ปัจจุบันการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยให้ธุรกิจดำเนินงานได้ต่อเนื่องในแง่ของการลงทุนควบคู่กับความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ Green Transformation (GX) ที่ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ทางเลือก แต่เป็นความจำเป็นที่ทุกองค์กรธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด
เอบีม คอนซัลติ้ง บริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจและดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันชั้นนำของโลก กล่าวว่า ทุกธุรกิจในปัจจุบันจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนสู่การเป็นธุรกิจสีเขียว หรือ Green Transformation ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน แต่รวมถึงธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศที่มีมาตรการเข้มข้นอย่าง “มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน” หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ CBAM ซึ่งเป็นมาตรการที่ทั้งสหภาพยุโรป (EU-CBAM) และสหรัฐอเมริกา (US-CBAM) กำหนดขึ้นเพื่อมุ่งสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแก่ประเทศคู่ค้านอกกลุ่มประเทศเหล่านี้
ทำให้เกิดผลกระทบไปสู่ทุกธุรกิจภายในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) แม้จะไม่ได้เป็นผู้ส่งออกโดยตรง แต่หากเป็นซัพพลายเออร์ (Suppliers) ให้บริษัทส่งออกเหล่านี้ ก็จำเป็นต้องมีการจัดการควบคุมเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยเช่นกัน รวมไปถึงธุรกิจที่อยู่ในตลาดทุนหรือหลักทรัพย์ (Capital Market) ที่ต้องให้ความสำคัญต่อแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน หรือ ESG ซึ่งเป็นประเด็นที่นักลงทุนกำลังเป็นให้ความสนใจด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ในการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจสีเขียวของภาคธุรกิจต่างๆ จำเป็นต้องอาศัยเงินทุนในการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งสถาบันการเงินจะให้ความสำคัญในการผลักดัน Green Loan หรือ ผลิตภัณฑ์สินเชื่อสีเขียว เพื่อสนับสนุนธุรกิจให้ดำเนินการโดยคำนึงถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืนของภาคธุรกิจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันนั้น สามารถเริ่มต้นได้จาก 3 วิธีหลักๆ ดังต่อไปนี้
– การเลือกใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานสะอาด ทดแทนพลังงานแบบดั้งเดิม (Alternative Energy Source) เช่น การใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ หรือ พลังงานลม
– การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Efficient Energy Consumption) เช่น เลือกใช้เครื่องจักรสมัยใหม่ที่มีค่าประหยัดพลังงานที่สูง หรือ เปลี่ยนมาใช้หลอดไฟ LED ที่ช่วยประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า
– ลดการปล่อยพลังงาน (Emission Reduction) เช่น การเปลี่ยนเครื่องจักรหรือกระบวนการผลิต เพื่อลดปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออก
ทั้งนี้ ภาคธุรกิจควรสร้างองค์ความรู้ในองค์กร รวมถึงแสวงหาข้อมูลที่ทันสมัยและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนผ่าน เพื่อให้การปรับตัวเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ในส่วนการสนับสนุนจากภาครัฐ ได้มีการออกมาตรการต่างๆ เพื่อสนับสนุนกิจกรรม GX เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับธุรกิจที่ปรับตัวและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงการสนับสนุนแหล่งเงินทุนผ่านทางผลิตภัณฑ์สินเชื่อของธนาคารต่างๆ หรือการสนับสนุนสินเชื่อสีเขียว เป็นต้น
สำหรับ Green Loan หรือ สินเชื่อสีเขียว เป็นเครื่องมือเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจ SMEs ที่ถือเป็นกลุ่มใหญ่ในประเทศ และต้องการเม็ดเงินเข้ามาช่วยสนับสนุนสำหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้
สินเชื่อ Green Loan ต่างจากสินเชื่อทั่วไป จากวัตถุประสงค์ในการนำไปใช้ ในโครงการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น เช่น การจัดซื้อเครื่องจักรใหม่ๆ หรือลงทุนในเทคโนโลยีที่ช่วยประหยัดพลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น โดยในปีที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์หลายแห่งได้ออกผลิตภัณฑ์ สินเชื่อ “Green Loan” ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าสินเชื่อธุรกิจทั่วไป การขยายตัวของผลิตภัณฑ์สินเชื่อในกลุ่มนี้จะเพิ่มขึ้น รวมถึงการขยายเงื่อนไขโครงการที่สามารถเข้าร่วมให้มีความหลากหลายตามกิจกรรม GX ที่จะเกิดขึ้นจากแนวโน้มของธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ
ทั้งนี้ เรื่องของ Green Loan หรือ ผลิตภัณฑ์สินเชื่อสีเขียว ที่แม้จะเป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทย แต่เรื่องนี้ถือว่าเป็นเทรนด์ในระดับโลกที่มีมานานแล้วในหลายประเทศ เป็นการชี้ให้เห็นว่า โลกการเงินที่เป็นแกนหลักของทุนนิยม ก็มีความตระหนักและสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยโลกแก้ไขปัญหา Climate Change เช่นกัน ในขณะที่ประเทศไทยเอง ก็ต้องช่วยกันสร้างการตระหนักรู้และความร่วมมือให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ หน่วยงานที่กำกับดูแล ตลาดเงิน ตลาดทุน รวมไปถึงภาคเอกชน ที่ต้องจับมือในการร่วมสร้างมาตรฐานไปพร้อมๆ กับช่วยขับเคลื่อนไปสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ หรือ Net Zero ให้ได้ในปี ค.ศ. 2065 สำหรับเมืองไทย
ส่องสถานะ GX ทั่วโลก และแผนเปลี่ยนผ่านของไทย
สำหรับภาพรวม Green Transformation (GX) ทั่วโลก มร. เคอิจิ โฮริเอะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด เคยบรรยายผ่านหัวข้อ ‘Accelerating Thailand Decarbonization with Japanese Advanced Technology and Philosophy’ ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 ไว้ว่า ทั่วโลกมีการตื่นตัวเรื่อง GX ในอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจมากขึ้น โดยในสหรัฐอเมริกา มีมาตรการทางกฎหมายเพื่อลดอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Reduction Act) โดยมุ่งเน้นไปที่การลดการปล่อยคาร์บอน และปูทางให้ผู้บริโภคหันมาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น สอดคล้องกับนโยบายควบคุมก๊าซเรือนกระจกให้ลดลง 50-52% เพื่อให้ต่ำกว่าระดับการปล่อยก๊าซในปี 2547 โดยตั้งเป้าให้สำเร็จภายในปี 2573
ขณะที่ในยุโรป มีการผลักดันมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนหรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ซึ่งเป็นมาตรการที่สหภาพยุโรป (EU) กำหนดขึ้นเพื่อมุ่งสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแก่ประเทศคู่ค้านอกสหภาพยุโรป และกำลังจะถูกนำมาบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบในปี 2569 เป็นต้นไป ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มนำร่องมาตรการดังกล่าว ในบางกลุ่มสินค้าแล้ว เช่น ซีเมนต์ อะลูมิเนียม และคาดว่าจะมีการขยายหมวดหมู่สินค้าเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต
ด้าน จีนและอินเดีย กำลังกำหนดนโยบายเพื่อสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและการลดการปล่อยคาร์บอนในประเทศของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีน ภาครัฐและบริษัทองค์กรต่างๆ กำลังทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมความพยายามในการลดการปล่อยคาร์บอน เช่น การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ที่มีปริมาณกำลังการผลิตในปี 2565 ที่ผ่านมา ด้วยสัดส่วนราว 70% ของกำลังการผลิตทั้งหมดของโลก
สำหรับประเทศไทย แม้ว่าภาพรวมพลังงานหมุนเวียนส่วนใหญ่ทั่วโลก คือพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม แต่ในประเทศไทย พลังงานหมุนเวียนส่วนใหญ่กลับมาจากแหล่งพลังงานชีวมวล จากลักษณะเฉพาะและความพรั่งพร้อมของทรัพยากรทางการเกษตร แต่ขณะเดียวกันประเทศไทยเองก็มีศักยภาพสำหรับการเติบโตของพลังงานหมุนเวียนจากแสงอาทิตย์เช่นกัน
ทั้งนี้ นโยบายและแผนพลังงานหมุนเวียนของประเทศไทย เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) กระทรวงพลังงานวางกรอบแผนพลังงานแห่งชาติสำหรับความเป็นกลางทางคาร์บอนระหว่างปี 2608- 2613 โดยมีเป้าหมาย เพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 50% โดยพิจารณาร่วมกับต้นทุนระบบกักเก็บพลังงานระยะยาว รวมทั้งตั้งเป้าผลักดันนโยบาย ประเทศไทย 4.0 ผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่ขับเคลื่อนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นมา โดยโมเดลเศรษฐกิจดังกล่าวจะนำเอาไบโอเทคโนโลยีมาประยุกต์กับพืชผลทางการเกษตรซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ ไบโอพลาสติก ผลิตภัณฑ์ชีวเคมี รวมไปถึงการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของประเทศไทย