University of Science and Technology (NUST MISiS) ได้จับมือกับนักวิจัยชาวอเมริกันและเม็กซิกัน ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ในการผลิตแบตเตอร์รี่ หรือ ถ่านไฟฉายราคาประหยัดที่ได้จากขยะหน้ากากอัพไซเคิลที่ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อด้วยอัลตร้าซาวน์ก่อนที่จะนำมาใช้งานเพื่อให้มั่นใจว่าถ่านไฟฉายที่จะผลิตขึ้นมานั้นปลอดภัยจากเชื้อโรค
สำหรับกระบวนการผลิต ทางนักวิจัยได้เล่าให้ฟังว่า พวกเขาจะนำหน้ากากไปชุบหมึกแกรฟีนและนำไปผ่านความร้อนที่ระดับ 140 องศาเซลเซียส หลังจากนั้นจะนำไปบีบอัดเพื่อให้เกิดอิเล็กโทรดนำไฟฟ้าสำหรับการใช้ในถ่านไฟฉาย โดยอิเล็กโทรดเหล่านี้จะถูกแยกออกโดยการใช้หน้ากากอัพไซเคิลชิ้นอื่นวางเป็นชั้นฉนวน หลังจากนั้นถ่านไฟฉายนี้จะถูกห่อหุ้มด้วยวัสดุห่อหุ้มที่ผลิตจากซองยาอัพไซเคิลซึ่งนับเป็นการจบขั้นตอนการผลิต
ด้านนักวิจัยได้แสดงผลการทดลองว่าถ่านไฟฉายดังกล่าวมีกำลังไฟถึง 99.7 วัตต์ชั่วโมงต่อกิโลกรัม ซึ่งมีกำลังไฟใกล้เคียงกับแบตเตอร์รี่ลิเธียมไอออนมาตรฐาน โดยก่อนหน้านี้ ทางนักวิจัยได้ทดลองผลิตอิเล็กโทรดสำหรับตัวเก็บประยิ่งยวดจากหลากหลายวัสดุแล้ว เช่น กะลามะพร้าว แกลบ กระดาษหนังสือพิมพ์ หรือแม้แต่ยางรถยนต์ ซึ่งวัสดุเหล่านี้ต้องใช้ความร้อนสูง และท้ายที่สุดกลับพบว่าหน้ากากอนามัยใช้แล้วเป็นวัสดุที่ใช้ง่ายและราคาประหยัดกว่าในการดำเนินการ
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ทีมนี้ยังมีแผนที่จะต่อยอดด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่นี้ เพื่อการผลิตแบตเตอร์รี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า สถานีพลังงานแสงอาทิตย์ และอื่นๆอีกมากมายในอนาคต
credit
https://en.misis.ru/university/news/science/2022-01/7781/
https://www.trendhunter.com/trends/upcycled-facemasks