กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) ผู้นำด้านวัสดุศาสตร์ (Materials Science) มีความเชื่อมั่นในการแก้ปัญหาความท้าทายของโลกด้วยวิทยาศาสตร์และการมีส่วนร่วม เมื่อเร็ว ๆ นี้ในงานประชุมวิชาการนานาชาติ 47th International Congress on Science, Technology and Technology-based Innovation ซึ่งจัดโดยสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ
ทีม Dow Pack Guru ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านแพคเกจจิ้ง ได้ร่วมสัมมนาเรื่อง “นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนสำหรับบรรจุภัณฑ์แห่งอนาคต” พร้อมกับแบ่งปันประสบการณ์ในโลกธุรกิจแพคเกจจิ้งเพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืน รวมถึงบรรจุภัณฑ์ที่จะช่วยลดโลกร้อนและแก้ปัญหาขยะได้อย่างไร
การผลิตบรรจุภัณฑ์ในยุคนี้นอกจากคำนึงถึงเรื่องความทนทานและความสวยงามแล้ว ยังต้องตอบโจทย์ของความยั่งยืนที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ซึ่งกลายเป็นพันธกิจสำคัญสำหรับบริษัทผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ทั้งหลายที่จะต้องร่วมกันพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อช่วยกันสร้างบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก
ปัจจุบันลูกค้าหันมาสนใจเรื่องการพัฒนาบรรจุภัณฑ์แบบยั่งยืนเกือบ 99% จึงทำให้ Dow เห็นความสำคัญของการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อมาพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในอนาคต โดย Dowมีนักวิจัยมากถึง 7,000 คนทั่วโลกเพื่อค้นคว้าวิจัยผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา
ชมพูนุช จันทร์บัว Marketing Development Manager กล่าวถึงแนวโน้มของบรรจุภัณฑ์ในอนาคต นอกจากจะต้องมีคุณสมบัติที่ตอบโจทย์ในเรื่องของการป้องกันสินค้าที่อยู่ภายในไม่ให้เสียหาย สามารถช่วยยืดอายุของอาหาร มีรูปแบบสวยงาม และสามารถนำไปใช้งานได้ง่าย สะดวกสบายแล้ว ยังมีอีกเทรนด์ที่กำลังมาแรงที่ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ต้องให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นคือการออกแบบและผลิตบรรจุภัณฑ์แบบรักษ์โลก โดยเริ่มตั้งแต่ออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อให้สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ง่าย หรือบรรจุภัณฑ์ที่ใช้เม็ดพลาสติกในการผลิตน้อยลงแต่ยังคงความแข็งแรงได้ดีดังเดิม รวมถึงบรรจุภัณฑ์ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น
Dow ได้มีการกำหนดเป้าหมายและขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง มีผลการดำเนินงานที่สามารถวัดผลได้จริงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา และมีเป้าหมายการทำงานด้านความยั่งยืนอย่างชัดเจนใน 2 พันธกิจหลัก โดยมุ่งเน้นในการลดคาร์บอนเพื่อลดโลกร้อนเพื่อให้บรรลุสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็น zero carbon และอีกหนึ่งเป้าหมายที่สำคัญคือเรื่องการกำจัดขยะพลาสติกในสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นหยุดขยะพลาสติกไปจนถึงการส่งเสริมวงจรรีไซเคิลเพื่อเพิ่มผลกระทบในเชิงบวกต่อสังคม ลูกค้า และธุรกิจของ Dow
อนุรักษ์ รัศมีอมรวิวัฒน์ Technical Service and Development &Climate Change Specialist ได้กล่าวเสริมในประเด็นของคุณสมบัติบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกว่า “ปัจจุบันมีความท้าทายเรื่องความยั่งยืนของบรรจุภัณฑ์อยู่ 2 เรื่อง คือทำอย่างไรให้เกิดการหมุนเวียนนำกลับมาใช้ซ้ำหรือเรียกว่าการกำจัดซากด้วยวิธีการที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ส่วนอีกเรื่องคือภาวะโลกร้อนที่โลกกำลังให้ความสำคัญกับการลดคาร์บอน ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดก๊าซเรือนกระจก”
สำหรับวงจรของบรรจุภัณฑ์ที่มีการหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่นั้นมีอยู่ 3 ขั้นตอนคือ 1) การออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ 2) การจัดเก็บบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วกลับเข้ามาในวงจรรีไซเคิล และ 3) การนำวัสดุที่มีสัดส่วนของวัสดุที่ได้มาจากกระบวนการรีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์อีกครั้ง
“Dow มีผลิตภัณฑ์ของเม็ดพลาสติกมากมายเพื่อเป็นโซลูชันให้ทั้งเจ้าของแบรนด์สินค้า (brand owner) และโรงงานแปรรูปพลาสติก (converter) เลือกนำไปใช้พัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้าให้สามารถรีไซเคิลได้ 100% นอกจากนี้ Dow ยังมีนวัตกรรมเม็ดพลาสติกรีไซเคิลซึ่งผลิตจากกระบวนการ Mechanical Recycling ซึ่งได้รับรางวัลRingier Technology Innovation Awards”
เมื่อลงลึกถึงกระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนนั้น รังสรรค์ เชาว์สุวรรณกิจ Technical Service Manager ได้กล่าวถึงแนวโน้มการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่นำเสนอโซลูชันใหม่ ๆ สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าว่า “เทรนด์ที่ลูกค้าสนใจคือการทำฟิล์มบรรจุภัณฑ์ที่บางและแต่ยังคงความแข็งแรงเหมือนเดิม รวมทั้งการนำ PCR (post-consumer recycled) Resin ซึ่งเป็นเม็ดพลาสติกที่มีส่วนผสมของพลาสติกที่ผ่านการใช้งานจากผู้บริโภคในสัดส่วน 40% สามารถนำมาผลิตเป็นฟิล์มหดรัดสินค้าที่ยังคงคุณสมบัติเทียบเท่ากับฟิล์มที่ทำมาจากเม็ดพลาสติกใหม่ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้เม็ดพลาสติกใหม่แล้ว จะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 17% และประหยัดพลังงานได้กว่า 30% โดยประมาณ (ขึ้นอยู่กับปัจจัยประกอบ) ซึ่งช่วยให้ โรงงานแปรรูปพลาสติก (converter) เจ้าของแบรนด์สินค้า (brand owner) และบริษัทค้าปลีก( Retailer) บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนของตนเองได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นการช่วยหาทางออกวิธีใหม่ให้กับพลาสติกใช้งานแล้ว เพื่อไม่ให้ต้องกลายมาเป็นขยะ
นอกจากนี้รังสรรค์ได้ยกตัวอย่างสินค้าของ Dow ที่ใช้นวัตกรรมความยั่งยืน คือถุงฟิล์มอุตสาหกรรมประเภท Heavy Duty Shipping Sack (HDSS) ใช้บรรจุสินค้าที่มีลักษณะเป็นเม็ดหรือผงที่มีน้ำหนักบรรจุ 20-25 กิโลกรัม สามารถทำให้บางลงจากเดิมที่หนา 125 ไมคอน สามารถลดความหนาลงมาเหลือ 110 ไมคอน เท่ากับลดปริมาณการใช้พลังงานและวัตถุดิบในการผลิตลง
ดร.ธวัชชัย ตุงคะเวทย์ Senior Technical Service and Development Specialist กล่าวถึงหน่วยงาน Application Development Center ของ Dow ที่ทำหน้าที่ออกแบบและคิดค้นนวัตกรรมด้าน Flexible Packaging เพื่อมาตอบโจทย์ของลูกค้าทั้งฟิล์มเมกเกอร์และเจ้าของแบรนด์ เพื่อสร้างความก้าวหน้าในการพัฒนาถุงบรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน
“เทรนด์ของผลิตภัณฑ์ประเภท Food and Specialty Packaging เพื่อความยั่งยืนจะเน้นออกแบบจาก Flexible Packaging หรือบรรจุภัณฑ์ที่ประกอบด้วยวัสดุหลายชั้น มาเป็น Mono Material ซึ่งสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทั้งหมดนี้สอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”
กรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จของ Dow คือการยกมาตรฐานถุงข้าวสารเป็นถุงข้าวรักษ์โลก ซึ่ง ดร.ธวัชชัยอธิบายเพิ่มเติมว่าในอดีตถุงบรรจุข้าวสารผลิตจากโพลิเมอร์ 2 ชนิด มีความหนา 110 ไมคอน ซึ่งไม่สามารถนำกลับไปรีไซเคิลได้ แต่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา Dow ร่วมมือกับ บริษัท CPI บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) และบริษัท พรีแพค ประเทศไทย จำกัด เพื่อพัฒนาถุงข้าวตราฉัตรขึ้นมาเรียกว่า “all PE recycle rice bag ” โดยนำเทคโนโลยี INNATETM ที่ Dow พัฒนาขึ้นมาช่วยทำให้ถุงข้าวมีคุณสมบัติบางลงแต่ยังคงมีความแข็งแรงใกล้เคียงเดิม ข้อดีคือสามารถนำกลับไปรีไซเคิลได้ 100% ช่วยลดการใช้พลาสติก และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
“ปัจจุบันนี้เรื่อง Future Packaging เป็นเรื่องไม่ไกลตัวเราอีกต่อไปแล้ว เพราะตอนนี้เราต้องช่วยกันลดผลกระทบที่เกิดจากก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อนขึ้น ดังนั้นบรรจุภัณฑ์ที่ใช้งานในปัจจุบันจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวให้เป็นบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกมากขึ้น” ชมพูนุชกล่าวสรุป