ธอส. หนุนดีไซเนอร์ไทย จับมือ W2W ​ อัพไซเคิลยูนิฟอร์มใหม่รักษ์โลก มุ่งสู่เป้าหมายธนาคารยั่งยืน

แต่ละปี​มีเสื้อผ้าที่กลายเป็นขยะเดินทางไปสู่หลุมฝังกลบมากกว่า 10 ล้านตันต่อปี และในจำนวนนี้ถูกนำไปรีไซเคิลไม่ถึง 10% ขณะที่ปัญหาขยะเสื้อผ้าไม่ได้เกิดขึ้นแค่กลางน้ำหรือปลายน้ำเท่านั้น

เพราะในกระบวนการต้นน้ำของการผลิตเสื้อผ้ายังใช้น้ำจำนวนมหาศาล ทำให้มีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์สูงเฉลี่ย 1.7 พันล้านตันต่อปี หรือประมาณ 10% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ทั่วโลก จึงได้เกิดการขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอ ด้วยแนวคิดแฟชั่นหมุนเวียน หรือ Circular Fashion เพื่อให้โลกแฟชั่นได้เป็นส่วนหนึ่งของการรักษ์โลกใบนี้ด้วย

ปัจจุบันการขับเคลื่อนความยั่งยืนในกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่นไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตหรือลูกค้า ได้ให้ความสนใจและตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อนมากขึ้น ทางบริษัท Wear to Work (W2W) ร่วมกับ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปลี่ยนชุดยูนิฟอร์มใหม่ จากเส้นใยพลาสติกรีไซเคิล ออกแบบโดย คุณเอก ทองประเสริฐ ดีไซน์เนอร์ W2W ชูแนวคิด Digital Hospitality ยูนิฟอร์มที่เป็นมากกว่าชุดทำงาน แต่ยังใส่ใจสิ่งแวดล้อม พร้อมจัดแฟชั่นโชว์ GH Bank Uniform Fashion Show By Ek Thongprasert เปิดตัวชุดยูนิฟอร์มใหม่อย่างเป็นทางการ ที่มีความเรียบหรู ใส่สบาย ทันสมัย เหมาะกับทุกรูปร่าง โดยมี คุณกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ คณะผู้บริหาร พนักงานเข้าร่วมด้วย

W2W คือ บริษัทรับออกแบบและผลิตยูนิฟอร์มให้กับองค์กรต่างๆ ที่ต้องการความโดดเด่น หรูหรา สง่างาม และภาพลักษณ์ที่แตกต่างอย่างมีดีไซน์ เพื่อให้แบรนด์เป็นที่จดจำและมอบประสบการณ์แห่งความสุขให้พนักงาน แนวคิด Happy to Wear, Happy to Work โดยมี เอก ทองประเสริฐ ดีไซเนอร์ W2W ที่มีประสบการณ์ในการออกแบบยูนิฟอร์มมากกว่า 10 ปี

คุณกัญจนิกา ศรีรัตนตรัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธอส. กล่าวว่า จากพันธกิจของ ธอส. “ทำให้คนไทยมีบ้าน” แต่สิ่งที่ทาง ธอส. ได้มองไปไกลกว่านั้นคือ ความยั่งยืน โดยได้มีการตั้งเป้าหมายในแผนระยะยาวด้านความยั่งยืนที่จะก้าวสู่การเป็น Sustainable bank หรือ ธนาคารยั่งยืน ที่ใส่ใจและดูแลสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีที่ทาง ธอส. มีแนวคิดจะเปลี่ยนชุดยูนิฟอร์ม จึงได้ร่วมกับทา​ง W2W ในการออกแบบชุดยูนิฟอร์มรักษ์โลก ด้วยการนำขวดพลาสติกรีไซเคิลมาเป็นวัสดุในการทำชุดขึ้นมา

“เมื่อได้เห็นชุดยูนิฟอร์มที่ทาง W2W ได้ออกแบบเสร็จแล้วนอกจากเรื่องความสวยงามที่ทันสมัย คุณภาพไม่แตกต่างจากการใช้วัสดุเดิมที่ใช้ทำชุดยูนิฟอร์มที่ผ่านมา เพราะเนื้อผ้าให้ความรู้สึกใส่สบายด้วย ธอส.จึงได้ต่อยอดแนวคิดด้วยการจัดกิจกรรมให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วมด้านความยั่งยืนโดยจัดกิจกรรมแลกขวดเป็นการปลูกจิตสำนึกให้ผู้ปฏิบัติงานรู้จักการใช้ซ้ำเป็นเรื่องง่าย ๆ ที่ส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติงานร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการรักษ์โลก ให้โลกของเราน่าอยู่ขึ้น และขวดพลาสติกมาจะถูกเก็บรวบรวมและนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลและผลิตเป็นเส้นใยพลาสติกรีไซเคิลในอนาคต เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธอส. กล่าว

