กระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกที่กำลังมุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียว-คาร์บอนต่ำ เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ และมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น การปรับทิศทางธุรกิจสู่โมเดลแบบ Go Green ที่มีคาร์บอนต่ำ จึงไม่ใช่ “ทางเลือก” สำหรับธุรกิจอีกต่อไป แต่เป็นเงื่อนไขบังคับที่จะขีดเส้นว่า ธุรกิจของเราจะอยู่ในเส้นทางการแข่งขันของยุคถัดไปได้หรือไม่
ตอนนี้โลกไม่ได้ถามว่า “คุณอยากเปลี่ยนไหม?” แต่กำลังถามว่า “คุณเปลี่ยนทันหรือเปล่า?”
@สะเทือนธุรกิจทุกระดับ แม้แต่ SME
การเปลี่ยนแปลงนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องของบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น แต่สำหรับผู้ประกอบการ SME ก็คงหลีกเลี่ยงประเด็นนี้ยาก ตราบเท่าที่ยังเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทาน หรือ Supply chain ในระบบการผลิต แต่จะมีผู้ประกอบการสักกี่รายที่เข้าใจโจทย์เหล่านี้
ผลสำรวจล่าสุดจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ในตัวอย่างกลุ่ม SME ไทย เกือบ 2,700 ราย พบมีเพียง 3.8% ที่รู้ในเรื่องความยั่งยืนและเป็นความรู้ในระดับ “ขั้นพื้นฐาน” เท่านั้น!! ซึ่งหากเทียบกับตัวเลขจริงของผู้ประกอบการ SME ในปัจจุบันที่มีอยู่กว่า 3.24 ล้านราย ยิ่งน่าเป็นห่วง
ด้วยข้อจำกัดต่างๆ ทั้งต้นทุน เวลา และความเข้าใจในผลกระทบของกฎระเบียบใหม่ เช่น มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) หรือ EU Deforestation Regulation (EUDR) กฎหมายใหม่ภายใต้ EU Green Deal ที่ห้ามนำเข้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำลายป่าเข้าสู่ EU อาจยังดูไกลตัว การขาดแรงจูงใจที่ชัดเจนหรือการสนับสนุนในระดับปฏิบัติการ ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่เห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่โมเดลธุรกิจสีเขียว
@สื่อสารเพื่อให้ตระหนัก ก่อนตระหนก
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในฐานะ “ธนาคารชั้นนำระดับภูมิภาค” เป็นอีกหนึ่งองค์กรชั้นนำที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก และพยายามสื่อสารกับลูกค้าผู้ประกอบการต่างๆ เพื่อให้เกิดความตื่นตัว
คุณกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เล่าว่า ธนาคารได้จัดโครงการ The Great Green Transition เพื่อร่วมกันสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการที่ต้องการปรับตัวและค้นหาแนวทางต่อยอดธุรกิจสู่การเติบโตในอนาคต ที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและหลักการ ESG
ผ่านหลากหลายกิจกรรม ได้แก่ โครงการ Green Innovative Solutions Startup Pitching Day เพื่อเฟ้นหาสตาร์ทอัพธุรกิจสีเขียวที่มีไอเดียสร้างสรรค์ การเปิด Official Fanpage บนแพลตฟอร์ม Facebook ภายใต้ชื่อ “The Great Green Transition by Bangkok Bank” เพื่อเป็นแหล่งรวบรวม แบ่งปันความรู้ และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มด้านสิ่งแวดล้อม ความคืบหน้าด้านมาตรการกฎระเบียบที่จะมีผลต่อการดำเนินธุรกิจ
เชื่อมต่อมาถึงงานสัมมนาใหญ่ The Great Green Transition ที่ได้จัดขึ้นเมื่อปลายเดือน มี.ค. ที่ผ่านมาเพื่อร่วมฟังแนวคิดจากองค์กรชั้นนำ และสุดท้ายคือเตรียมต่อยอดสร้างเครือข่ายกับ Green Transition Academy ซึ่งเป็นหลักสูตรเชิงลึกแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเตรียมความพร้อมอย่างครบวงจรต่อไป
“สถาบันการเงินเอง แม้จะไม่ใช่ภาคส่วนที่สร้างผลกระทบต่อโลกมากที่สุด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าลูกค้าต่างๆ ภายใต้องค์กรนั้นต่างมีส่วนเกี่ยวข้อง ดังนั้นการเป็นผู้นำเพื่อร่วมกัน “เปลี่ยน” แนวทางการดำเนินธุรกิจของลูกค้าด้วยการสนับสนุนในด้านต่างๆ จึงเป็นเรื่องจำเป็นภายใต้บริบทของการเป็น “เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน” ที่ยึดมั่นมาตลอด 80 ปีที่ผ่านมา ทำให้ธนาคารกรุงเทพดูแลลูกค้าอย่างคนในครอบครัวที่หวังจะพาก้าวข้ามทุก ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างราบรื่นและยิ่งกว่านั้นคือสามารถเติบโตต่อไปได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่” คุณกอบศักดิ์ ตอกย้ำจุดยืนของธนาคาร
@ระดมกำลังหนุนผู้ประกอบการปรับตัว
นอกจากบทบาทของการให้ความรู้และสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการแล้ว ที่ผ่านมาธนาคารกรุงเทพยังมุ่งมั่นให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) และเป็นตัวกลาง ในการสนับสนุนการลงทุน เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สินเชื่อสีเขียว (Green Credit) ที่ออกแบบมาเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่าน สำหรับหลากหลายธุรกิจ อาทิ สินเชื่อบัวหลวงกรีนเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม วงเงิน 10,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยพิเศษ ผ่อนชำระได้นานสูงสุดถึง 8 ปี เพื่อสนับสนุนธุรกิจที่ต้องการเงินทุนสำหรับการปรับตัวเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ใน 3 ด้าน คือ 1) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2) ปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ 3) ลดการสร้างมลพิษ
นอกจากนี้ ธนาคารยังช่วยเป็นตัวกลางที่ดึงพันธมิตรชั้นนำ ทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันวิจัย ที่พร้อมสนับสนุน SME ให้ก้าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจสีเขียวได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะ “สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย” องค์กรขนาดใหญ่ที่มีภาคธุรกิจเป็นสมาชิกอยู่กว่า 16,000 ราย เป็นอีกภาคส่วนที่ทำงานเชิงรุกเพื่อผลักดันภาคธุรกิจของไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน และเล็งเห็นถึงเส้นทาง (Road Map) ที่จะพา SME เปลี่ยนไปสู่ธุรกิจสีเขียวอย่างยั่งยืนได้
@ปรับตัวอย่างไรให้ตรงจุด..?
เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียวและดึงผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบนี้ได้ง่ายขึ้น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้สรุป 6 จิ๊กซอว์สำคัญ ที่ภาครัฐและภาคเอกชน ต้องร่วมมือกันขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่
1. Green Transition Facilitator : หน่วยงานกลางที่ช่วยกำหนดแนวทางปรับตัวสู่เศรษฐกิจสีเขียวได้ถูกทิศทาง มีแผนงานที่ชัดเจน ทันเหตุการณ์
2. Green Standard : ยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการสีเขียวให้สอดคล้องกับเกณฑ์สากล
3. Green Enterprise Indicator (GEI) : พัฒนาเครื่องมือและดัชนีวัดเป็นเครื่องมือประเมิน SME สีเขียวและผลักดันให้เกิดการนำไปใช้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น มาตรการส่งเสริมต่างๆ จากภาครัฐ
4. Green Financing : แหล่งเงินทุน ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งทุนของ SME หรือการให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่ากับ SME ในระยะตั้งต้น
5. Green Incentives : สิทธิประโยชน์จูงใจที่เหมาะสม เพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่าน
6. Market Access and Global Value Chain : เปิดโอกาสให้ SME เข้าถึงตลาดอย่างมีศักยภาพ เช่น จัดตั้ง Center of Excellence / Intelligence Unit วิเคราะห์โอกาสทางการตลาดสีเขียวในอนาคต แชร์ข้อมูลให้เข้าถึงง่าย รวดเร็วและทันสมัย รวมถึง Two-way communication
“สภาอุตสาหกรรม พร้อมเป็นพี่เลี้ยงให้แก่ SME ในการเริ่มต้นเปลี่ยนผ่าน โดยเริ่มจากสำรวจว่าเราอยู่ตรงไหนของตลาดและตลาดต้องการสินค้าอย่างไร เพื่อนำมาสู่การปรับเปลี่ยนสินค้าและเห็นแรงจูงใจของการเปลี่ยนไปของตลาดในอนาคต ที่สำคัญไทยสามารถพัฒนาแนวทางความยั่งยืนที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของไทยเอง และเชื่อมโยงกับแนวทางปฏิบัติของโลกได้ โดยไม่ต้องใช้เงื่อนไขเดียวกันทั้งหมด ซึ่งสภาอุตฯ ได้หารือร่วมกับทางสหภาพยุโรป เพื่อจัดทำแนวทางสำหรับโครงการและการจัดการสินทรัพย์ให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศของไทย หรือหา Baseline ของไทยที่เหมาะสม ต่อการจัดหมวดธุรกิจว่ามีการจัดการความยั่งยืนอยู่ในระดับใด เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถปรับตัวได้จริง นับเป็นก้าวสำคัญของการช่วยผู้ประกอบการให้ปรับตัวได้อย่างยั่งยืนและเป็นธรรม” ดร.สวนิตย์ บุญญาสุวัฒน์ รองประธานคณะทำงาน BCG Model สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย อธิบาย
เมื่อความยั่งยืนกลายเป็นข้อกำหนดใหม่ของโลก “Go Green” จึงเป็นทางรอดสำหรับธุรกิจที่ยังต้องการ “ไปต่อ” ยิ่งเข้าใจเร็ว และเริ่มต้นได้อย่างถูกทาง ธุรกิจก็จะสามารถชิงความได้เปรียบในตลาดโลกได้ก่อน ช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างมั่นคงในระยะยาว ซึ่งเป็นสิ่งที่ “ธนาคารกรุงเทพ” ยืนหยัดบทบาท “เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน” ที่พร้อมอยู่เคียงข้างผู้ประกอบการไทยในทุกจังหวะของการเปลี่ยนแปลง