Top StoriesTrending

‘เนสท์เล่’ ยืนยันเดินหน้าลงทุนผลิต ‘เนสกาแฟ’ ในประเทศไทย ช่วยส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟเกือบ 3 พันราย ทั่วประเทศ

บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ประกาศกลับมาดำเนินธุรกิจเนสกาแฟในประเทศไทย พร้อมย้ำว่า​​เป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้เครื่องหมายการค้า Nescafé​ ในประเทศไทย และยืนยันที่จะ​ลงทุนการผลิตกาแฟในไทย

หลังมีความชัดเจนต่อข้อพิพาทกับอดีตพันธมิตรอย่างฝั่งมหากิจศิริ ในฐานะหุ้นส่วนบริษัทร่วมทุนอย่าง QCP (บริษัทควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด) ​เพื่อผลิตเนสกาแฟ ในประเทศไทย

วันนี้ทาง เนสท์เล่ ประเทศไทย ออกมายืนยันถึงการมีสิทธิ์​แต่เพียงผู้เดียว ใช้แบรนด์ ‘Nescafé‘ และ ‘เนสกาแฟ’ ในประเทศไทย

พร้อมเดินหน้าเรียกความเชื่อมั่นทั้งต่อผู้ประกอบการธุรกิจ ผู้บริโภค และเกษตรกรที่​ทำงานด้วยว่า จะไม่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการของผู้ถือหุ้นบริษัท QCP รวมทั้งประกาศ​จะลงทุนด้านการผลิตเนสกาแฟในประเทศไทยเพื่อสร้างการเติบโตที่แข็งแกร่งและยั่งยืนในประเทศไทยต่อไป

ทั้งนี้ เนสท์เล่ท์ ประเทศไทย ได้ออกประกาศลงวันที่ 16 เมษายน 2568 โดยมีเนื้อหา

เนสท์เล่ ยืนยันลงทุนผลิตเนสกาแฟในประเทศไทย
เนสกาแฟ แบรนด์กาแฟจากเนสท์เล่ที่ได้รับความนิยมอันดับหนึ่งจากผู้บริโภคชาวไทย ได้มุ่งมั่นสร้างประโยชน์แก่เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมของไทยมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับซื้อเมล็ดกาแฟดิบจากเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟไทยมาเป็นเวลานานกว่า 40 ปี โดยล่าสุดเมื่อต้นปี พ.ศ. 2568 เนสท์เล่ ได้รับซื้อเมล็ดกาแฟโรบัสต้าจากเกษตรกรไทยเหมือนเช่นทุกปีที่ผ่านมา
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533-2567 เนสท์เล่ ได้มีสัญญากับบริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักส์ จำกัด (QCP) ให้เป็นผู้ผลิตเนสกาแฟ ในประเทศไทย โดยสูตรกาแฟและเทคโนโลยีการผลิตเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของเนสท์เล่ และทีมงานในสายการผลิตและการบริหารงานทั้งหมดก็เป็นทีมงานของเนสท์เล่
ภายหลังการสิ้นสุดสัญญาระหว่างเนสท์เล่ กับ QCP ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2567 เนสท์เล่ได้ดำเนินการเพื่อจัดหาผลิตภัณฑ์เนสกาแฟ เพื่อให้ผู้บริโภคไทยยังคงสามารถดื่มด่ำกับผลิตภัณฑ์เนสกาแฟทุกประเภทได้อย่างเต็มที่ด้วยรสชาติและคุณภาพระดับสูงเช่นเดิม โดยเนสท์เล่ได้มีการว่าจ้างบริษัทในประเทศไทยให้ช่วยผลิตผลิตภัณฑ์เนสกาแฟ พร้อมทั้งนำเข้าผลิตภัณฑ์บางส่วนจากประเทศในแถบอาเซียนเป็นการชั่วคราว เนื่องจากกำลังผลิตภายในประเทศไม่เพียงพอ ทั้งนี้ เนสท์เล่ ยืนยันว่าจะลงทุนเพื่อผลิตเนสกาแฟในประเทศไทยต่อไป และในขณะนี้ เนสท์เล่กำลังเตรียมการเพื่อกลับมาดำเนินการผลิต เนสกาแฟในประเทศ หลังจากที่ได้รับคำสั่งจากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง โดยในระหว่างที่เรากำลังเตรียมการเพื่อผลิตเนสกาแฟในประเทศไทย เราจะยังคงมุ่งมั่นสนับสนุนเกษตรกรไทยด้วยการรับซื้อวัตถุดิบในการผลิตจากเกษตรกรไทยให้มากที่สุด
ก่อนหน้านี้ เนสท์เล่ได้รับคำตัดสินจากศาลอนุญาโตตุลาการสากลว่าเนสท์เล่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาการร่วมทุนอย่างครบถ้วน และการสิ้นสุดสัญญากับบริษัท QCP เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2567 ถูกต้องและมีผลสมบูรณ์ทางกฎหมาย แต่ผู้ถือหุ้นของบริษัท QCP คือ นายเฉลิมชัย มหากิจศิริและครอบครัว กลับยื่นขอคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวจากศาลแพ่งมีนบุรี และต่อมาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ในคดีหมายเลขดำที่ ทป 58/2568 มีคำสั่งว่า บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด เป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้า “Nescafé” ในประเทศไทย ซึ่งมีผลให้เนสท์เล่สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจเนสกาแฟในประเทศได้ตามปกติตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2568
ทั้งนี้ เนสท์เล่จะทำทุกวิถีทางเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ประกอบการรายย่อย คู่ค้าซัพพลายเออร์ ผู้บริโภค และเกษตรกรที่เราทำงานด้วยอย่างใกล้ชิด จะไม่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการของผู้ถือหุ้นดังกล่าว
เนสท์เล่มีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยในระหว่างปี พ.ศ. 2561-2567 เนสท์เล่ได้ลงทุนกว่า 22,800 ล้านบาทในประเทศไทย และเนสท์เล่จะยังคงเดินหน้าลงทุนเพื่อสร้างประโยชน์แก่ลูกค้า ผู้บริโภค พนักงานของเรา เกษตรกรที่ทำงานร่วมกับเรา ตลอดจนพันธมิตรทางธุรกิจของเราต่อไป
นอกจากการออก ​Statement เพื่อยืนยันการเดินหน้าธุรกิจในประเทศไทยแล้ว เนสท์เล่ ยังได้ ชี้แจง 7 ประเด็นที่ยังอาจเป็นข้อสงสัย​เกี่ยวกับปัญหา และทิศทางการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย โดยยืนยันว่ามีความมุ่งมั่นที่จะผลิตเนสกาแฟในประเทศไทย แต่ยังไม่สามารถให้รายละเอียดที่ชัดเจนได้ในตอนนี้
และย้ำว่า กรณีของเนสท์เล่ และตระกูลมหากิจศิริ แตกต่างจากข้อพิพาทระหวว่างพันธมิตรทางธุรกิจ ที่เป็นกรณีศึกษาของตลาดประเทศไทยในอดีตที่ผ่านมา เนื่องจาก เนสท์เล่ เป็นเจ้าของแบรนด์เนสกาแฟแต่เพียงผู้เดียว ขณะที่ตระกูลมหากิจศิริถือหุ้นครึ่งหนึ่งในบริษัท QCP ที่ทำหน้าที่ผลิตเนสกาแฟในประเทศไทย เนสท์เล่ก็ถือหุ้นอีกครึ่งหนึ่ง และเป็นคนบริหารจัดการเรื่องการผลิต การจัดจำหน่าย และทำการตลาดผลิตภัณฑ์เนสกาแฟเองในประเทศไทย สูตรกาแฟกับเทคโนโลยีการผลิตก็เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของเนสท์เล่ และทีมงานในสายการผลิตและการบริหารงานทั้งหมดก็เป็นทีมงานของเนสท์เล่
พร้อมยืนยัน ปัญหาที่เกิดขึ้นจนมีประกาศหยุดส่งสินค้าชั่วคราวนั้นไม่ใช่ความตั้งใจในการสร้างกระแสและถือโอกาสปรับราคาสินค้า แต่เนื่องจากคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลแพ่งมีนบุรีเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา ทำให้เนสท์เล่ มีความห่วงใยผู้ประกอบการรายย่อย เกษตรกรไทย และคู่ค้าซัพพลายเออร์ตลอดห่วงโซ่คุณค่าที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งศาลคุ้มครองชั่วคราว จึงได้​ทำทุกวิถีทางเพื่อแก้ไขสถานการณ์
ซึ่งขณะนี้มีคำตัดสินล่าสุด ยืนยันแล้วว่า บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด เป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้า “Nescafé” ในประเทศไทย ทำให้เนสท์เล่สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจเนสกาแฟในประเทศไทยได้ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2568 เป็นต้นมา
​ขณะที่ทิศทางการขับเคลื่อนธุรกิจเนสกาแฟในประเทศไทยนั้น ทางบริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด เคยประกาศกลยุทธ์เพื่อสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งแและยั่งยืนให้อุตสาหกรรมกาแฟของไทย เพื่อตอบโจทย์ทั้งผู้บริโภคคนไทย ผ่าน​การ​ผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมกาแฟไทย ควบคู่ไปกับการพัฒนาการปลูกกาแฟอย่างยั่งยืน เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีผลผลิตเมล็ดกาแฟในระยะยาวที่เพียงพอ เพื่อประโยชน์แก่ผู้บริโภค เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ รวมถึงพันธมิตร คู่ค้า และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทย
โดยเฉพาะด้านต้นน้ำในการจัดหาวัตถุดิบ เน้นพัฒนาการปลูกกาแฟอย่างยั่งยืน ผ่านการเกษตรเชิงฟื้นฟู หรือ Regenerative Agriculture ภายใต้โครงการ “เนสกาแฟ แพลน 2030” ซึ่งเป็นโครงการด้านความยั่งยืนระดับโลกของเนสกาแฟ
ซึ่งแนวทางการเกษตรเชิงฟื้นฟูจะช่วยเพิ่มความต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เพิ่มผลผลิตและคุณภาพของเมล็ดกาแฟ รวมทั้งปกป้องและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมเดินหน้าขยายพื้นที่การเพาะปลูกกาแฟสู่จังหวัดอื่นๆ เช่น จังหวัดตาก และจังหวัดเลย ซึ่งปัจจุบันมีเครือข่ายผู้ปลูกกาแฟกว่า 2,900 รายทั่วประเทศ