สลัดแฟคทอรี่ เร่งเครื่อง Decarbonization ​เดินหน้าวัดคาร์บอนฟุตพรินท์องค์กร​ พร้อมขยายเฟส 2 ติดตั้งโซลาร์เซลล์ครัวกลาง

สลัดแฟคทอรี่ (Salad Factory) โดย บริษัท กรีนฟู้ดแฟคทอรี่ จำกัด จากธุรกิจครอบครัว ที่เติบโตจนเป็นหนึ่งใน Top Brands ที่มีการอัตราการเติบโตและสร้างยอดขายระดับสูงให้เครือ CRG หรือ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด ตามเทรนด์การเติบโตของตลาดอาหารเพื่อสุขภาพ จากจำนวนสาขาในปัจจุบันกว่า 46 สาขา และยังมีแผนขยายสาขาเพิ่มต่อเนื่องปีละ 8-10 แห่ง ในรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อตอบโจทย์ ทั้งโลเกชั่นและพฤติกรรมผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่ได้

สิ่งที่ทำให้สลัดแฟคทอรี่ยังรักษาการเติบโตได้ราว 25% ทั้งจากการ​เป็นธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มที่มีการเติบโตต่อเนื่องอย่างกลุ่มร้านอาหารเพื่อสุขภาพ ​ (Healthy Food Restaurant) ที่มีมูลค่าตลาดไม่ต่ำกว่า 4,500 ล้านบาท และเติบโตได้ปีละประมาณ 25% รวมทั้งการมีผู้ประกอบการเข้ามาในธุรกิจอย่างต่อเนื่อง จากช่วงเริ่มต้นที่มีราว​ 5 แบรนด์ ขยายมาเป็นไม่ต่ำกว่า 20 แบรนด์​ โดยความแข็งแรงทั้งการสร้างแบรนด์ และการสื่อสารถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบัน ‘สลัดแฟคทอรี่‘ จัดอยู่ในฐานะผู้นำ ​Top 2 ของกลุ่มธุรกิจ Healthy Food Restaurant  

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญคือ การขับเคลื่อนธุรกิจตามแนวทางความยั่งยืน โดย คุณปิยะ ดั่นคุ้ม กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรีนฟู้ด แฟคทอรี่ จำกัด ผู้บริหารแบรนด์สลัดแฟคทอรี่ กล่าวว่า สลัดแฟคทอรี่ มีนโยบายส่งเสริมความยั่งยืนควบคู่​การดำเนินธุรกิจ ​โดยมุ่งเน้นขับเคลื่อนธุรกิจพร้อมดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน เพื่อรับมือ​ความท้าทายจากบริบทที่​เปลี่ยนแปลงทั้งจากภายในและภายนอก โดยเฉพาะการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ รวมไปถึงพนักงานรุ่นใหม่ๆ ที่จะเข้ามาทำงานภายในองค์กร ซึ่งเริ่มมีสัดส่วนกลุ่ม Gen Z เพิ่มมากขึ้นถึงราว 60%  และคาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนมากขึ้นต่อเนื่องในอนาคต ซึ่งเจนเนอเรชั่นใหม่ๆ กลุ่มนี้ จะให้ความสำคัญต่อแบรนด์หรือ​องค์กรที่ขับเคลื่อนธุรกิจ โดยคำนึงถึงผลกระทบทั้งต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม

ดังนั้น ​ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม หรือสังคม จะเข้ามาเป็นอีกหนึ่งดัชนีชี้วัดและเป็นอีกหนึ่งเงื่อนไข​​ที่ภาคธุรกิจจำเป็นต้อง​ปรับตัวเพื่อรับมือต่อการเติบโตในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ​โดยการขับเคลื่อนใน​มิติสิ่งแวดล้อม สลัดแฟคทอรี่มีการดำเนินงานในหลายมิติ ต่อไปนี้

– การติดตั้งโซลาร์เซลล์ภายในโรงงานและครัวกลาง เพื่อส่งเสริมการใช้ Renewable จากพลังงานแสงอาทิตย์

การดำเนินนโยบายลดขยะ และควบคุมขยะอาหารให้ต่ำกว่า 1% ซึ่งปัจจุบันทำได้ต่ำกว่าเป้าหมายด้วยสัดส่วน 0.5% และคาดว่าจะลดลงให้เหลือเพียง 0.3% ได้อีกในปีนี้ ผ่านการบริหารจัดการแปรรูปอาหารเพื่อต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรือการติดตั้งเครื่องกำจัดขยะอาหารเพื่อเปลี่ยนเป็นปุ๋ยอินทรีย์ นำไปแจกจ่ายให้เกษตรกรภายในชุมชนและเครือข่าย รวมทั้งการร่วมมือกับทางเจ้าของพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนโครงการลดและแยกขยะต่างๆ เช่น การร่วมกับ CPN ในการร่วมกันขับเคลื่อนโครงการไม่เทรวม เป็นต้น  ​

– การขับเคลื่อนนโยบาย Sustainable Sourcing เพื่อส่งเสริมการได้มาซึ่งวัตถุดิบคุณภาพ รวมทั้งส่งเสริมการปลูกที่ยั่งยืน ส่งเสริมเกษตรกรในเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน หรือกลุ่มครอบครัวเกษตรกรที่ปลูกผักอินทรีย์ นำส่งวัตถุดิบให้บริษัท ซึ่งปัจจุบันครอบคลุมไม่ต่ำกว่า 120 ครัวเรือน โดยมีการพัฒนาระบบที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับ Traceability เพื่อความมั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัยของวัตถุดิบก่อนส่งมอบไปยังผู้บริโภค

– การส่งเสริม บรรจุภัณฑ์และอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในสาขาที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้ง​​การออกแบบผลิตภัณฑ์จากวัสดุรีไซเคิล หรือคัดเลือกบรรจุภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลาย หรือนำไปรีไซเคิลได้ รวมถึงการใช้ยูนิฟอร์มจากเส้นใยรีไซเคิล เป็นต้น โดยมีเป้าหมายใช้บรรจุภัณฑ์​ในกลุ่ม Go Green ในสัดส่วน 50% ภายใน 2 ปี จากปัจจุบันมีสัดส่วนราว 70%

สลัดแฟคทอรี่ มองการขับเคลื่นธุรกิจตามกรอบความยั่งยืนเป็น Priority​ และเริ่มดำเนินการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน โดยเฉพาะในส่วนของโรงงานหรือครัวกลาง ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมสีเขียว หรือ Green Industry ในระดับที่ 2 โดยปัจจุบันได้ทำการติดตั้งโซลาร์เซลล์ เพื่อใช้พลังงานสะอาดในกระบวนการผลิตภายในครัวกลาง และมีแผนลงทุนเพื่อติดตั้งโซลาร์เซลล์เพิ่มเติมในปีนี้ เพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันยังเน้นสื่อสารไปยังการทำงานของพนักงาน เพื่อเพิ่มการดูแลด้านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การตรวจตราอุปกรณ์ต่างๆ และ​ปรับปรุงหรือบำรุงรักษาอุปกรณ์เพื่อลดการสิ้นเปลืองทางพลังงานเพิ่มเติมด้วย รวมทั้งอยู่ระหว่างการวัดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมขององค์กร (CFO) เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการนำมาวางแผนการลดการปลดปล่อย เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายในการเป็น Carbon Neutral และ Net Zero ในทิศทางเดียวกับที่ทางเครือซีอาร์จีกำหนดไว้​ “

ขณะที่การขับเคลื่อนในมิติด้านสังคม จะขับเคลื่อนทั้งภายในผ่านการดูแลพนักงาน ตามแนวทาง DEI&B เพื่อส่งเสริมความหลากหลาย เท่าเทียม และสร้างความรู้สึกมีส่วนร่วมเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร รวมทั้งการดูแลสวัสดิการต่างๆ โดยเฉพาะการสนับสนุนการจ้างงานคนพิการ เพื่อเพิ่มอาชีพและส่งเสริมการมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการเป็นส่วนหนึ่งในการดูแล​ชุมชนรอบโรงงานซึ่งเป็นครัวกลางของบริษัทในพื้นที่ จ.​ปทุมธานี ผ่านการเข้าไปมีส่วนช่วยส่งเสริม สนับสนุน และการดูแลคุณภาพชีวิตของผู้คนภายในชุมชน เช่น โครงการฟาร์มสามารถ ที่มุ่งส่งเสริมศักยภาพคนพิการ พร้อมให้ความสำคัญกับการส่งเสริมอาชีพ และการมีรายได้ที่ยั่งยืน ภายในสมาคมคนพิการ จังหวัดปทุมธานี ​โดยมีเป้าหมาย สร้างพื้นที่ต้​นแบบแหล่งเรียนรู้ขึ้นภายในชุมชน ​เป็นต้น

​ส่วนแผนขับเคลื่อนการเติบโต​ของธุรกิจจากนี้ สลัดแฟคทอรี่ วางแผนขยายสาขาเพิ่มเติมในปีนี้อีก 8-10 แห่ง ในหลากหลายโลเกชั่น เพื่อขยายช่องทาง​การเข้าถึงอาหารสุขภาพ​ได้​ครอบคลุมยิ่งขึ้น ภายใต้งบลงทุนสาขาละประมาณ 5 ล้านบาท รวมทั้งเพิ่มโอกาสเติบโตจากการแตกแบรนด์ใหม่ๆ ซึ่งอยู่ระหว่างพัฒนาและคาดจะเปิดตัวได้ในเร็วๆ นี้ ​​เพื่อขยายพอร์ตโฟลิโอเพิ่มเติม จากปัจจุบันมีรายได้หลักมาจากกลุ่ม​ Restaurant ในสัดส่วน​​ 90% ​ขณะที่กลุ่ม Non-restaurant โดยเฉพาะธุรกิจน้ำสลัด ทั้งภายใต้แบรนด์ รวมทั้งการรับจ้างผลิตให้ทั้งธุรกิจในเครือและนอกเครือ​ มีการเติบโตเพิ่มมากขึ้นได้​เป็นอย่างดี ทำยอดขายได้แตะ 50 ล้านบาท ​พร้อมเพิ่มสัดส่วน​พอร์ต Non-restaurant ขึ้นมาที่ราว 10% แล้ว ​รวมทั้งยังมุ่ง​เดินหน้าลงทุนเพื่อขับเคลื่อนความยั่งยืนอย่างเข้มข้นมากขึ้น เช่น การขยายเฟสสอง​การติดตั้งโซลาร์เซลล์ภายในพื้นที่ครัวกลางเพิ่มเติม​ รวมไปถึงการสื่อสารให้เห็นถึงความสำคัญของกลยุทธ์การเติบโตอย่างยั่งยืน​ไปสู่พนักงานในทุกระดับ เพื่อวางแนวทางขับเคลื่อนในแต่ละมิติ เพื่อให้สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกกลับมาสู่ผู้คน สังคม และสิ่งแวดล้อมได้เพิ่มมากขึ้น

Photo : Salad Factory Thailand

Stay Connected
Latest News