วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ ซีเอ็มเอ็มยู (CMMU) โชว์หลักสูตรแห่งอนาคต “Managing For Sustainability” (MFS) หนึ่งในสาขาของหลักสูตรนานาชาติ (International program) ระดับปริญญาโท รุกปั้น “นักพัฒนากลยุทธ์เพื่อความยั่งยืน” รับประเด็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่กำลังเป็นกระแสหลักทั่วโลก และจำเป็นอย่างยิ่งต่อผู้ประกอบการ ผู้บริหาร ทุกภาคธุรกิจ
โดยเฉพาะหลังยุคโควิด-19 ทุกองค์กรต้องผลักดันมีนโยบายการบริหารจัดการความยั่งยืน (Sustainability) ภายใต้กรอบแนวคิด ESG อันประกอบด้วย สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) นับแต่นี้เป็นต้นไป ในการตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ร่วมกับองค์กรสหประชาชาติด้านความร่วมมือเพื่อความยั่งยืน ที่หลายประเทศเข้าร่วมรวมถึงประเทศไทย ในการระดมพลังให้ความสำคัญอย่างจริงจังต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการพัฒนาธุรกิจ
รศ.ดร.ณัฐวุฒิ พิมพา ประธานหลักสูตร Managing For Sustainability (หลักสูตรนานาชาติ) วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) และ ผู้ประสานงานกลาง ศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวว่า ปัจจุบัน ‘การพัฒนาอย่างยั่งยืน’ ถือเป็นวาระสำคัญยิ่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ จากการเผชิญปัญหาธรรมชาติ พลังงาน โรคระบาดและสังคมทั่วทุกมุมโลก ทั้งเหตุอุทกภัย อัคคีภัย ดินถล่ม ตลอดจนปัญหาด้านเศรษฐกิจ และภาวะทับซ้อนจากการบริหารจัดการระบบสาธารณสุขในสถานการณ์โควิด-19
ดังนั้น เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของประเทศภาพรวม โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจให้ก้าวต่อได้ในระยะยาวหรือในภาวะโควิด “ภาคธุรกิจ/องค์กรเอกชน” จึงจำเป็นต้องเข้ามามีส่วนร่วมจำนวนมากอย่างจริงจัง เพราะปัญหามักมาจากการกระบวนการบริโภค การผลิต และการใช้ทรัพยากร สอดคล้องกับที่ องค์กรสหประชาชาติด้านความร่วมมือเพื่อความยั่งยืน (UN Global Compact) ได้ตั้งเป้าหมาย “ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development Goals: SDGs) รวม 17 ข้อ ที่ทั่วโลกจะต้องทำร่วมกันให้สำเร็จภายในปี 2030 “เพราะถ้าสังคมพัง ธุรกิจและเศรษฐกิจก็ล้มด้วย”
ทั้งนี้ รศ.ดร. ณัฐวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในฐานะภาคการศึกษา หลักสูตรนานาชาติ สาขา Managing For Sustainability (MFS) ซีเอ็มเอ็มยู จัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างนักบริหารรุ่นใหม่ ในศาสตร์แห่งอนาคตเพื่อการพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืน รวมถึงพัฒนาบุคลากร ผู้ประกอบการ ผู้บริหารให้มีความเชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนสู่การนำองค์ความรู้ไปพัฒนาธุรกิจ ทั้งในด้านการผลิตและขายสินค้า การระดมทุน และ การพัฒนาธุรกิจ โดยมีกรอบแนวความคิดตระหนักถึง ESG ครอบคลุม สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) โดยมีการเรียนการสอนจากนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านนวัตรกรรมเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับธุรกิจ ด้านพลังงาน ด้านสังคมและแรงงาน รวมไปถึงด้านการเงิน
ผู้เรียนจะได้เรียนรู้พื้นฐานความสามารถในการจัดการและความยั่งยืน มีโครงสร้างหลักของหลักสูตร 3 ข้อ คือ 1. Sustainable Leadership in Action การสร้างความเป็นผู้นำ ซึ่งภาวะผู้นำมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการกระตุ้นให้คนหันมาสนใจเรื่องการพัฒนาความยั่งยืน 2. Sustainability Strategy การวางกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน รวมไปถึงการใช้เครื่องมือทางธุรกิจและการเงินเพื่อความยั่งยืน และ 3. Sustainable Logistics and Supply Chain Management การจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืนในอุตสาหกรรมหลากหลาย
ทั้งนี้ โอกาสในการทำงานทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศของผู้เรียนสาขาดังกล่าว มีแนวโน้มสูงมาก เนื่องจากเป็นหลักสูตรที่เหมาะกับโลกปัจจุบันและโลกอนาคต อีกทั้งปัจจุบันองค์กรรัฐ/เอกชน ทุกองค์กรจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญ/นักวางแผนกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน โดยเฉพาะองค์กรที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์หรือวางแผนจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ ด้วยเหตุผล คือ 1. ‘ความยั่งยืน’ เป็นกลยุทธ์/แผนธุรกิจและการระดมทุนขั้นพื้นฐานในปัจจุบัน 2. ‘ความยั่งยืน’ เป็นหนึ่งในเงื่อนไขพิจารณาธุรกิจเข้าตลาดหลักทรัพย์และสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน และ 3. ‘ความยั่งยืน’ เป็นบัตรผ่านทำธุรกิจตลาดต่างประเทศ เช่น องค์กรระหว่างประเทศ ที่ทำงานด้านนโยบายสิ่งแวดล้อม ความเท่าเทียม แรงงาน หรืองานภาครัฐของไทย อย่าง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ฯลฯ
นอกจากนี้ สาขาดังกล่าว ยังเป็นพันธมิตรของ ASEAN Centre for Sustainable Development Studies and Dialogue (ACSDSD) ดังนั้น ผู้เรียนจะได้เป็นสมาชิกของโครงการนี้ไปโดยปริยาย และได้ทำกิจกรรมต่างๆ กับภาคีในกลุ่มประเทศอาเซียนร่วมกัน อีกทั้งยังมีแนวคิดของคนที่ทำงานด้านนี้มาเป็นโค้ชผู้เรียนด้วย อาทิ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เป็นต้น
จากข้อมูลตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ที่มาร่วมให้ข้อมูลในงาน SDGs Talk กับ ซีเอ็มเอ็มยู ระบุว่า “ตลาดทุน” ตลาดหลักทรัพย์มีบทบาทสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ปัจจุบันมีแรงกดดันทุกทิศทางให้ภาคเอกชนเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน และมีกรอบบริหารงานภายใต้แนวคิด ESG ซึ่งนับเป็นกระแสที่ทวีมากขึ้นในตลาดทุนโลก รวมถึงตลาดทุนไทย โดยภาคธุรกิจโซนยุโรปคาดว่า ESG จะโตขึ้นจากทุกวันนี้ที่ 15% พุ่งสู่ราว 60% ในอีก 4 ปีข้างหน้า และนักลงทุนรายย่อย นักลงทุนสถาบัน หรือหุ้นนอกตลาดในต่างประเทศ ก็นิยมให้ความสนใจต่อองค์กรที่บริหารงานโดยใส่ใจประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคม และการจัดการดูแลกำกับกิจการที่ดี
ซึ่งส่งผลดีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น บริษัทในอุตสาหกรรมสิ่งทอ หาวิธีการลดหรือการบริหารจัดการน้ำให้คุ้มค่าที่สุด เพื่อความอยู่รอดและยั่งยืน หรือบริษัทในอุตสาหกรรมอาหาร หาวิธีดูแลผู้ผลิตในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) อย่างกลุ่มเกษตรกร ให้มีทักษะความรู้ มีเครื่องมือในการเพิ่มผลผลิตของตนเองเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน เป็นต้น ซึ่งโลกในวันนี้ต้องการใช้บุคลากรที่มีความเข้าใจด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาช่วยธุรกิจอย่างจริงจัง และ SET ก็ต้องเร่งขับเคลื่อนบริษัทในตลาดทุนให้ได้เติบโต อยู่รอด ตามมาตรฐานโลกร่วมด้วย