ในโลกของอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยห่วงโซ่อุปทานที่ซับซ้อนและความคาดหวังของผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด Compassion in World Farming (CIWF) เป็นผู้นำในการยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์ม โดยร่วมมือกับภาคธุรกิจ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในการยกระดับมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ในระบบอาหารโลก
พร้อมสนับสนุนให้บริษัทปรับเข้าหาความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปและเป็นไปตามข้อกำหนดทางกฎหมาย โดยมีจุดประสงค์ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์กับทั้งสัตว์และอุตสาหกรรม
ประเทศไทยได้มีความก้าวหน้าด้านสวัสดิภาพของสัตว์อย่างมาก ดังจะเห็นได้จากบริษัทท้องถิ่น อาทิ แทนคุณ ออร์แกนิคฟาร์ม, เคพีเอสฟาร์ม และ คลองไผ่ฟาร์ม ที่ได้รับการยกย่องจาก CIWF ในฐานะผู้ประกอบการที่มีมาตรฐานการทำฟาร์มที่ดี
แทนคุณ ออร์แกนิคฟาร์ม ได้เป็นผู้บุกเบิกมาตรฐานใหม่ในการผลิตไข่อย่างมีจริยธรรมในประเทศไทย โดยได้รับรางวัลความมุ่งมั่นด้านไข่ไก่ดีเด่น (Good Egg Award) จากการใช้อาหารออร์แกนิกเป็นหลัก และแบ่งปันวิธีการปศุสัตว์ที่ยั่งยืนกับเครือข่ายเกษตรกรในท้องถิ่น
รางวัลความมุ่งมั่นในการเลิกเลี้ยงแม่สุกรแบบยืนซองดีเด่น (Sow Stall Free Award) มอบให้กับ เคพีเอสฟาร์ม เป็นครั้งแรก เพื่อยกย่องในฐานะผู้ผลิตไทยที่บุกเบิกการใช้ระบบปลอดคอกแม่สุกรทั่วทั้งฟาร์ม 100% โดยที่แม่สุกรทุกตัวจะได้รับการเลี้ยงเป็นกลุ่มในช่วงพักตัวระหว่างการตั้งท้อง
นอกจากนี้ ฟาร์มคลองไผ่ ยังได้รับรางวัลความมุ่งมั่นด้านไข่ไก่ดีเด่น (Good Egg Award) และรางวัลความมุ่งมั่นด้านไก่งวงดีเด่น (Good Turkey Award) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการใช้มาตรฐานการทำฟาร์มที่มีจริยธรรมและยั่งยืน พร้อมเดินหน้าในฐานะผู้ให้บริการไข่เลี้ยงแบบปล่อยคุณภาพสูงและผลิตภัณฑ์จากฟาร์มสู่โต๊ะที่หลากหลาย
การทำงานอย่างต่อเนื่องของ CIWF มุ่งมั่นให้คำแนะนำและแนวทางปฏิบัติแก่ธุรกิจเพื่อปรับเปลี่ยนไปสู่มาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ที่สูงขึ้น ซึ่งไม่เพียงช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตสัตว์ แต่ยังเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่อุปทานและเพิ่มความยั่งยืนให้กับธุรกิจในระยะยาวไปด้วยกัน
จากผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมสู่ผู้ผลักดันการเปลี่ยนแปลง
ในฐานะสมาชิกของทีมธุรกิจอาหารของ CIWF คุณรูเบีย โซอาเรส ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายธุรกิจอาหาร มุ่งมั่นขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรม ตลอดเวลา 5 ปีที่ ได้ร่วมงานกับองค์กร คุณรูเบียมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาสวัสดิภาพชีวิตไก่เนื้อในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและละตินอเมริกา พร้อมเสริมสร้างนโยบายและแนวปฏิบัติให้แก่บริษัทมากมายในตลาดอย่างใกล้ชิด รวมทั้งส่งเสริมมาตรฐานการดูแลสัตว์ที่สูงขึ้น
เนื่องจากเป็นผู้คร่ำหวอดในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์มากว่า 15 ปี คุณรูเบียได้ร่วมงานกับหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น ผู้แปรรูปเนื้อสัตว์ ผู้ค้านำเข้า ผู้จัดจำหน่าย บริษัทการค้าระหว่างประเทศ และผู้ค้าปลีก ไม่เพียงแค่เข้าใจถึงความท้าทายที่ธุรกิจต้องเผชิญในการปรับเปลี่ยนไปสู่แนวทางการปฏิบัติที่เสริมสร้างสวัสดิภาพสัตว์ที่ดีขึ้น แต่ยังเล็งเห็นถึงโอกาสที่จะเกิดขึ้น เช่น การพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ การพัฒนาคุณภาพสินค้า และการสร้างความไว้วางใจให้แก่ผู้บริโภค
