กลุ่มเซ็นทรัล แบ่งปันพื้นที่หน้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี เพื่อขยายและปรับปรุงทางเท้า ตามหลัก Universal Design ผลักดันกรุงเทพฯ สู่ ‘เมืองเดินได้-เมืองเดินดี’ ร่วมยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมือง ภายใต้แนวคิด Central of Life ศูนย์กลางการใช้ชีวิตของทุกคน
กลุ่มเซ็นทรัล นำโดย บริษัท เตียงจิราธิวัฒน์ จำกัด มีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ทุกคนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเสมอภาค ด้วยการ แบ่งปันพื้นที่ส่วนบุคคลของบริษัทฯ ตามโฉนดเลขที่ 538 เพื่อขยายทางเดินเท้า (ฟุตบาท) บริเวณหน้า เซ็นทรัล เอ็มบาสซี ให้ได้ตามมาตรฐานความกว้างถึง 1.20 เมตร จากเดิมที่มีจุดคับแคบใกล้บริเวณหมุดที่ดินนายเลิศ บนถนนเพลินจิตตัดถนนวิทยุ เขตปทุมวัน
พร้อมทั้งใช้งบประมาณของทางกลุ่มเซ็นทรัลเอง เพื่อใช้ปรับปรุงทางเดินเท้าใหม่ ให้เป็นไปตามหลัก Universal Design ที่เน้นการออกแบบให้ครอบคลุมการใช้งานของทุกคนอย่างแท้จริง โดยมุ่งหวังเพิ่มความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนผู้สัญจรผ่านบริเวณดังกล่าว ให้มีความสะดวกราบรื่น ลดอุปสรรคในการเดินทาง และสร้างประสบการณ์การเดินที่เป็นมิตรต่อทุกคน
สำหรับการปรับปรุงและขยายพื้นที่ทางเดินครั้งนี้ เป็นมากกว่าแค่การปรับปรุงโครงสร้างทางกายภาพ แต่ยังเป็นการสร้างสรรค์ให้เกิดพื้นที่แห่งความใส่ใจและการมีส่วนร่วม ซึ่งพิสูจน์ได้ถึงความตั้งใจจริงของกลุ่มเซ็นทรัลที่ต้องการมอบคุณค่าคืนสู่สังคม โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมสร้างพื้นที่ที่เน้นความปลอดภัยและสะดวกสบายเพื่อตอบสนองทุกไลฟ์สไตล์ ไม่ว่าจะเป็นผู้คนทั่วไป ผู้พิการทางสายตา หรือผู้ใช้รถเข็นวีลแชร์ ผ่านการร่วมพัฒนาทางเดินเท้าที่ตอบโจทย์และรองรับการใช้ชีวิตของผู้คนให้เท่าเทียมกันได้อย่างแท้จริง เพื่อขับเคลื่อนให้กรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่ทุกคนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเสมอภาค ตามแนวคิด “Central of Life – ศูนย์รวมแห่งชีวิต ที่ช่วยให้ทุกคนได้มาใช้ชีวิตในรูปแบบของตัวเอง”
โครงการนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นก้าวสำคัญที่ภาครัฐและภาคเอกชนร่วมจับมือกัน เพื่อมีส่วนร่วมในการสร้างให้กรุงเพทมหานคร ให้เป็นเมืองหลวงที่น่าอยู่ ภายใต้นโยบาย “เมืองเดินได้-เมืองเดินดี” ของกรุงเทพมหานคร ตามแนวคิดของ คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่มุ่งเน้นการออกแบบพื้นที่ที่เป็นมิตรต่อการเดินเท้าและการใช้ชีวิตประจำวันของทุกคน
รวมทั้งยังมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น จากโอกาสของ SME หรือผู้ประกอบการรายย่อยในบริเวณที่มีทางเดินเท้าเข้าถึง รวมไปถึงการมีส่วนอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม จากการที่มีผู้คนออกมาทำกิจกรรมสาธารณและสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคมได้มากขึ้น รวมทั้งยังดึงดูดกลุ่มผู้มีความสามารถพิเศษต่างๆ ให้มารวมตัวและเป็นบ่อเกิดของวัฒนธรรมสร้างสรรค์ต่างๆ
การขับเคลื่อน ‘เมืองเดินได้-เมืองเดินดี’ จึงมีส่วนสนับสนุนความยั่งยืนทั้งมิติของเศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งสิ่งแวดล้อม เพราะการมีทางเท้าที่ดี สะดวก และปลอดภัยยังมีส่วนช่วยลดการใช้รถยนต์ ทำให้ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเดินทางลงได้ รวมทั้งเสริมให้ผู้คนในเมืองมีสุขภาพที่ดีขึ้น จากการออกกำลังกายผ่านการเดินในระหว่างวันได้มากขึ้น รวมทั้งการมีส่วนสร้างความเท่าเทียมและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ชุมชนอีกด้วย