ต้นแบบนวัตกรรม ‘ผ้าเย็นสะท้อนความร้อน’ อุณหภูมิต่ำกว่าสภาพแวดล้อม​ 6.2 องศาเซลเซียส ความหวังช่วยลดการใช้พลังงานภายในเมือง

ปี 2024 เป็นปีที่ได้รับการจดบันทึกว่ามีอากาศร้อนที่สุดตามการรายงานของ World Meteorological Organization (WMO) ส่งผลให้พื้นที่น้ำแข็งในบริเวณขั้วโลกละลายมากขึ้น ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น และอุณหภูมิของน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น โดยเหตุการณ์เหล่านี้ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์และสภาพเศรษฐกิจทั่วโลก ขณะเดียวกัน ยังมีการคาดการณ์ว่าอุณหภูมิโลกอาจสูงขึ้นอีกในปีถัดๆ ไป

สถานการณ์ด้านสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นเหตุให้เหล่าวิศวกรจากมหาวิทยาลัยเจิ้งโจว (Zhengzhou University) ในประเทศจีน และมหาวิทยาลัยเซาท์ออสเตรเลีย (UniSA) ได้ร่วมกันคิดค้นผ้าชนิดพิเศษที่มีคุณสมบัติสะท้อนความร้อน ช่วยลดอุณหภูมิให้เย็นลงแม้อุณหภูมิโดยรอบจะร้อนก็ตาม (Radiation cooling textiles)

โดยคุณสมบัติพิเศษที่ว่านี้เป็นการออกแบบผ้าให้สามารถสะท้อนแสงอาทิตย์ได้  จึงไม่ทำให้เกิดการสะสมของความร้อน พร้อมทั้งสามารถช่วยป้องกันแสงแดดและช่วยลดอุณหภูมิได้อีกด้วย

สำหรับนวัตกรรมผ้าเย็นสะท้อนความร้อน ​ประกอบด้วยวัสดุ 3 ชั้น​ ซึ่งแต่ละชั้นจะมีวัสดุที่มีคุณสมบัติต่างกัน ได้แก่ ชั้นบนสุดของเนื้อผ้าทำมาจากเส้นใยโพลีเมทิลเพนทีน (Polymethyl pentene) ซึ่งช่วยในเรื่องของการสะท้อนความร้อนอย่างมีประสิทธิภาพ ชั้นตรงกลางเป็นส่วนประกอบของลวดซิลเวอร์นาโน (Silvernano) ที่ช่วยในเรื่องการสะท้อนแสงของผ้า ซึ่งเป็นเกราะป้องกันอีกชั้นหนึ่งไม่ให้ความร้อนกระทบกับร่างกาย  และชั้นล่างสุดทำมาจากขนสัตว์ที่ช่วยกำจัดความร้อนออกจากผิวกายและทำให้อุณหภูมิเย็นลงได้แม้อุณหภูมิในบริเวณนั้นจะร้อนก็ตาม

Hou หนึ่งในนักวิจัยกล่าวว่า “การคิดค้นผ้าเย็นสะท้อนความร้อนเป็นการใช้ประโยชน์จากหลักการของการระบายความร้อนด้วยการแผ่รังสี ซึ่งเป็นกระบวนการทางธรรมชาติที่วัสดุปล่อยความร้อนสู่ชั้นบรรยากาศและสู่อวกาศในท้ายที่สุด โดยจากการทดลองนำผ้ามาวางในแนวตั้ง พบว่า ผ้าดังกล่าวมีอุณหภูมิเย็นกว่าผ้าปกติถึง 2.3 องศาเซลเซียล และยังเย็นกว่าอุณหภูมิโดยรอบถึง 6.2 องศาเซลเซียส เมื่อนำผ้ามาใช้ปกคลุมพื้นผิวในแนวนอน

การคิดค้นนวัตกรรมต้นแบบ ‘ผ้าเย็นสะท้อความร้อน’ นี้ไม่เพียงเหมาะที่จะนำมาใช้ทำเสื้อผ้าหรือเครื่องนุ่งห่มประเภทต่างๆ เท่านั้น แต่ยังอาจเหมาะแก่การนำมาใช้เป็นวัสดุในการปกคลุมอาคารบ้านเรือนหรือนำมาใช้เป็นวัสดุผลิตเฟอร์นิเจอร์สำหรับใช้กลางแจ้ง

นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังหวังอีกด้วยว่าผ้าเย็นต้นแบบ Radiation cooling textiles นี้ จะมีส่วนช่วยลดความต้องการการใช้เครื่องปรับอากาศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในเมืองต่างๆ ได้ด้วย แต่อาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง เนื่องจาก​ยังคงมีอุปสรรคด้านต้นทุนการผลิตที่ค่อนข้างสูง และอาจต้องศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับความทนทานในระยะยาวของผ้า บวกกับการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อผลักดันให้ผ้าเย็นดังกล่าวสามารถใช้ในเชิงพาณิชย์ได้นั่นเอง

 

source

source

source 

 

Stay Connected
Latest News