“เราคือหนึ่งในผู้บุกเบิกการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราทุ่มเทตั้งใจที่จะทำให้ ซีเค พาวเวอร์ เป็นบริษัทที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และกำลังเดินหน้าเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ผ่านผลการดำเนินงานที่สามารถจับต้องได้อย่างแท้จริง”
คำกล่าวของ ‘คุณธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์’ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKPower (ชื่อย่อหลักทรัพย์: CKP) หนึ่งในผู้นำการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุด ทั้งจากพลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ และจากระบบโคเจนเนอเรชั่น โดยมีกำลังการผลิตติดตั้ง 3,640 เมกะวัตต์ และยังมีคาร์บอนฟุตพรินต์ต่ำที่สุดรายหนึ่งของภูมิภาคอีกด้วย
ซีเค พาวเวอร์ ยังได้อัพเดทความสำเร็จจากการขับเคลื่อนเป้าหมาย CKP NET ZERO EMISSION 2050 เพื่อมุ่งสู่องค์กรที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 โดยภาพรวมการขับเคลื่อนในปี 2566 ที่ผ่านมา มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG Emission) ต่ำกว่าค่ากลางที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Thailand Grid) ถึง 86% โดยมี GHG Emission เพียง 0.0691 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e) ต่อการผลิตไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์-ชั่วโมง (MWh) เทียบกับค่ากลาง Thailand Grid ซึ่งอยู่ที่ 0.4999 tCO2e/MWh
ขณะที่การดำเนินงานช่วงครึ่งแรกของปี 2567 นี้ สามารถลด GHG Emission ให้ต่ำกว่าค่ากลางได้แล้ว 83% พร้อมตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดทั้งปี ได้มากกว่าปีที่ผ่านมา หรือมีการปลดปล่อยต่ำกว่าค่ากลาง Thailand Grid ได้ที่ 87%
นอกจากนี้ ยังมุ่งมั่นลดการใช้พลังงาน พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า และกระบวนการต่างๆ ภายในองค์กรอย่างต่อเนื่อง โดยตลอดปี 2566 สามารถลดการใช้พลังงานทั้งหมด 5,101 MWh (ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2,051 tCO2e) เทียบเท่าการปิดไฟ 1 ชั่วโมงในโครงการกรุงเทพปิดไฟ (Earth Hour 2024) เป็นจำนวน 186 ชั่วโมง
ส่วนช่วง 6 เดือนแรก ของปี 2567 สามารถลดใช้พลังงานได้แล้ว 2,883 MWh (ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1,313 tCO2e) หรือเทียบเท่าโครงการ Earth Hour 2024 จากการปิดไฟในกรุงเทพฯ 119 ชั่วโมง นับเป็นส่วนสำคัญในภาคการผลิตไฟฟ้าที่ช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คุณธนวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมถึง ปัจจัยที่จะใช้ เพื่อขับเคลื่อน ซีเค พาวเวอร์ ให้บรรลุความสำเร็จได้ตามเป้าหมาย ประกอบด้วย การเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตไฟฟ้า ผ่านการวางแผนระยะยาว เน้นขยายการลงทุนในโครงการที่ช่วยลด GHG Emission เช่น การศึกษาการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงไฮโดรเจนผสมก๊าซธรรมชาติในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม สอดรับกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของไทยตามร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567 – 2580 (PDP2024)
สำหรับการขับเคลื่อนช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ บริษัทสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในการผลิตไฟฟ้าได้ดีกว่าเป้าหมาย 0.86% จากการขับเคลื่อนทั้งฟากของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการพัฒนาปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า โดยมีการปรับใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนภายในองค์กรเพิ่มขึ้น เช่น การเปลี่ยนมาใช้รถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าและรถไฮบริดในการขนส่งภายในสำนักงานและโรงไฟฟ้าในเครือฯ โดยตั้งเป้าใช้พลังงานไฟฟ้าที่มาจากพลังงานหมุนเวียนภายในองค์กรได้ทั้ง 100% ตามแผนระยะยาวที่วางไว้
“ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซีเค พาวเวอร์ เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable) ภายในองค์กรมาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 93% และมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนเป็น 95% ภายในปี 2586 และเรายังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดส่งให้ประเทศไทยประมาณ 8.5 ล้านเมกะวัตต์-ชั่วโมง หรือประมาณ 17% ของไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่ใช้ในประเทศไทย โดยปี 2566 ที่ผ่านมา บริษัทสามารถหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 4.4 ล้าน tCO2e พร้อมทั้งยังมองหาแนวทางลงทุนเทคโนโลยีด้านพลังงานหมุนเวียนที่ทันสมัยในระดับโลก เพื่อเพิ่มโอกาสจากการลงทุนสีเขียวให้กับองค์กรได้เพิ่มมากขึ้น” คุณธนวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย