สทนช.-บพท.จับมือกันปั้นหลักสูตรนักบริหารจัดการน้ำ เติมชุดความรู้พัฒนาคุณภาพน้ำ จัดการน้ำท่วม-น้ำแล้งให้องค์กรปกครองท้องถิ่น

2 หน่วยงาน สทนช.-บพท. ลงนามบันทึกความเข้าใจพัฒนาหลักสูตรสร้างนักบริหารจัดการน้ำระดับท้องถิ่น คาดหวังให้มีขีดความสามารถบริหารจัดการ ด้านพัฒนาคุณภาพน้ำ พร้อมสู้ภัยพิบัติน้ำท่วม-น้ำแล้ง ด้วย 3 ชุดความรู้

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวในโอกาสลงนามบันทึกความเข้าใจโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาหลักสูตรกลางด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในการพัฒนาศักยภาพผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านน้ำ และนักบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่โรงแรมเซ็นจูรี่พาร์ค เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2568 โดยระบุว่า โครงการดังกล่าว ซึ่ง สทนช.ร่วมมือกับ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ  กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นการดำเนินการภายใต้แนวคิดในการสร้าง Water Academy หรือสถาบันฝึกอบรมการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเปิดกว้างให้หน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำทั้งภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม มาอบรมร่วมกันด้วยหลักสูตรกลาง เพื่อเสริมศักยภาพสำหรับนักบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับปฏิบัติระดับบริหารจัดการและระดับอำนวยการ พร้อมกับการสร้างภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง เพื่อร่วมขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ

“สทนช.ตระหนักดีถึงความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรน้ำ และความจำเป็นต้องเร่งพัฒนาชุดความรู้ในการบริหารจัดการน้ำ ตลอดจนภัยพิบัติด้านน้ำ ให้พร้อมเผชิญกับเหตุการณ์ ทั้งในภาวะน้ำแล้ง และน้ำท่วม โดยได้รับการตอบสนองอย่างดียิ่งจากคณาจารย์ นักวิจัย จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผ่านหน่วยงาน บพท.”

โอกาสเดียวกันนี้ ดร.กิตติ  สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า การลงนามในบันทึกความเข้าใจกับ สทนช. เพื่อพัฒนาหลักสูตรกลางด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในการพัฒนาศักยภาพผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านน้ำ และนักบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เป็นไปตามเจตจำนงค์ของนางสาวศุภมาส  อิศรภักดี รมว.อว. ที่ผลักดันให้ บพท.มุ่งเน้นการพัฒนาความรู้ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยีที่เหมาะสม ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะของทรัพยากรมนุษย์

“โดยเฉพาะสถานการณ์น้ำของประเทศไทย การพัฒนาและการบริหารจัดการน้ำประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพจึงควรทำควบคู่ไปพร้อมกับการบูรณาการความร่วมมือทั้งในระดับวิชาการและชุมชน หลักสูตรนักบริหารทรัพยากรน้ำฯ จึงมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างวิสัยทัศน์ ทักษะ และมุมมองเชิงยุทธศาสตร์ด้านการจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ให้แก่บุคลากรระดับผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐ ท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เป็นหลักสูตรสำหรับ Water Academy และสำหรับบุคลากรในระดับพื้นที่นั้น   เพื่อพัฒนาทักษะบริหารจัดการน้ำหรือลุ่มน้ำ ผ่านการเรียนรู้บนฐานสมรรถนะเพื่อให้สามารถพัฒนาฐานข้อมูล กลไกการจัดการ และบูรณาการเครือข่ายความร่วมมือได้อย่างสัมฤทธิผล เป็นก้าวสำคัญสู่การจัดการน้ำระดับท้องถิ่นอย่างยั่งยืน”

ทั้งนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำเป็นต้องใช้ข้อมูลที่แม่นยำด้านน้ำ ผังน้ำ บริบทของพื้นที่ ภูมิปัญญาพื้นถิ่น และเทคโนโลยีนวัตกรรมที่เหมาะสมในการบริหารจัดการน้ำ และกลไกการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน การเสริมสร้างขีดความสามารถของ อปท. ให้เป็นองค์กรที่มีสมรรถนะสูงในการบริหารจัดการน้ำครบวงจร จึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่ บพท. ต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นผ่านการขับเคลื่อนด้วยข้อมูลความรู้และนวัตกรรมจากเครือข่ายมหาวิทยาลัยในพื้นที่ และดำเนินการร่วมกับภาคีทุกภาคส่วนในระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศไทย

ผู้อำนวยการ บพท.ชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมด้วยว่า หลักสูตรดังกล่าว ประกอบด้วย 3 ชุดวิชา หรือ 3 โมดูล ได้แก่ 1).ชุดวิชาว่าด้วยการวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ และการจัดตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำ  2).ชุดวิชาว่าด้วยการพัฒนาข้อมูลและความรู้สำหรับบริหารจัดการน้ำ 3).ชุดวิชาว่าด้วยการแก้ปัญหาและพัฒนาทรัพยากรน้ำ โดยจะใช้เวลาเรียน ควบคู่ไปกับการลงมือปฏิบัติจริง รวม 3 สัปดาห์ โดยผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรนี้ ซึ่งเป็นบุคลากรผู้ปฏิบัติงานในองค์กรปกครองท้องถิ่น ชุมชน รวมทั้งองค์กรผู้ใช้น้ำ จะมีขีดความสามารถเขียนแผนพัฒนาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ที่รับผิดชอบ และมีขีดความสามารถ มีทักษะในการใช้ประโยชน์ข้อมูลน้ำในการออกแบบวางแผนการจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Stay Connected
Latest News

CPAC ร่วมกับ SUPALAI ขึ้นแท่น No.1 ผู้นำนวัตกรรมก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียม ด้วยคอนกรีตกำลังอัดสูง CPAC แข็งแรง-ทนทาน ลดคาร์บอนฯ สูงสุด สู่มาตรฐานใหม่เพื่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน