ExperienceTop Stories

‘เกษตรก้าวหน้า’ เพื่อนคู่คิดในยุคระเบียบโลกใหม่ ‘ธนาคารกรุงเทพ’ ร่วมต่อยอดเส้นทางสู่ความยั่งยืน

โครงการ 'เกษตรก้าวหน้า' โดย ธนาคารกรุงเทพ มีเป้าหมายหลักในการพัฒนาภาคการเกษตรให้มีความเข้มแข็ง​​ ผ่านการสนับสนุน 3 ด้าน คือ ความรู้ทางการเกษตร (K – Knowledge) การเชื่อมโยงตลาด (M - Market) และการจัดการทางเงิน (F – Financial) เพื่อเติบโตอย่างยั่งยืนได้ตลอดทั้งห่วงโซ่

โลกยุคดิจิทัล เป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลงที่ก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว หรือ Disruption ที่เกิดขึ้นและท้าทายกับทุกธุรกิจพร้อมๆ กัน ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจด้าน ‘การเกษตร‘ ก็ถูกท้าทายต่อการนำเทคโนโลยีทั้งเครื่องมือและความรู้มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพให้มากขึ้นเช่นกัน

ธนาคารกรุงเทพ เป็นหนึ่งในสถาบันการเงินที่มองการณ์ไกลเห็นประเด็นนี้มาตั้งแต่ 26 ปีก่อนหน้านี้ โดยวิสัยทัศน์ของ ‘คุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์’ อดีตประธานกรรมการบริหาร ที่เล็งเห็นว่าเกษตรกรไทยจะเดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืนนั้น ต้องได้รับการถ่ายทอดความรู้และข้อมูลข่าวสาร รวมถึงแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน อันเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ เกษตรก้าวหน้า ที่ยังดำเนินมาจนถึงทุกวันนี้

คุณทัฬห์ สิริโภคี​ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานคณะทำงานเกษตรก้าวหน้า บอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งคณะทำงานเกษตรก้าวหน้าว่า ได้เริ่มต้นขึ้นในปี 2542 โดยท่านโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ อดีตประธานกรรมการบริหารเห็นว่า ธนาคารในฐานะ เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้านต้องเข้ามาสนับสนุนเรื่องนี้ เพื่อเป็นตัวกลางที่ช่วยดึงกูรูในด้านต่างๆมามอบความรู้ให้แก่เกษตรกรที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยี และได้ขยายขอบเขตการสนับสนุนด้วยการจัดงานวันเกษตรก้าวหน้า ให้เกษตรกรได้มีพื้นที่ประชาสัมพันธ์สินค้า พบปะผู้ซื้อ และกลุ่มเกษตรกรด้วยกัน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ อย่างครบวงจร

โครงการมีเป้าหมายหลักให้ภาคการเกษตรมีความเข้มแข็งและก้าวหน้าขึ้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเกษตรกร ซึ่งจะทำอย่างไรให้เกษตรกรมีความก้าวหน้าได้มากขึ้น ซึ่งทุกวันนี้ความรู้ เทคโนโลยี ตลาด และพฤติกรรมผู้บริโภคได้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การสนับสนุนภาคการเกษตร 3 ด้าน คือ ความรู้ทางการเกษตร (K – Knowledge) การเชื่อมโยงตลาด (M – Market) และการจัดการทางเงิน (F – Financial) ผ่าน 3 โครงการ ได้แก่ รวมแหล่งความรู้ด้วยกิจกรรม เกษตรสัญจร เพิ่มศักยภาพองค์กร ด้วยกิจกรรม เกษตรคู่คิด และต่อยอดให้ครบวงจรด้วยการเชื่อมโยงเครือข่ายเกษตรกรสร้างพื้นที่การค้าด้วยกิจกรรม วันเกษตรก้าวหน้า ด้วยเห็นว่าบริบทในปัจจุบันมีความผันผวนและความท้าทายเป็นอย่างมาก

ด้านภาคการเกษตรทำงานร่วมกันทั้งกลุ่มลูกค้าธนาคาร เกษตรกร พันธมิตรทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนขนาดใหญ่ ต่อยอดด้วยการคัดสรรและเผยแพร่ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ ระหว่างกันให้เกิด Ecosystem ในการพัฒนาภาคการเกษตร และที่สำคัญต้องมีกิจกรรมพัฒนาเกษตรก้าวหน้าควบคู่กันไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งกิจกรรมให้ความรู้ด้านการผลิต เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ กิจกรรมเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างกัน เพื่อตอบโจทย์ด้านการตลาด การเข้าถึงแพลตฟอร์มในยุคดิจิทัล กิจกรรมและการสนับสนุนด้านการเงิน เช่น การจัดการทางการเงิน เครื่องมือทางการเงินสำหรับเกษตรกร รวมถึงสินเชื่อเกษตร ที่จะช่วยสร้างเกษตรกรเข้าถึงโอกาสทางธุรกิจได้มากขึ้น

“ปีนี้เรามุ่งส่งเสริมให้ธุรกิจปรับปรุงการทำงานโดยดึงเอานวัตกรรม เทคโนโลยีมาปรับใช้ และก้าวไปสู่การทำเกษตรที่มีความยั่งยืน รวมทั้งเตรียมรับมือความท้าทายและกฎระเบียบใหม่ๆ ของภาคเกษตร พร้อมสร้างเครือข่ายที่แข็งแกร่งให้เกิดขึ้นไปพร้อมกัน เป็นที่น่ายินดีว่าเกษตรกรสามารถปรับตัว ทำให้เป็นผลดีต่อทั้งธุรกิจ เกษตรกรมีรายได้เพิ่มและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และยังเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมแปรรูปและส่งออก ทำให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยต่อผู้บริโภค และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย” คุณทัฬห์กล่าว

‘ฮิลล์คอฟฟ์’ ต้นแบบเกษตรก้าวหน้า สร้างความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่

หนึ่งในตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญในการสร้างเครือข่ายเกษตร ก็คือ บริษัท ฮิลล์คอฟฟ์ จำกัด ผู้ผลิตเมล็ดกาแฟ จำหน่ายอุปกรณ์ และบริการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจกาแฟครบวงจร ซึ่งได้รับรางวัลเกษตรก้าวหน้า ปี 2567 ประเภทผู้บริหารห่วงโซ่การผลิตทางการเกษตรดีเด่น ที่ใช้เวลากว่า 50 ปี ในการร่วมพัฒนาเกษตรพื้นที่สูงในภาคเหนือ ให้หันมาปลูกกาแฟทดแทนการปลูกฝิ่น ภายใต้ชื่อ โครงการเกษตรที่สูงชาวไทยภูเขาเพื่อความยั่งยืน และพัฒนามาเป็นโรงงานแปรรูปกาแฟเอกชนแห่งแรกของภาคเหนือที่แปรรูปกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้า ภายใต้ชื่อร้าน ‘ชาวไทยภูเขา‘ กระทั่งในปี 2556 บริษัท ฮิลล์คอฟฟ์ภายใต้การนำของ คุณนฤมล ทักษอุดม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮิลล์คอฟฟ์ จำกัด ทายาทรุ่นที่ 2 ซึ่งตั้งใจเข้ามายกระดับมาตรฐานการผลิตเทียบเท่าสากล โดยมีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มคุณภาพและมูลค่าสินค้าอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน บริษัท ฮิลล์คอฟฟ์ สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟกว่า 1,000 ราย ในพื้นที่ภาคเหนือ ทั้งจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง ตาก และน่าน ครอบคลุมพื้นที่ 2-3 พันไร่ สร้างอาชีพให้เกษตรกรในเครือข่ายมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สร้างการค้าเมล็ดกาแฟระหว่างบริษัทกับเกษตรกรกว่า 400 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศกว่า 200 ล้านบาทต่อปี

นอกจากการขยายเครือข่ายเกษตรกรให้เติบโต เพิ่มปริมาณวัตถุดิบให้เพียงพอต่อการทำการตลาดแล้ว สิ่งที่ช่วยผลักดันห่วงโซ่การผลิตทางการเกษตรนี้ให้เข้มแข็งได้ คือ การสร้างคุณค่าให้กับผลผลิต โดยบริษัทจะนำผลผลิตมาบริหารจัดการและใช้อย่างคุ้มค่า (Zero waste) สร้างโมเดลธุรกิจแบบยั่งยืนใส่ใจสิ่งแวดล้อมตลอดวัฎจักร ครอบคลุมตั้งแต่การปลูก คั่วกาแฟ ขนส่ง และกำจัดซากผลิตภัณฑ์ จากการประเมินขององค์การบริหารก๊าซเรือนกระจกแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบันพบว่าสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 50 % เรียกได้ว่า ฮิลล์คอฟฟ์ เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายกาแฟคาร์บอนต่ำอีกด้วย

“ตอนนี้เรามุ่งเป้าไปที่การสร้างเครือข่ายเกษตรกรอย่างยั่งยืน ที่ไม่เพียงแต่ดูแลเกษตรกรผู้ผลิต แต่ยังต้องดำเนินธุรกิจบนความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตามหลักโมเดล 3P  ได้แก่  Profit (ผลกำไร) บริษัทพัฒนาและดำเนินธุรกิจให้ก่อเกิดผลกำไรมีการเติบโตทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง People (ผู้คน) สนับสนุนให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีรายได้ สร้างความมั่นคงในอาชีพ และ Planet (โลก) เป็นธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมตลอดวัฏจักรชีวิตของการสร้างผลิตภัณฑ์ เพราะเราเชื่อว่าการสร้างซัพพลายเชนที่ดี ไม่ใช่แค่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ยังรวมถึงการส่งต่อความยั่งยืนนี้ไปได้จนถึงรุ่นลูก รุ่นหลาน ได้อย่างมั่นคง” คุณนฤมล กล่าวทิ้งท้าย

‘ความรู้บวกกับเครือข่ายความร่วมมือที่แข็งแกร่ง’ จะเป็นตัวช่วยสำคัญให้แก่ผู้ประกอบการในภาคเกษตรที่จะปรับตัวเข้าสู่โลกยุคดิจิทัล และพร้อมแข่งขันได้ในระยะยาว หากมองหาตัวช่วยเช่นนี้ ธนาคารกรุงเทพ ที่เคียงข้างเกษตรกรไทยมาอย่างยาวนานตลอด 80 ปี พร้อมจะเป็น ‘เพื่อนคู่คิด’ ที่ผลักดันให้เกิด ‘เกษตรก้าวหน้า’ อย่างเข้มแข็งต่อไป