จากปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า ในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคตะวันออก ประกอบด้วย จังหวัดระยอง ชลบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา และสระแก้ว เกิดจากช้างป่าบางโขลงออกหากินนอกพื้นที่ป่า ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง ส่งผลให้พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหายและประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน
“สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา” มีพระประสงค์ที่จะทรงช่วยเหลือทั้งคนและช้างตามโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ เพื่อให้ประชาชนสามารถสร้างอาชีพและรายได้ที่ยั่งยืน โดยกรมการพัฒนาชุมชน ส่งเสริมการสร้างอาชีพ พัฒนาผลิตภัณฑ์ สู่ตลาดใช้พื้นที่หมู่บ้านเป็นศูนย์กลางการบูรณาการแก้ไขปัญหา สร้างผู้นำ สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนให้ยั่งยืน ล่าสุด จัดทำโครงการส่งเสริมช่องทางการตลาดออนไลน์และสร้างการรับรู้ผลิตภัณฑ์ หมู่บ้านคชานุรักษ์และหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า ในพื้นที่ 5 จังหวัด หวังต่อยอดและขยายช่องทางการตลาดให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนเพิ่มขึ้น
สมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เปิดเผยว่า สำหรับ “หมู่บ้านคชานุรักษ์” และ “หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า” ในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดระยอง ชลบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา และสระแก้ว ได้รับผลกระทบจากช้างป่าบางโขลงออกหากินนอกพื้นที่ป่า ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า เกิดการสูญเสียชีวิต ทั้งคนและช้างป่า รวมถึงพืชผลทางการเกษตร และทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ กรมการพัฒนาชุมชน มีภารกิจและกำหนดนโยบายสนับสนุนการดำเนินงานหมู่บ้านคชานุรักษ์ ด้วยการสร้างองค์ความรู้ เสริมทักษะ ใช้พื้นที่หมู่บ้านเป็นศูนย์กลางการบูรณาการแก้ไขปัญหา สร้างผู้นำ สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยการน้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงสู่การปฏิบัติ นำไปสู่กระบวนการจัดทำแผนชุมชน และแผนพัฒนาหมู่บ้าน ทำให้เกิดอาชีพที่มั่นคง เกิดเครือข่ายในการพัฒนา ที่สามารถแก้ไขปัญหาเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างคนและช้างป่าได้อย่างเป็นรูปธรรม
ผ่านโครงการ “หมู่บ้านคชานุรักษ์” ซึ่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 ภายใต้โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ ได้กำหนดแผนปฏิบัติการ 3 ด้าน โดยเฉพาะด้านการจัดการพื้นที่ชุมชน (บ้านคน) เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับช้างป่า ให้กับองค์กรชุมชน เครือข่าย ประชาชน และส่งเสริมอาชีพเสริมทางเลือกที่ไม่ใช่พืชอาหารช้าง ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจของกรมการพัฒนาชุมชนในการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยมีเป้าหมาย คือ คนทำร้ายช้างลดลง และช้างรุกรานคนลดลง พร้อมแนวคิดในการดำเนินงาน คือ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” มีกลยุทธ์ในการดำเนินงาน 4 กลยุทธ์ ได้แก่ คนรู้จักช้าง คนเข้าใจช้าง คนรักช้าง และคนอยู่ร่วมกับช้าง
ล่าสุด กรมการพัฒนาชุมชนได้จัดทำโครงการส่งเสริมช่องทางการตลาดออนไลน์และสร้างการรับรู้ผลิตภัณฑ์ หมู่บ้านคชานุรักษ์และหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า ในพื้นที่ 5 จังหวัด เพื่อเพิ่มและขยายช่องทางการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ “หมู่บ้านคชานุรักษ์” และ “หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า” ที่ผ่านมากรมการพัฒนาชุมชนได้ดำเนินการพัฒนาอาชีพ ส่งเสริมการแปรรูปผลผลิต สนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้แก่หมู่บ้านคชานุรักษ์และหมู่บ้านขยายผลมาอย่างต่อเนื่อง แต่ประสบปัญหาด้านการตลาด คนในชุมชนผลิตสินค้าออกมาแล้ว จำหน่ายสินค้าได้จำนวนน้อย ผนวกกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา-19 (COVID-19) ที่ยังคงมีความรุนแรงอยู่ และการตลาดของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป
ปัจจุบันการตลาดออนไลน์จึงมีความจำเป็นและสำคัญมาก ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตดิจิทัลและวิถีความปกติใหม่(New normal) ทางกรมการพัฒนาชุนชน ได้ใช้ช่องทาง www.thehubthailand.bizz ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมผลิตภัณฑ์ของประเทศไทยโดยเสิร์ชในช่อง “คชานุรักษ์” จะมีผลิตภัณฑ์มากมายให้ท่านได้เลือกซื้อ และยังมีอีกหนึ่งช่องทางที่ทางกรมการพัฒนาชุมชนได้จัดทำขึ้นคือ www.otoptoday.com นอกจากนี้ยังสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทาง market place ได้แก่ Shopee, Lazada
“ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ทางกรมการพัฒนาชุมชนขอเชิญชวนอุดหนุนสินค้าชุมชนของหมู่บ้านคชานุรักษ์และหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า โดยกรมการพัฒนาชุมชนได้ร่วมกับชุมชนจัดทำกระเช้าคชานุรักษ์ เพื่อเป็นของขวัญของฝากในช่วงเทศกาลปีใหม่ เพื่อเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชน บรรเทาความทุกข์ร้อนให้กับหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบช้างป่า อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนและประเทศไทยหลังวิกฤตโควิด โดยเข้าไปเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ได้ที่ OTOP TODAY, The Hub Thailand, Shopee, Lazada และทางสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดและอำเภอ ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และจังหวัดสระแก้ว” สมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าว
ทั้งนี้การดำเนินงาน “หมู่บ้านคชานุรักษ์” ภายใต้โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ คือ การช่วยให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีอาชีพที่เหมาะสม มีรายได้ เลี้ยงครอบครัวได้อย่างยั่งยืน โดยการสร้างองค์ความรู้ การนำผลิตผลทางการเกษตรที่มีในชุมชนมาพัฒนาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ทำให้เกษตรกรมีรายได้ทั้งจากการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ รวมทั้งจากวิกฤตการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้ประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤติ ส่งผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อรายได้ของคนในชุมชน ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ดังนั้น การสนับสนุนส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ของหมู่บ้านคชานุรักษ์และหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่าให้เป็นที่รู้จักและการเพิ่มช่องทางการจำหน่าย ผลิตภัณฑ์ในรูปแบบออนไลน์ (Digital Marketing) จะก่อให้เกิดรายได้กระจายสู่ชุมชน ทำให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
กรมการพัฒนาชุมชน จึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมช่องทางการตลาดออนไลน์และสร้างการรับรู้ผลิตภัณฑ์หมู่บ้านคชานุรักษ์และหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า เพื่อส่งเสริมช่องทางการตลาดออนไลน์และประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ผลิตภัณฑ์ในหมู่บ้านคชานุรักษ์และหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า โดยหวังจะสร้างความยั่งยืนให้เศรษฐกิจชุมชนและขยายช่องทางการตลาดให้มากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ
ที่ผ่านมา กรมการพัฒนาชุมชน ได้จัดทำโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง กิจกรรม: การพัฒนาหมู่บ้านคนรักษ์ช้าง สนับสนุนการดำเนินงาน ภายใต้โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์” โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายในการขับเคลื่อนการพัฒนาระยะแรก ปี 2562 จำนวน 183 หมู่บ้าน (18 อำเภอ 5 จังหวัด) ปี 2563 จำนวน 235 หมู่บ้าน (18 อำเภอ 45 ตำบล) เป็นหมู่บ้านคชานุรักษ์ จำนวน 5 หมู่บ้าน และหมู่บ้านขยายผล จำนวน 18 หมู่บ้าน และปี 2564 จำนวน 299 หมู่บ้าน (22 อำเภอ 56 ตำบล) เป็นหมู่บ้านคชานุรักษ์ จำนวน 8 หมู่บ้าน และหมู่บ้านขยายผล จำนวน 36 หมู่บ้าน
และในปี 2565 กรมการพัฒนาชุมชนมีเป้าหมายที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในการปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างคนกับช้างป่า พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ มาตรฐานและมีช่องทางตลาดที่หลากหลาย ต่อยอดผลิตภัณฑ์ของชุมชนและวิถีชุมชนเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวโดยชุมชน ตลอดจนการติดตามเฝ้าระวังป้องกันภัยจากช้างป่า และการเยียวยาผู้ประสบภัย ทั้งนี้เพื่อมุ่งหวังให้ “คนทำร้ายช้างลดลง และช้างรุกรานคนลดลง และประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี”