เชื่อหรือไม่ เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด การทำธุรกิจทุกอย่างมีส่วนทำลายสิ่งแวดล้อมไม่ทางตรงก็ทางอ้อม แม้ว่าเจ้าของธุรกิจอาจไม่ได้ตระหนักถึงผลที่ตามมาของการทำธุรกิจของเขาก็ตาม
การก่อเกิดของสตาร์ทอัพด้านสิ่งแวดล้อมจำนวนหนึ่งในยุคนี้เป็นจำนวนมkก จึงกลายเป็น “จุดตัด” ของการนำธุรกิจและเทคโนโลยีเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมาช่วยเปลี่ยนแปลงโลกในเชิงบวก
และนี่คือ 5 สตาร์ทอัพด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลก ที่อาสามากู้วิกฤติด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อตอบโจทย์ของธุรกิจในอนาคตที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมมากไปกว่านี้ โดยใช้ไอเดียและนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมา
1. Skeleton Technologies
Skeleton Technologies บริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติเยอรมันที่เป็นผู้พัฒนาและผลิตตัวเก็บประจุยิ่งยวดที่มาพร้อมกับความเข้มข้นของพลังงานและกำลังไฟ โดยเจ้าตัวเก็บประจุยิ่งยวดนี้สามารถกักเก็บพลังงานไฟฟ้าที่ได้จากการชาร์จในปริมาณมาก ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้กับรถยนต์ รถบัส หรือ รถไฟ และอื่นๆ นอกจากนี้ เทคโนโลยีดังกล่าวยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากแบตเตอร์รี่ดังกล่าวปล่อยของเสียเพียงเล็กน้อยเท่านั้นไม่เหมือนกับแบตเตอร์รี่แบบเดิมๆ โดยในปี 2015 Skeleton Technologies ยังได้รับรางวัล Best Startup อีกด้วย
2. Bakeys
ขยะช้อนและส้อมพลาสติกเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่หลายแบรนด์พยายามคิดหาวิธีแก้ปัญหาเนื่องจากพลาสติกมีส่วนปล่อยสารพิษสู่ธรรมชาติที่คุกคามการเจริญเติบโตของพืชและการดำรงชีวิตของสัตว์ในระบบนิเวศน์ จากรายงานพบว่า สหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียวทิ้งช้อนและส้อมพลาสติกลงถังเป็นจำนวน 40 ล้านชิ้นต่อปี
ด้วยเหตุดังกล่าวบริษัทสัญชาติอินเดียนามว่า Bakeys จึงคิดค้นช้อนและส้อมกินได้ที่มาพร้อมกับความยั่งยืนแทนการใช้ช้อนและส้อมพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียว ซึ่งสิ่งนี้ค่อนข้างต่างไปจากตัวเลือกอื่นๆที่ผลิตจากกระดาษที่มีความยั่งยืนมากกว่าแต่ใช้งานได้จริงน้อยกว่า
ผลิตภัณฑ์ของ Bakeys ผลิตขึ้นจากแป้งและส่วนผสมทางธรรมชาติหลากหลายชนิด เช่น ข้าวฟ่าง ข้าวสาลี ข้าวเจ้า และข้าวเดือย ผลิตตั้งแต่ช้อน ส้อม และตะเกียบ
3. Cirrus Shower
นับว่าเป็นอีกหนึ่งบริษัทสตาร์ทอัพที่จะทำให้การอาบน้ำของคุณยั่งยืนมากขึ้น เพราะ Cirrus Shower นำเทคโนโลยี CloudMaker ที่ใช้กระบวนการผลักดันน้ำออกอย่างรวดเร็วมาใช้ในการผลิตฝักบัวละอองน้ำที่จะทำให้การอาบน้ำของคุณประหยัดน้ำไปราว 45-75% เลยทีเดียว โดย Cirrus Shower มองว่ายิ่งในพื้นที่ที่มีน้ำสะอาดน้อยก็ยิ่งต้องให้ความสำคัญกับการใช้น้ำอย่างประหยัดนั่นเอง
4. Bowery Farming
Bowery Farming เป็นโปรเจ็คด้านเกษตรกรรมแนวตั้งที่ผลิตพืชผลทางการเกษตรในร่มหรือภายในพื้นที่การเกษตรอัจฉริยะ โดยการเกษตรรูปแบบนี้สามารถผลิตพืชผลท้องถิ่นได้โดยปราศจากการรบกวนจากแมลง สิ่งตกค้าง หรือสภาพอากาศรุนแรง
สตาร์ทอัพด้านสิ่งแวดล้อมรายนี้ยังมีการติดตามสินค้าทุกประเภทตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ไปจนถึงการเก็บรักษาผลผลิตเพื่อให้มั่นใจถึงความปลอดภัยและคุณภาพซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆที่ Bowery ตระหนัก
อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นไม่ได้ให้ประโยชน์ในแง่ของความสดกว่าและดีต่อสุขภาพมากกว่าเท่านั้น แต่การอุดหนุนสินค้าท้องถิ่นยังช่วยสนับสนุนกลุ่มผู้ผลิตในชุมชนท้องถิ่นแทนการซื้อสินค้าจากบริษัทใหญ่ๆอีกด้วย
5. Holganix
แม้ว่ายาฆ่าแมลงจะให้ผลลัพธ์ที่ดีมาก แต่มันก็มีอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตเกือบทุกชนิดที่สัมผัสสารเคมีเหล่านั้นและยังสามารถตกค้างได้ในอากาศ น้ำ และดิน
Holganix นำเสนออีกทางเลือกใหม่สำหรับเกษตรกรและคนรักต้นไม้ที่รักตัวเองและสิ่งอวดล้อมด้วย Holganix เป็นสตาร์ทอัพผลิตปุ๋ยอินทรีย์ 100% ที่ใช้แบคทีเรียกราว 800 สายพันธุ์ และ ราอีก 20 สายพันธุ์ โดยสตาร์ทอัพรายนี้ได้นำวิธีในการจัดการแมลงรบกวนแบบผสมผสาน หรือ Integrated Pest Management (IPM) ซึ่งเป็นวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการแก้ปัญหาแมลงรบกวน
นอกจากนี้ ปุ๋ยอินทรีย์ Holganix ยังมีประโยชน์ในแง่ของการลดการใช้น้ำ ช่วยให้ดินมีสุขภาพที่ดีขึ้น เพิ่มความยืดหยุ่นให้กับพืช และยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย
นี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างของสตาร์ทอัพด้านสิ่งแวดล้อมที่จะมีบทบาทในปี 2022 นี้ SD Thailand ก็หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่กำลังมองหาเทรนด์ในอนาคตเพื่อเริ่มต้นทำธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
Credit : https://trio.dev/blog/environmental-startups