Top StoriesTrending

กลุ่มบริษัทบางจากยืนยันความพร้อมโครงการ SAF ย้ำทุกอย่างเป็นไปตามแผ​น พร้อมขับเคลื่อนครึ่งปีหลัง ชี้เป็นโซลูชันเดียวในการลดคาร์บอนของภาคการบิน

หน่วยผลิต SAF ของกลุ่มบริษัทบางจาก เป็น​หนึ่งก้าวสำคัญของกลุ่มบริษัทบางจากในการต่อยอดสู่ธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต ​ร่วมผลักดันประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

กลุ่มบริษัทบางจากยืนยันความพร้อมในการดำเนินงานโครงการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) ทั้งในด้าน​เทคโนโลยี และตลาดรองรับ  โดยทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ทั้งความคืบหน้าในการลงทุน หรืองบประมาณที่ใช้

พร้อมตอกย้ำว่า SAF คือ โซลูชันเดียวในการลดคาร์บอนในภาคการบิน จึงยังคงเป็นตลาดที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะหลังปี 2030 ที่หลายประเทศทั่วโลก จะเริ่มเข้าสู่ภาคการบังคับใช้ จะทำให้มีปริมาณความต้องการสูง ​และราคาปรับเพิ่มมากขึ้น  ย้ำกระแสข่าวโครงการประสบปัญหาขาดทุนคาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

คุณชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การลงทุนในโครงการ SAF ถือเป็นก้าวสำคัญของบางจากฯ เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ในฐาน​ะผู้นำด้านพลังงานทดแทนสู่ผู้นำพลังงานแห่งอนาคต จากประสบการณ์กว่า 20 ปีในการจัดเก็บน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว (Used Cooking Oil: UCO ) เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ และมีความได้เปรียบเชิงต้นทุน ด้วยการใช้ทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานของโรงกลั่นเดิม ช่วยลดต้นทุนการก่อสร้างและการดำเนินงาน ซึ่งบางจาก​​ถือเป็นผู้บุกเบิกการผลิต Neat SAF 100%  รายแรกของประเทศไทย

ทั้งนี้ หน่วยผลิต SAF ของกลุ่มบริษัทบางจาก ดำเนินการโดยบริษัท บีเอสจีเอฟ จำกัด จะมีพิธีเปิดในวันที่ 25เมษายน 2568 ณ โรงกลั่นน้ำมันบางจาก พระโขนง นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของกลุ่มบริษัทบางจากในการต่อยอดสู่ธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต และร่วมผลักดันประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

 

“สำหรับความคืบหน้าโครงการเป็นไปตามแผนทั้งในเรื่องของการก่อสร้างซึ่งปัจจุบันแล้วเสร็จไปกว่า 96% ​รวมทั้งงบประมาณที่ใช้ โดย​อยู่ระหว่างการเตรียมเดินเครื่องในไตรมาส 2 ของปี 2568 โดยมีแผนเริ่มต้นจากการทดสอบสมรรถนะของโรงงาน (Plant Performance Test Run) และจะทยอยเพิ่มระดับการผลิต (Ramp-up) ไปสู่การดำเนินงานอย่างต่อเนื่องตามสัญญาการจำหน่ายและแนวโน้มความต้องการของตลาด และคาดจะสามารถเริ่มรับรู้รายได้ในราวไตรมาส 3 เป็นต้นไป ส่วนการคืนทุน ได้ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 3-5 ปี แต่จากการที่หลายประเทศมีการชะลอการบังคับใช้ SAF ออกไป รวมทั้งมีการทบทวนนโยบาย ซึ่งอาจกระทบต่อการยืดระยะเวลาในการคืนทุนไปจนถึง 5-7 ปี ” 

สำหรับการเตรียมความพร้อมด้านวัตถุดิบเพื่อรองรับการผลิต รวมทั้งการหาตลาดหลังโรงงานแล้วเสร็จ และมีการขับเคลื่อนในเชิงพาณิชย์  ทางบางจากฯ ได้ลงนามในสัญญาซื้อขาย SAF กับลูกค้าหลักแล้ว รวมไปการ​​รับจ้างการกลั่น (Tolling) อีกทั้งอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง  ขณะที่ในส่วนการจัดหาวัตถุดิบจากน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว (Used Cooking Oil: UCO) ได้ทำ MOU กับผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ และรายย่อยรวมกว่า 10 ราย ​โดยเฉพาะบริษัทอาหารรายใหญ่ของประเทศที่มีฐานการผลิตกระจายไปทั่วโลก​ ซึ่งปัจจุบันมีสต๊อกแล้วกว่า 25 ล้านลิตร รวมทั้งการใช้วัตถุดิบทางเลือก (ของเหลือทิ้งจากภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการอื่นๆ) ภายใต้ระบบที่ได้รับการรับรองมาตรฐานระดับสากลจาก International Sustainability and Carbon Certification (ISCC)  เพื่อเพิ่มความหลากหลายของการได้มาซึ่งวัตถุดิบ และเป็นการวางรากฐานในการสร้างอีโคซิสเต็มให้กับการผลิตได้อย่างยั่งยืน

“​ตลาด SAF ยังคงเป็นตลาดที่มีศักยภาพ และเป็นโซลูชันเดียวสำหรับการลดคาร์บอนในอุตสาหกรรมการบิน  แม้ในหลายประเทศยังไม่มีนโยบายบังคับผสม SAF ที่ชัดเจน โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย แต่ความต้องการเชื้อเพลิง SAF ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องทั่วโลก จากแรงขับเคลื่อนของเป้าหมาย Net Zero และการลดคาร์บอนในภาคการบิน ขณะเดียวกัน หลายภูมิภาค เช่น สหภาพยุโรป ได้เริ่มกำหนดเป้าหมายขั้นต่ำที่ 2% ภายในปี 2025 สะท้อนทิศทางที่ชัดเจนและสร้างแรงจูงใจในการลงทุน แม้ในระยะสั้นตลาด SAF อาจยังมีปริมาณเหลืออยู่บ้าง แต่ระยะยาวเริ่มจากปี 2030 กลับมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะขาดแคลน เมื่อข้อกำหนดบังคับเริ่มทยอยมีผลในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งราคาที่เชื่อว่าจะปรับตัวได้ดีขึ้นสอดคล้องกับดีมานด์ซัพพลาย​ในตลาด โดยคาดว่าอาจจะปรับไปได้ถึงลิตรละ 70 -80 บาท  จากปัจจุบันราคาอยู่ที่ราว 40-50 บาท  แต่ในระหว่างนี้จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการที่เหมาะสม”

สำหรับกระแสข่าวที่ว่า การดำเนินโครงการมีปัญหาและประสบภาวะขาดทุนนั้น ถือว่าคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง และไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ของผู้ให้ข่าว เพราะ​โครงการมีการวางแผนและดำเนินการอย่างเป็นระบบ และทุกอย่างเป็นไปตามแผนทั้งการก่อสร้าง หรืองบประมาณที่ใช้ รวมทั้งแผนเพื่อรองรับการเปิดดำเนินงานในเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนให้เกิดเป็นระบบนิเวศธุรกิจที่สมบูรณ์ในธุรกิจ ทั้งกระบวนการผลิต การหาตลาด หาลูกค้า แต่ยังขาดการสนับสนุนจากภาครัฐเหมือนในหลายประเทศที่มีการก่อสร้างโรงาน SAF  เช่นในสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น หรือในประเทศจีน อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายปัจจัยที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินผลกระทบ โดยเฉพาะปัจจัยจากต่างประเทศ ที่อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพในระยะยาว โดยเฉพาะโครงการเกี่ยวกับ Sustainability ต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแผนการลงทุนในระยะยาว หากนโยบายไม่มีความมั่นคงหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อโครงการได้