ด้าน เอก ทองประเสริฐ ดีไซน์เนอร์ W2W กล่าวถึงแนวคิดการออกแบบยูนิฟอร์มของ ธอส. ด้วยการชูแนวคิด Digital Hospitality เพราะในยุคปัจจุบัน ธอส. ได้ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ มีความเป็นมืออาชีพ ผสานความรู้สึกของการต้อนรับที่เกี่ยวเนื่องกับอารมณ์ของคนที่อยากมีบ้าน จึงได้ตีโจทย์จากแนวคิด ให้คำว่า Digital คือการใช้โลโก้ของ ธอส. มาสร้างเป็นลายพิมพ์ เมื่อมองแล้วให้ความรู้สึกก้าวล้ำทันสมัย ส่วนคำว่า Hospitality การดีไซน์ชุดที่ทำให้พนักงานทุกคนใส่ได้อย่างมั่นใจและสวยงาม ยังเข้าถึงความรู้สึกของผู้มารับบริการ ที่มองมายังพนักงานผู้ส่วมใส่แล้วรู้สึกสบายใจ ไม่ห่างเหิน และเป็นมิตรกับผู้มารับบริการ

“แนวคิดการออกแบบชุดยังตระหนักถึงความยั่งยืน โดยนำวัสดุเส้นใยจากขวดพลาสติกมาใช้เป็นวัสดุหลัก เพื่อช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นจำนวนมาก โดยชุดสูท เป็นยูนิฟอร์มที่ใช้เส้นใยพลาสติกรีไซเคิล 100% ส่วนชุดอื่นๆ ก็มีการใช้เส้นใยพลาสติกรีไซเคิล แต่จะผสมกับวัสดุที่เป็น Easy Care เพื่อตอบโจทย์การใช้งานให้ทำความสะอาดง่าย ไม่ต้องใช้เวลารีดนาน ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าอีกด้วย”

ดร.จิราพรรณ วงศ์ทองสงวน ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบเพื่อความยั่งยืนและการออกแบบแฟชั่นหมุนเวียน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ฉายภาพการออกแบบแฟชั่นหมุนเวียนที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ว่า การออกแบบหมุนเวียน เชื่อมโยงกับทุกการออกแบบไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์หรือสินค้า โดยเสื้อผ้า ถือว่าอยู่ในอุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอ ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างความยั่งยืน เพราะเสื้อผ้า เมื่อไม่ได้ใช้งานแล้วก็จะกลายเป็นขยะนำไปหลุมฝังกลบ บางส่วนไหลลงสู่ทะเล ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศใต้น้ำและสัตว์ทะเลกินเข้าไปเพราะคิดว่าเป็นอาหาร สุดท้ายส่งผลกระทบต่อมนุษย์ในการทำประมงและรับประทานอาหารทะเล เป็นสิ่งที่วนเวียนจากการกระทำเล็กๆน้อยๆ ของมนุษย์ ที่ส่งกระทบต่อโลกใบนี้ได้

ดร.จิราพรรณ กล่าวต่อว่า ชุดยูนิฟอร์มของ ธอส. เป็นอีกหนึ่งการขับเคลื่อนของการใส่ใจสิ่งแวดล้อมที่ไม่เบียดเบียนธรรมชาติ เพราะมีกระบวนการคิดตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ในการเลือกใช้วัสดุรีไซเคิล มีอายุการใช้งานนาน และมีดีไซน์ที่สวยงาม พนักงานก็จะเกิดความอยากสวมใส่ไม่ต้องเปลี่ยนยูนิฟอร์มบ่อยๆ และการจัดการชุดยูนิฟอร์มที่ธนาคารสามารถเรียกกลับคืนได้ง่าย เพราะพนักงานทุกคนมีชุดที่เหมือนกัน ใช้วัสดุชนิดเดียวกัน ทำให้สามารถคัดแยกชิ้นส่วนแต่ละชนิด เพื่อเข้าสู่กระบวนการทำลายทิ้งอย่างถูกวิธี ต่างจากเสื้อผ้าแฟชั่นทั่วไปที่การเรียกกลับคืนได้ค่อนข้างยาก ใช้วัสดุที่แตกต่างกัน อีกทั้งการนำเสื้อผ้าไปรีไซเคิลเป็นเสื้อผ้าอีกครั้งนั้นอาจจะยังไม่มีนวัตกรรมมารองรับ ต่างจากขวดพลาสติกที่นำไปรีไซเคิลเป็นเส้นใยได้อย่างมีคุณภาพ ธอส. ในฐานะองค์กรขนาดใหญ่จะสามารถสร้างต้นแบบทำ Economies of Scale เพื่อไม่ให้ปลายทางของขยะเสื้อผ้าไปสู่แค่หลุมฝังกลบ แต่ยังสามารถนำไปอัพไซเคิลเป็นเฟอร์นิเจอร์หรือพลังงานเชื้อเพลิง พลังงานทดแทนได้

คุณวิภาพร สัตยาอภิธาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีเจ.การ์เม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท Wear to Work (W2W)  กล่าวว่า W2W ใส่ใจในการตัดเย็บและทุกขั้นตอนการผลิตที่มีคุณภาพมาตรฐานสากล พร้อมเดินหน้าสร้างปรากฎการณ์ใหม่ให้วงการยูนิฟอร์มของเมืองไทย และยินดีที่ได้มีโอกาสออกแบบและผลิตยูนิฟอร์ม​ใหม่ให้ ธอส. ครั้งนี้ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับธนาคาร พนักงานมีความมั่นใจและความสุขในการแต่งกาย และเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ W2W มีประสบการณ์ในการออกแบบยูนิฟอร์มให้องค์กรต่างๆ เช่น บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) โรงแรมโฟร์ซีซัน กรุงเทพฯ โรงแรมดุสิต ดีทู สามย่าน เป็นต้น

Stay Connected
Latest News