คุณรูเบียเริ่มต้นเส้นทางสู่วงการสัตวศาสตร์ด้วยความชื่นชอบสัตว์เป็นพิเศษ พร้อมความใฝ่ฝันที่จะเป็นสัตวแพทย์ในวันหนึ่ง จึงได้ตัดสินใจเข้าเรียนและได้สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีสาขาสัตวศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเซาเปาโล (ประเทศบราซิล) ด้วยความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการผลิตเนื้อสัตว์ การแปรรูป และการควบคุมคุณภาพ จากนั้นได้สำเร็จการศึกษาปริญญาโทบริหารธุรกิจหลักสูตร MBA สาขาการค้าและพาณิชย์ระหว่างประเทศ คุณรูเบียมีความเข้าใจลึกซึ้งทั้งด้านเทคนิคและธุรกิจในอุตสาหกรรมอาหารเป็นอย่างดี
แม้จะมีประสบการณ์ทำงานในแวดวงการค้าระหว่างประเทศมายาวนาน คุณรูเบียก็ยังคงมุ่งมั่นในเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ และเริ่มสนใจในด้านการผลิตที่คำนึงถึงจริยธรรมและความยั่งยืน ในปี 2012 หนังสือเรื่อง “Farmageddon: The True Cost of Cheap Meat” ที่เขียนโดยคุณฟิลิป ลิมเบอรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ CIWF ซึ่งได้ตีแผ่ประเด็นเรื่องผลกระทบจากการผลิตปศุสัตว์ในอุตสาหกรรม ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับเธอ ด้วยความที่คุณรูเบียเข้าใจถึงภารกิจของ CIWF เป็นอย่างดี เมื่อโอกาสในการเข้าร่วมองค์กรนี้มาถึง คุณรูเบียจึงไม่ลังเลที่จะคว้าโอกาสนั้นไว้
คุณรูเบีย กล่าวว่า “ดิฉันรู้สึกว่ามันถึงเวลาแล้วที่จะได้สานต่อความฝันที่นำพาตัวเองให้มาเป็นสัตวบาลตั้งแต่แรก ดิฉันตั้งใจจะอุทิศตัวให้กับการพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์และสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายในกระบวนการผลิตอาหาร”
นอกจากนี้ คุณรูเบียยังเป็นเจ้าหน้าที่ด้านสวัสดิภาพสัตว์ที่ได้รับการรับรอง โดยผ่านการอบรมจากมหาวิทยาลัยบริสตอลและบริษัท Animal Welfare Training จำกัด ทำให้มีความเชี่ยวชาญด้านสวัสดิภาพไก่เนื้อในทุกขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่โรงฟัก ฟาร์ม การขนส่ง ไปจนถึงกระบวนการชำแหละ
แนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมเพื่อการพัฒนาสวัสดิภาพไก่เนื้อ
สำหรับบทบาทหน้าที่ในองค์กร CIWF คุณรูเบียได้ช่วยให้บริษัทอาหารสามารถจัดการกับความซับซ้อนในการพัฒนาสวัสดิภาพไก่เนื้อในห่วงโซ่อุปทานของพวกเขา โดยชี้แนะแนวทางในการปรับเปลี่ยนนโยบาย การแก้ไขปัญหา และการส่งเสริมพันธกิจในระยะยาว
“จากประสบการณ์ตรงในธุรกิจการค้าผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ ทำให้ดิฉันเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงวิธีการทำงานของห่วงโซ่อุปทานไก่เนื้อและส่วนประกอบอื่น ๆ ที่ต่างต้องสอดคล้องกัน เพื่อเปลี่ยนความมุ่งมั่นด้านสวัสดิภาพสัตว์ให้เกิดผลลัพธ์ที่วัดผลได้จริงดิฉันเข้าใจถึงความท้าทายที่ธุรกิจต้องเผชิญเมื่อต้องทำการเปลี่ยนแปลง แต่ก็ยังเล็งเห็นถึงโอกาสและแนวทางที่สามารถทำให้การผลิตที่คำนึงถึงสวัสดิภาพกลายเป็นทางเลือกที่สามารถทำได้จริง” คุณรูเบียเสริม
เหตุใด “พันธสัญญา Better Chicken Commitment (BCC)” จึงเป็นเรื่องสำคัญ
หนึ่งในโครงการสำคัญที่คุณรูเบียให้การสนับสนุนอย่างจริงจังคือ พันธสัญญา Better Chicken Commitment (BCC) ซึ่งเป็นชุดเกณฑ์ที่ได้รับการรับรองทางวิทยาศาสตร์ได้เป็นตัวกำหนดแนวทางที่ชัดเจนสำหรับการผลิตไก่เนื้ออย่างมีความรับผิดชอบ และได้รับการพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาหลักด้านสวัสดิภาพในการทำฟาร์มทั่วไป เช่น การใช้สายพันธุ์ที่โตเร็วเกินไป ความแออัด การขาดแคลนการเสริมสร้างสภาพแวดล้อม และวิธีการฆ่าที่ไม่เหมาะสม โดยยังคงให้ความสำคัญกับการหาทางออกที่สามารถทำได้จริง ขยายได้ และคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ
คุณรูเบียเผยว่า “สิ่งที่ทำให้พันธสัญญา Better Chicken Commitment (BCC) มีความสำคัญเป็นพิเศษ ก็คือการมีพื้นฐานจากวิทยาศาสตร์อันแข็งแกร่ง ซึ่งเป็นแผนที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถช่วยพัฒนาสวัสดิภาพไก่เนื้อได้จริง พร้อมส่งผลกระทบที่ดีต่อธุรกิจอีกด้วย”
หลายบริษัทเริ่มตระหนักถึงความเสี่ยงทั้งด้านชื่อเสียงและการเงินจากแนวทางการปฏิบัติด้านสวัสดิภาพที่เหมาะสม ครอบคลุมไปถึงการหยุดชะงักในห่วงโซ่อุปทาน ความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคสำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีการปฏิบัติด้านสวัสดิภาพที่ดี และกฎระเบียบที่เปลี่ยนไปในแต่ละตลาด พันธสัญญา Better Chicken Commitment (BCC) ช่วยให้ธุรกิจสามารถเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต ปรับตัวให้เข้ากับความคาดหวังของตลาดที่เปลี่ยนแปลง และก้าวขึ้นเป็นผู้นำในด้านการผลิตอาหารอย่างมีจริยธรรม
“พันธสัญญา BCC เป็นทั้งเป้าหมายที่สามารถบรรลุได้และยั่งยืน โดยเป็นแนวทางที่ช่วยให้ผู้ผลิตและบริษัทอาหารอื่น ๆ สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบการผลิตใหม่ พร้อมกับรักษาความสามารถในการทำกำไรไว้ได้” คุณรูเบียกล่าวเสริม
คุณรูเบียให้การสนับสนุนแก่บริษัทต่าง ๆ ในการทำความเข้าใจขั้นตอนที่จำเป็นต่อการปฏิบัติตามพันธสัญญา BCC โดยการแบ่งปันกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จ ช่วยเชื่อมโยงกับพันธมิตรที่เหมาะสม และให้คำแนะนำทางเทคนิคเพื่อให้พวกเขามีความมั่นใจในการเลือกที่จะเปลี่ยนแปลง
เฉลิมฉลองความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมอาหาร
นอกจากการปรับเปลี่ยนนโยบายและห่วงโซ่อุปทานแล้ว องค์กร CIWF ยังยกย่องธุรกิจที่ได้มีนำร่องปฏิบัติจริงด้วย รางวัลสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์มดีเด่น (Good Farm Animal Welfare Awards) ประจำปีของ Compassion ถือเป็นการยกย่องบริษัทที่มีการดำเนินการที่มีความหมายเพื่อพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ในห่วงโซ่อุปทานของตน
“ที่ Compassion เรามุ่งเน้นการร่วมมือในเชิงบวก และรางวัลต่าง ๆ ถือเป็นการยกย่องบริษัทที่กำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงโดยการปฏิบัติตามเกณฑ์สวัสดิภาพหลักสำหรับสัตว์ในห่วงโซ่อุปทานของพวกเขา การมอบรางวัลเหล่านี้ถือเป็นแรงขับเคลื่อนอันยอดเยี่ยมสำหรับอุตสาหกรรม และนี่ก็เป็นช่วงเวลาที่ดิฉันชื่นชอบที่สุดในปีเลยค่ะ!” คุณรูเบียกล่าว
ทิศทางในอนาคต: สวัสดิภาพไก่เนื้อจะเป็นอย่างไรต่อ?
คุณรูเบีย คาดการณ์ว่าในอนาคตสวัสดิภาพสัตว์จะเป็นหัวใจสำคัญของระบบอาหารที่มีความรับผิดชอบและยั่งยืน “เส้นทางข้างหน้ายังอีกยาวไกล แต่ทุกก้าวที่เราก้าวไปล้วนมีความหมาย” “ฉันเห็นภาพอนาคตที่ระบบอาหารของเราได้รับการสรรค์สร้างขึ้นมาใหม่ และให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพสัตว์ สุขภาพของโลก และความมั่นคงของชุมชน ผลงานของบริษัทที่ได้รับรางวัลด้านสวัสดิภาพสัตว์และผู้ที่ได้นำแนวทางพันธสัญญา Better Chicken Commitment ไปประยุกต์ใช้ จะสามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงในอนาคตได้อย่างแน่นอน แม้จะมีอีกหลายสิ่งที่ต้องทำ แต่ดิฉันก็ดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเปลี่ยนแปลงนี้ผ่านบทบาทหน้าที่ที่ Compassion” คุณรูเบียกล่าวเสริม