มุ่งมั่นสร้างคุณค่าร่วมเพื่อยกระดับการพัฒนาให้ทุกมิติสามารถเติบโตร่วมกันได้อย่างยั่งยืน ภายใต้โครงการ ‘เซ็นทรัล ทำ – ทำด้วยกัน ทำด้วยใจ’ ที่ขับเคลื่อนโดย กลุ่มเซ็นทรัล และสร้างผลกระทบเชิงบวกได้ตลอดห่วงโซ่ธุรกิจมามากกว่า 8 ปีแล้ว
พร้อมความสำเร็จที่วัดในมิติเชิงคุณภาพแต่สามารถจับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการขับเคลื่อนโครงการเซ็นทรัลทำ (CENTRAL THAM) ในปี 2567 ที่ผ่านมา สามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนทั่วประเทศไทยได้กว่า 1,700 ล้านบาท ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้คนในชุมชนมากกว่า 150,000 ราย การสร้างงานและสนับสนุนอาชีพให้คนพิการได้มากกว่า 1,100 คน รวมท้ังสนับสนุนและพัฒนาโรงเรียน 192 แห่ง
รวมทั้งในมิติด้านสิ่งแวดล้อม เพิ่มพื้นที่สีเขียวและฟื้นฟูป่ากว่า 19,385ไร่ ลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหารกว่า 19,254 ตัน ลดปริมาณขยะที่เข้าสู่หลุมฝังกลบกว่า 43,663 ตัน ติดตั้งจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า 1,430 สถานที่ ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา 215 แห่ง และผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้มากถึง 207,176 เมกะวัตต์-ชั่วโมง
คุณพิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า ผลสำเร็จดังกล่าวสะท้อนให้เห็นพัฒนาการ และการร่วมกัน ‘ทำ’ ภายใต้ความเชื่อมั่นว่า การเติบโตของธุรกิจ ต้องเดินไปพร้อมกับการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล พร้อมมุ่งขยายผลกระทบเชิงบวกอย่างต่อเนื่องไปในอนาคตทุกๆ ปี โดยการชี้วัดความสำเร็จของโครงการไม่ได้มองจากแค่มิติเศรษฐกิจในเรื่องของยอดขายหรือรายได้ที่โครงการทำได้เท่านั้น แต่ยังมองไปในหลายมิติทั้งสังคมและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการที่แต่ละชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น การขยายเครือข่ายเกษตรกร การเพิ่มจำนวนศูนย์เรียนรู้ให้กระจายไปในแต่ละพื้นที่ได้มากขึ้น รวมไปถึงการเพิ่มจำนวนพื้นที่สีเขียวได้มากขึ้นในแต่ละปี
ปัจจัยความสำเร็จที่ทำให้ เซ็นทรัล ทำ สามารถขยายแนวร่วมที่แข็งแรง และเพิ่ม Positive Impact ได้เพิ่มขึ้นทุกมิติในแต่ละปี มาจากการวางกลยุทธ์ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการสร้างโมเดล Social Enterprise ที่แข็งแรงและยั่งยืนผ่าน 6 แนวทาง คือ
1. Community – พัฒนาศักยภาพและส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน : ด้วยการพัฒนาความรู้และทักษะด้านอาชีพ โดยเฉพาะการส่งเสริมสินค้าที่มีอัตลักษณ์และเป็นที่ต้องการของตลาด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและหลีกเลี่ยงการแข่งขัน
2. Inclusion – การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคในการเข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียม : มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเท่าเทียม รวมทั้งมอบโอกาสด้านการศึกษาให้เยาวชน ผ่านการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ เพื่อต่อยอดสู่การสร้างอาชีพได้ในอนาคต
3. Talent – พัฒนาศักยภาพที่เป็นเลิศของบุคลากร : มุ่งพัฒนาทักษะต่างๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากร พร้อมส่งเสริมความหลากหลายในองค์กร ตามแนวทาง DEI (Diversity, Equity , Inclusion)
4. Circularity – ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน : สร้างการเติบโตให้ธุรกิจควบคู่ไปกับการรับผิดชอบต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม
5. Climate – การฟื้นฟูสภาพอากาศ : ส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มการใช้พลังงานสะอาด
6. Nature – การอนุรักษ์ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ : ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ และต่อยอดมาสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพยากรธรรมชาติที่มี เช่น การส่งเสริมเรื่องของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน รวมทั้งยังมีส่วนช่วยลดผลกระทบจาก Climate Change ได้อีกทางหนึ่งด้วย
4 Best Practice : ‘จังหวัดต้นแบบ’ การพัฒนาที่ยั่งยืน
ตลอดเวลากว่า 8 ปี ‘เซ็นทรัล ทำ’ ได้ร่วมมือกับชุมชนเพื่อพัฒนาและต่อยอดในบางพื้นที่สู่การเป็น ศูนย์การเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวชุมชน และเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งทุกความสำเร็จคือ ความภาคภูมิใจในการลงมือทำ และการร่วมมือกันสร้างสรรค์สิ่งที่ดี โดยหัวใจสำคัญอยู่ที่แนวคิด ‘สร้างคุณค่าร่วม’ (CSV) เพื่อสร้างธุรกิจที่เติบโตพร้อมการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล ผ่านความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้ง ชุมชน คู่ค้า ลูกค้า หรือพนักงาน โดยเฉพาะการมีรากฐานที่แข็งแกร่งจากชุมชนที่แข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตัวเองได้ และมีความเชี่ยวชาญจนสามารถเป็นต้นแบบหรือศูนย์เรียนรู้ เพื่อถ่ายทอดไปสู่ชุมชน หรือพื้นที่อื่นๆ ให้สามารถส่งต่อการพัฒนาหรือกระจายความเข้มแข็งไปได้ทั่วประเทศในที่สุด
“ปัจจุบันเราขยายการพัฒนาผ่านเครือข่าย Centrality โดยเริ่มขับเคลื่อนโครงการในจังหวัดที่ธุรกิจของกลุ่มเซ็นทรัลดำเนินการอยู่ เพื่อสามารถมีผู้สนับสนุนทั้งการเข้าถึงชุมชน หรือการได้ข้อมูลสำคัญในแต่ละท้องถิ่นเพื่อนำมาต่อยอดผ่าน 6 กลยุทธ์ ที่วางไว้ โดย ปัจจุบันสามารถพัฒนาชุมชนที่แข็งแรงจนถึงระดับที่สามารถเป็น ‘ศูนย์เรียนรู้’ ได้แล้วจำนวน 13 ศูนย์เรียนรู้ ในกลุ่มผลิตภัณฑ์และองค์ความรู้ที่หลากหลาย โดยตั้งเป้าเพิ่มเป็น 30 ศูนย์เรียนรู้ภายในสิ้นปีนี้ รวมถึงการขยายผลศูนย์เรียนรู้จากชุมชน ไปสู่โรงเรียนต่างๆ เพื่อสร้างเครือข่ายเยาวชนที่มีคุณภาพและเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อน ในการขายแนวร่วม พร้อมสร้าง Best Practice เพื่อเร่งสปีดการพัฒนาได้เร็วขึ้น รวมทั้งเพิ่มพื้นที่ให้ครอบคลุมทั่วประเทศเพิ่มมากขึ้นในอนาคต”
ทั้งนี้ มี 4 จังหวัดต้นแบบ ที่โครงการเซ็นทรัลทำ สามารถต่อจิ๊กซอว์ในการพัฒนาได้อย่างสมบูรณ์ จนสร้างเศรษฐกิจภายในชุมชนที่แข็งแรง สร้างรายได้แต่ละปีแตะระดับหลักสิบล้านบาท พร้อมทั้งสร้างงาน สร้างเศรษฐกิจต่อเนื่องเชื่อมโยงได้ภายในห่วงโซ่ กลายเป็นชุมชนต้นแบบที่สามารถสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนได้สำเร็จ ประกอบด้วย
1. จังหวัดน่าน วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์ ต.บัวใหญ่ อ.นาน้อย
Action : ร่วมกับพันธมิตรทั้ง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา, สำนักงานพาณิชย์จังหวัด, มูลนิธิอุทกพัฒน์ และกรมพัฒนาชุมชน ด้วยการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ปลูกไม้ยืนต้น ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ และพัฒนาผลผลิตเพื่อเตรียมเข้าสู่การจดทะเบียนเป็นสินค้า GI (สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์) เช่น ฟักทองพันธุ์ไข่เน่า โกโก้ มะม่วงหิมพานต์ พร้อมแปรรูปจำหน่ายผ่านในงาน ‘จริงใจ มาหา…นคร 2024’ และร้านค้าชุมชน รวมถึงธุรกิจในกลุ่มเซ็นทรัล เช่น ท็อปส์
Impact : สร้างรายได้ให้ชุมชน 10 ล้านบาท เพิ่มคุณภาพชีวิตให้สมาชิก 179 ครัวเรือน รวมถึงสามารถเป็นหนึ่งใน Destination การท่องเที่ยวด้าน Sustainable Tourism โครงการ ‘เสน่ห์น่านใต้’ ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พร้อมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ผู้เข้าอบรบดูงาน เยี่ยมชมชุมชน และนักท่องเที่ยวในปี 2567 ได้กว่า 7,000 คน
ด้านสิ่งแวดล้อม : ร่วมสร้างฝายแหล่งน้ำ ระบบกระจายน้ำ ช่วย 50 ครัวเรือน ทำเกษตรอินทรีย์ ลดภัยแล้ง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ 2,800 ไร่
ด้านการศึกษา : พัฒนาโรงเรียนชุมชนบ้านอ้อยครบวงจร สนับสนุนห้องเรียน ICAP ทักษะ EF, STEM, ห้องสมุด จัดตั้งห้องทักษะอาชีพ สนับสนุนห้องกีฬาปันจักสีลัต และคอมพิวเตอร์ มีนักเรียน 586 คน ครู 60 คน พร้อมสนับสนุนอาชีพคนพิการ ขยายเครือข่ายรวม 50 คน พัฒนาผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ Good Goods และจัดตั้งศูนย์เรียนรู้อาชีพระดับภูมิภาค
2. จังหวัดอยุธยา กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเมล่อนหมู่ใหญ่ร่วมใจพัฒนา ต.คู้สลอด อ.ลาดบัวหลวง
Action : สร้างแบรนด์ ‘Smile Melon’ โดยเซ็นทรัล ทำ เข้าไปสนับสนุนการผลิตเมล่อนคุณภาพ โดยจัดสรรงบประมาณสร้างโรงคัดบรรจุสินค้าตามมาตรฐาน GMP โดยสนับสนุนโรงเรือน จำนวน 7 โรงเรือน พร้อมออกแบบแพ็คเกจจิ้งและป้าย เพื่อจำหน่ายที่ท็อปส์ และเปิดฟาร์มเป็นสถานที่ศึกษาดูงานด้านการปลูกเมล่อน รวมทั้งมีแผนขยายเครือข่ายผู้ปลูกไปยังจังหวัดอื่นๆ เช่น ชัยนาท รวมทั้งเพิ่มปริมาณผลผลิตเมล่อนเพื่อส่งออกได้มากขึ้น พร้อมพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้การผลิตเมล่อนมาตรฐานส่งออก
Impact : สร้างช่องทางขายในตลาดสิงคโปร์ จำนวนกว่า 6.2 ตัน สร้างรายได้กว่า 530,400 บาท และยังคงมียอดการสั่งต่อเนื่องมาถึงปี 2568 รวมยอดที่ส่งออกไปสิงคโปร์ ทั้งสิ้น 25.2 ตัน รายได้รวม 2 ล้านบาท รวมทั้งมีผู้เข้าอบรม/ดูงานกว่า 1,200 คน ปัจจุบันฟาร์มเมล่อน ได้ยกระดับเป็นชุมชนท่องเที่ยววิถีชุมชน มีนักท่องเที่ยวเฉลี่ยปีละประมาณ 2,000 คน สร้างรายได้ให้ชุมชนไปแล้วถึง 17 ล้านบาท เป็นการเพิ่มรายได้ด้านการท่องเที่ยวให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งในปี 2568 มีเป้าหมายที่จะขยายเครือข่ายผู้ปลูกไปยังจังหวัดอื่นๆ เช่น ชัยนาท
ด้านสิ่งแวดล้อม : บริหารจัดการ Food Loss , Food Waste ผ่านการนำเมล่อนที่เน่าเสียไปเลี้ยงไก่ และมีแผนขยายโครงการไปยังชุมชนเกษตรและโรงเรียน รวมถึงเพิ่มการใช้ประโยชน์จากของเสียทางการเกษตร เช่น ฟางข้าวและผักตบชวา ไปจนถึงโครงการจัดการขยะในศูนย์การค้าเซ็นทรัล อยุธยา ที่คัดแยกและรีไซเคิลขยะ
ด้านการศึกษา : พัฒนาโรงเรียนในท้องถิ่น และขยายเครือข่ายส่งเสริมอาชีพคนพิการ โดยได้จัดตั้งวิสาหกิจชุมชนสินค้าแฮนด์เมดผู้ปกครองคนพิการสติปัญญาทำอาชีพผลิตสินค้าหัตถกรรม สำหรับแบรนด์ Good Goods พร้อมสนับสนุนพื้นที่ขาย โดยสามารถสร้างรายได้ให้คนพิการได้ในปีที่ผ่านมา 2 ล้านบาท และมีแผนขยายเครือข่ายเพิ่มเติมในปีนี้
3. จังหวัดเชียงใหม่ ชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถีชีวิตยั่งยืนแม่ทา อ.แม่ออน
Action : ร่วมกับมูลนิธิสายใยแผ่นดิน (Earth Net Foundation) พัฒนา ‘พื้นที่วิถียั่งยืนแม่ทา’ ตั้งแต่ปี 2560 มุ่งสร้างเกษตรอินทรีย์ต้นแบบ พร้อมผลักดันคนรุ่นใหม่สู่บทบาทเกษตรกรรุ่นใหม่ ได้มีการพัฒนาคุณภาพผลผลิต สนับสนุนการรับซื้อ สร้างแบรนด์ ออกแบบบรรจุภัณฑ์ และขยายช่องทางจัดจำหน่าย เพิ่มรายได้อย่างยั่งยืน พร้อมสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น อาคารอบรม ห้องคัดแยกเมล็ดพันธุ์ อาคารคัดบรรจุผักมาตรฐาน อย. ตลอดจนรถขนส่งห้องเย็น ในปี 2567
Impact : สร้างรายได้ให้ชุมชน 14 ล้านบาท สร้างคุณภาพชีวิตให้ 130 ครัวเรือน พร้อมต่อยอดพัฒนาโฮมสเตย์และศูนย์เรียนรู้ เตรียมความพร้อมในการก้าวไปสู่การท่องเที่ยวชุมชนเพื่อสุขภาพแบบองค์รวม (Holistic Wellness) เพื่อเป็นพื้นที่สัมผัสประสบการณ์ในแบบแม่ทา เริ่มตั้งแต่ Gastronomic Delight การกินอาหารให้เป็นยา ดอกไม้กินได้ วัตถุดิบธาตุเจ้าเรือน Creative Agriculture การอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ความมั่นคงทางอาหาร ห้องเรียนธรรมชาติ Folk Wisdom & Healing การรักษาโรคด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น Art & Heart ศิลปะบนผืนผ้า สปาบำบัด มีผู้เข้าอบรบและดูงานในชุมชนแม่ทากว่า 800 คน
ด้านสิ่งแวดล้อม : จัดการขยะ ณ ตลาดจริงใจ แปรรูปขยะอินทรีย์ 7.52 ตัน เป็นปุ๋ยและก๊าซชีวภาพ รีไซเคิลวัสดุ 8.74 ตัน เตรียมเปิด ‘ศูนย์การเรียนรู้ด้านการจัดการขยะ’ ปี 2568 พร้อมขยาย ‘กาแฟสร้างป่า’ ที่แม่แจ่ม คลอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1,570 ไร่ พร้อมขยายโครงการนำร่องป้องกันการเผา ‘Zero Burning Initiatives’ เพื่อเป็นกลยุทธ์ระยะยาวต่อสู้ PM2.5 ในพื้นที่ และลดการเผาทางการเกษตร ฟื้นฟูพื้นที่ 10,000 ไร่ สู่เศรษฐกิจหมุนเวียน
ด้านการศึกษา : พัฒนาโรงเรียนวัดดอนชัย ในพื้นที่ ปรับปรุงอาคาร ห้องสมุด ห้องคอมพิวเตอร์ พร้อมเติมทักษะที่สอดคล้องกับชุมชนแม่ทา เพื่อตั้งเป้าเป็นโรงเรียนศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ในปี 2568 รวมทั้งส่งเสริมอาชีพคนพิการสำหรับโครงการต่างๆ ของกลุ่มชุมชนรวมทั้งเครือข่ายกลุ่มเซ็นทรัลรวมกว่า 22 ราย
4. จังหวัด ชัยภูมิ วิสาหกิจชุมชนปลูกพืชเศรษฐกิจบ้านเทพพนา อ.เทพสถิต
Action : ต่อยอดความแข็งแกร่งของพื้นที่ ในฐานะ 1 ใน 7 ผู้ปลูกอะโวคาโด พันธุ์แฮสส์ในประเทศไทย ตามวิถีเกษตรอัจฉริยะแบบยั่งยืน ด้วยระบบโซลาร์เซลล์ ธนาคารน้ำใต้ดิน ใช้ปุ๋ยหมักเติมอากาศ และเพาะเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี เพื่อแก้ปัญหาโรคพืชในการปลูกอะโวคาโด
Impact : สร้างรายได้ 40 ล้านบาท ในปี 2567 และขยายผลเครือข่ายผู้ปลูกอะโวคาโดได้ถึง 1,000 ราย พร้อมต่อยอดท่องเที่ยวชุมชนเชิงเกษตรอินทรีย์ ร่วมกับสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด จัดทำเส้นทางท่องเที่ยวรองรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทุกปี โดย การสร้างศูนย์การเรียนรู้ 2 อาคาร สามารถรองรับผู้เข้าอบรมและนักท่องเที่ยวรวมทั้งหมด 14,000 คน
ด้านสิ่งแวดล้อม : แผนฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวและส่งเสริมนวัตกรรมเกษตรยั่งยืน ครอบคลุม 5,000 ไร่ เพื่อแก้ปัญหาดินเสื่อมโทรมและรายได้ไม่มั่นคง โดยส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจมูลค่าสูง เช่น อะโวคาโด, แมคคาเดเมีย, ทุเรียน, และกาแฟโรบัสต้า พร้อมพัฒนาโรงผลิตถ่านไบโอชาร์และปุ๋ยหมักจากเศษวัสดุทางการเกษตร เพื่อลด PM2.5 ถ่านไบโอชาร์ช่วยฟื้นฟูดิน ลดต้นทุนการใช้ปุ๋ย กักเก็บคาร์บอน และรักษาความชุ่มชื้น รวมทังยยายผลเป็น ‘ศูนย์เรียนรู้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อการเกษตร’ บูรณาการโรงผลิตถ่านชีวภาพและปุ๋ยหมัก เพื่อฝึกอบรมและขยายการเกษตรยั่งยืนทั่วภูมิภาค ตั้งเป้าเป็นโมเดลต้นแบบ สร้างเครือข่ายเกษตรสีเขียว และความมั่นคงทางเศรษฐกิจระยะยาวให้เกษตรกรท้องถิ่น
ด้านการศึกษา : พัฒนาโรงเรียนบ้านไร่พัฒนา เป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ ตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมต้น ร่วมกับวิสาหกิจ ส่งเสริมการปลูกอะโวคาโด พร้อมพัฒนาทักษะและจ้างงานคนพิการในสวน โดยตั้งเป้าขยายการจ้างงานต่อเนื่องในปีนี้ พร้อมยกระดับสู่ต้นแบบด้านการศึกษาและการศึกษาดูงานในพื้นที่ ให้โรงเรียนในเครือข่าย 10 โรงเรียน โดยเน้นการพัฒนาครูในด้านภาษาอังกฤษ, STEM, และการสร้างนักเรียนที่มีคุณธรรม
เซ็นทรัล ทำ เชื่อมั่นว่า การลงมือทำร่วมกันด้วยใจ คือรากฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ไม่เพียงแต่สร้างเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง แต่ยังร่วมกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สนับสนุนการเกษตรยั่งยืน และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเปิดโอกาสให้ชุมชนได้พัฒนาทักษะ สร้างรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตในระยะยาว