บิ๊กคอร์ป เร่งงานหิน เดินเกมสโคป 3 ยกระดับ Supply Chain เปลี่ยนผ่าน ‘ยั่งยืน’ ทั้งห่วงโซ่ พร้อม​​มอบ ‘SX TSCN Sustainability Award’ ซัพพลายเออร์ต้นแบบขับเคลื่อน ESG Framework

การสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มประสิทธิภาพภายในห่วงโซ่ธุรกิจ หรือ ซัพพลายเชน (Supply Chain) เป็นประเด็นที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ในการ​ขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืน โดยเฉพาะเป้าหมายในการบรรลุ Net Zero ขององค์กร ​ในสโคป 3 ซึ่งถือเป็นส่วนที่ ‘ยาก’ และ ‘ใหญ่’ ทั้งในเชิงปริมาณสัดส่วนการปลดปล่อยคาร์บอนที่มากกว่า Emission ที่เกิดขึ้นในสโคป 1 และ 2 หลายเท่าตัวทีเดียว

ประกอบกับการเข้าไปยกระดับ ปรับปรุง​กระบวนการดำเนินธุรกิจ เพื่อเพิ่มทั้งประสิทธิภาพในเชิงการลด Carbon Emission ขณะเดียวกันยังเพิ่มความสามารถในการลดต้นทุน เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งในเชิง Performance ให้ธุรกิจแข็งแกร่งได้ตลอดทั้งห่วงโซ่ ​รวมทั้ง​การส่งต่อให้เกิดความยั่งยืนในมิติทางสังคมผ่านแนวทาง Green Procurement ​เพื่อเป็นซัพพลายเชนที่สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกได้ทั้งมิติสิ่งแวดล้อม การดูแลสังคม และการสร้างธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจ ตามกรอบ ESG ที่ปัจจุบันอาจจะยังเป็นการขับเคลื่อนแบบสมัครใจ แต่เชื่อว่าจะมีความเข้มข้นไปสู่การ​บังคับใช้ในอนาคต

ซึ่งบทบาทเหล่านี้คือ สิ่งที่ ‘เครือข่ายธุรกิจห่วงโซ่อุปทานแห่งประเทศไทย’ หรือ TSCN​​ (Thailand Supply Chain Network) พยายามขับเคลื่อนมาโดยตลอด จากการนำร่องจับมือ​กันของ Key Partner ของ​​ไทยเบฟเวอเรจ ​​จำนวน 9 ราย ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ จํากัด (มหาชน) กลุ่มบีเจซี บิ๊กซี, บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จํากัด (มหาชน), บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) , บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จํากัด (มหาชน), บริษัท ไทย เบเวอร์เรจ แคน จํากัด, บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป จํากัด (มหาชน) ​ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่าย TSCN มาตั้งแต่ปี 2019 จนปัจจุบันมีองค์กรสมาชิกในเครือข่ายราว 1,500 บริษัท ซึ่งครอบคลุมจำนวนธุรกิจทั้งขนาดใหญ่ กลาง และเล็กรวมกันภายในห่วงโซ่ธุรกิจไม่ต่ำกว่า 5 พัน – 1 หมื่นราย

คุณต้องใจ ธนะชานันท์ ผู้อำนวยการคณะจัดงาน SX 2024 และเลขานุการคณะทำงาน TSCN กล่าวว่า หน้าที่สำคัญของเครือข่ายคือ การทำให้ทั้งห่วงโซ่ธุรกิจแข็งแรงและเติบโตได้ท้ัง Ecosystem ไม่มีส่วนใดของห่วงโซ่ที่เป็นจุดอ่อน ซึ่งอาจกระทบต่อความแข็งแรงและมั่นคงของทั้งห่วงโซ่ได้ในที่สุด ​ผ่านการส่งเสริมภายใต้ 3 แนวทาง ประกอบด้วย

– Protecting the Value : เพื่อปกป้องและรักษามูลค่าและความแข็งแกร่ง​ทางธุรกิจไว้ เพื่อรักษาความต่อเนื่องในการขับเคลื่อนธุรกิจ หรือมีการเติบโตได้​ต่อเนื่อง

– Creating the Value : ผ่านการสร้างมูลค่าและคุณค่าเพิ่มเติมให้เกิดขึ้นภายในห่วงโซ่ เช่น การพัฒนาความร่วมมือ​ต่างๆ ภายในห่วงโซ่ การพัฒนาหรือลงทุนในบางโปรเจ็กต์ร่วมกัน รวมท้ังการแชร์ทรัพยากรบางอย่างร่วมกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพได้มากยิ่งขึ้น

– Innovating the Value : การพัฒนาสิ่งใหม่ หรือเครื่องมือใหม่เพื่อช่วยยกระดับได้ทั้งห่วงโซ่ เช่น การพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อแชร์องค์ความรู้ นวัตกรรม หรือการ่วมพัฒนาทักษะต่างๆ รวมท้ังการจับคู่ทางธุรกิจสำหรับผู้ที่มีนวัตกรรมหรือโมเดลธุรกิจให้กับผู้ประกอบการในการขยายความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ เป็นต้น

“ในต่างประเทศ เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น ที่​อุตสาหกรรมมีความแข็งแกร่งมากๆ เนื่องจากการขับเคลื่อนและพัฒนาร่วมกันไปทั้งอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการไปขยายตลาด หรือการไปศึกษานวัตกรรมต่างๆ และมีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดแลกเปลี่ยนแนวคิด หรือองค์ความรู้ต่างๆ ระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในยุคที่โลกขับคลื่อนสู่เรื่องความยั่งยืน หากไม่สามารถเปลี่ยนผ่านซัพพลายเออร์ในห่วงโซ่ให้มองในทิศทางเดียวกัน​ได้ องค์กรใหญ่ต่างๆ ก็ไม่สามารถที่จะบรรลุเป้าหมายได้เองเพียงลำพัง ดังนั้น การพัฒนาความแข็งแกร่งของซัพพลายเออร์​ หรือ SME รายย่อยในห่วงโซ่​จึงเท่ากับเป็นการสร้างความแข็งแกร่งและลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจขององค์กรใหญ่ไปพร้อมกันด้วย ไม่ว่าจะเป็นทั้งในมิติของสิ่งแวดล้อม สังคม รวมทั้งการรักษาธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจ”​

ด้าน คุณอรทัย พูลทรัพย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจต่อเนื่องประเทศไทย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันเราได้ยินคำว่า ‘Supply Chain Disruption’ บ่อยมากขึ้น จากการขับเคลื่อนสู่โลกยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงและไม่แน่นอน และเต็มไปด้วย​ความกังวลต่อหลายปัจจัยเสี่ยง ทั้งปัญหาสภาพภูมิอากาศ ภูมิรัฐศาสตร์​ และภูมิศาสตร์ทางการเมือง ดังนั้น ธุรกิจจึงต้องร่วมกันฉีดวัคซีน สร้างภูมิคุ้มกัน ภายในซัพพลายเชนเพื่อมีความสามารถในการปรับตัว ยังคงสามารถผลิตสินค้าเพื่อกระจายให้กับตลาดได้อย่างต่อเนื่อง แม้อยู่ในช่วงสถานการณ์เปราะบาง เพราะการเพิ่มความแข็งแรงในจุดที่ยังเสี่ยงและมีความเปราะบาง จะเป็นการเพิ่มศักยภาพของธุรกิจในภาพรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มสปีดของการ​​​พัฒนาได้เร็วมากขึ้น ผ่านการเรียนรู้ และการแชร์ Best Practice ร่วมกัน ​เพื่อนำมาซึ่ง​ประสิทธิภาพที่มากกว่า รวมท้ังลดการใช้ทรัพยากรมากกว่าการทำคนเดียว หรือต่างคนต่างทำ เพราะ​เป้าหมาย ไม่ใช่เพียงการช่วยให้ซัพพลายเออร์ในห่วงโซ่แข็งแรงเท่านั้น แต่ยังเป็นการเพิ่มความแข็งแรงให้ธุรกิจได้ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำได้อย่างแท้จริงด้วย

ยกระดับ ‘ความยั่งยืน’ ตลอดห่วงโซ่ 

ในปีนี้ยังเป็นครั้งแรกที่ทางเครือข่าย TSCN จัดงานมอบรางวัล SX TSCN Sustainability Award ให้ซัพพลายเออร์ภายในห่วงโซ่ ภายใต้ความร่วมมือกับงาน Sustainability Expo 2024 (SX 2024) โดยการให้ทั้ง 9 บริษัท Co-founder คัดเลือกองค์กรในเครือข่ายที่สามารถขับคลื่อนงานด้านความยั่งยืนให้เห็นผลจับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้เกณฑ์การประเมินจาก Positive Impact ที่สามารถสร้างให้เกิดขึ้นได้ภายใน Ecosystem ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลของธุรกิจ​ รวมทั้งการเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพ​ทางธุรกิจ​ให้กับองค์กรของตัวเองได้ โดย​มี 48 บริษัทที่ได้รับคัดเลือกภายในปีแรกนี้ ​จากการขับเคลื่อนหรือพัฒนาโปรเจ็กต์  รวมทั้งพัฒนาประสิทธิภาพกระบวนการทางธุรกิจต่างๆ ​ เช่น

บริษัท บังกี้  จำกัด (คัดเลือกโดย CPF) ที่พัฒนาโครงการระบบตรวจสอบย้อนกลับ บนเทคโนโลยีบล๊อคเชนเพื่อติดตามที่มาถั่วเหลืองจากแหล่งปลูก ที่ไม่บุกรุกป่า เพื่อช่วยขับเคลื่อนเป้าหมายห่วงโซ่อุปทานปลอดการตัดไม้ทำลายป่า 100%

บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (คัดเลือกโดย ThaiBev) จากการขับเคลื่อนโครงการกล่องหมุนเวียน​ เพื่อช่วยจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน โดยการใช้ซ้ำกล่องกระดาษลูกฟูกที่ยังอยู่ในสภาพดี เพื่อช่วยทั้งลดการใช้ทรัพยากรใหม่ ทั้งกระดาษ และพลังงาน รวมทั้งลดปริมาณขยะที่ต้องกำจัดด้วย

บริษัท เค.เอฟ.พาราวูด จำกัด (คัดเลือกโดย BJC) จากโครงการบรรจุภัณฑ์ไม้ยั่งยืน ​ที่เน้นการออกแบบและผลิตพาเลทไม้​โดยใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (คัดเลือกโดย GC) จากกระบวนการ Waste Management ​ครบวงจร ​ทั้งการบำบัด การกำจัดของเสีย และการนำของเสียกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ในรูปแบบต่างๆ เช่น ​ผลิตพลังงานจากขยะและการทำเชื้อเพลิงผสม โครงการนี้ช่วยลดปริมาณของเสียที่ต้องฝังกลบ และสนับสนุนการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

บริษัท แรบบิท แคช จำกัด (คัดเลือกโดย Srithai)ในการส่งเสริม​ความรู้ทางการเงินเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตพนักงาน ​เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตพนักงาน ผ่านการวางแผนทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ ลดภาระหนี้สิน และความเครียด ซึ่งตอบโจทย์มิติด้าน Social ทั้งการดูแลความเป็นอยู่ของพนักงาน รวมทั้งยังเสริมความเข้มแข็งให้องค์กรในระยะยาว

บริษัท ยูเอซีเจ (ประเทศไทย) จำกัด (คัดเลือกโดย TBC) จาก​​โครงการรีไซเคิลกระป๋องอลูมิเนียมหมุนเวียนแบบวงปิด (Closed Loop) ​​สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนจากการรีไซเคิลกระป๋องอลูมิเนียมใช้แล้ว ช่วยลดการถลุงแร่​อลูมิเนียมที่ใช้พลังงาน​และ​ปลดปล่อยคาร์บอนตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์มหาศาล โดยปัจจุบัน ลดการใช้อลูมิเนียมลงได้กว่า 7,000 ตัน โดยคาดว่าในปีหน้าจะลดได้เพิ่มเป็น 1 หมื่นตัน

–  บริษัท ทีพีเอ็น แพคเกจจิ้ง จำกัด (คัดเลือกโดย Thai Union) จากการขับเคลื่อน Green Procurement ​เน้นปฏิบัติตามนโยบาย​จัดหาวัตถุดิบและสินค้าที่คำนึงถึงความยั่งยืน โดยปฏิบัติตามจรรยาบรรณทางธุรกิจและหลักปฏิบัติด้านแรงงานอย่างเคร่งครัด ​ส่งเสริม​ซัพพลายเออร์และคู่ค้าปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) รวมถึงการเคารพสิทธิมนุษยชน การจ้างงานอย่างเป็นธรรม และการจัดการทรัพยากรอย่างรับผิดชอบ ซึ่งช่วยสร้างความโปร่งใสและความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด

สำหรับการมอบรางวัล SX TSCN Sustainability Award ครั้ง​นี้จัดขึ้นภายในงาน SX2024 ที่ผ่านมา เป็นรางวัลที่มีความแตกต่างและมีจุดเด่นในการยกระดับซัพพลายเชนให้ขับเคลื่อนไปตามทิศทางโลกที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน โดยผู้ให้รางวัลเป็นผู้ที่เป็นคู่ค้าจริงกับซัพพลายเออร์แต่ละราย จึงทำให้รางวัลมีความน่าเชื่อถือและเป็นสิ่งที่แต่ละองค์กรดำเนินการจริง

นอกจากนี้ ยังเห็นความร่วมมือในการพัฒนาซัพพลายเชนในภาคอุตสาหกรรมไปสู่ความยั่งยืน จากคณะผู้ร่วมก่อตั้งในการ​ประกาศเจตนารมย์แนวทางปฏิบัติคู่ค้าของ TSCN หรือ TSCN Business Partner Code of Conduct เพื่อ​ให้สมาชิกยึดถือและปฏิบัติตามคุณค่า และหลักการในกรอบเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนสอดคล้องกับ ESG ​ ทั้งด้าน​​​การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ​​การมีความรับผิดชอบต่อสังคม ​รวมท้ังธรรมา​ภิบาลและจริยธรรมของธุรกิจ ​​

รวมไปถึงการมุ่งสร้างแพลตฟอร์มกลางเพื่อเป็นศูนย์กลางทั้งการให้ข้อมูลข่าวสาร และองค์ความรู้ต่างๆ ​เพื่อเป็นการต่อยอดความร่วมมือ​และขยายเครือข่ายไปสู่ภาคธุรกิจในวงกว้าง ผ่านการให้บริการระบบ TSCN Platform (https://thailandsupplychain.com/) เครือข่ายสังคมธุรกิจออนไลน์ สำหรับเชื่อมโยงพันธมิตรทางธุรกิจที่มีศักยภาพจากหลากหลายอุตสาหกรรมผ่านการจับคู่อุปสงค์และอุปทานในการทำธุรกิจและเป็นศูนย์รวมองค์ความรู้ด้านการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน รวมถึงเสริมสร้างความแข็งแกร่งของภาคธุรกิจไทย ​รวมทั้ง​การจัดอบรม Train-the-Trainers ภายใต้ Thailand Sustainability Academy (TSA) เพื่อเพิ่ม​ขีดความสามารถให้กับคณะทำงานของ TSCN ให้มีศักยภาพในการอบรมคู่ค้ารายย่อยให้สามารถจัดทำบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปจนถึงการจัดทำแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเองได้อย่างชัดเจน​

“อนาคตจากนี้ ความยั่งยืนจะเข้ามามีบทบาทในธุรกิจมากขึ้น และปรับเปลี่ยนจากภาคสมัครใจไปสู่ภาคบังคับ ทำให้ทั้งซัพพลายเชนจะต้องปรับตัวเพื่อรับกฎกติกา หรือเงื่อนไขทางการค้าใหม่ๆ และในฐานะองค์กรใหญ่ ต้อง​พยายามสร้างแรงจูงใจต่างๆ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่าน รวมทั้งติดตามปัญหาข้อจำกัดของซัพพลายเออร์ภายในห่วงโซ่ เพื่อให้สามารถขยับและปรับเปลี่ยนไปได้พร้อมกัน ซึ่งจากนี้จะมีความเข้มข้นมากขึ้นเพื่อให้เกิดการขยับได้อย่างจริงจัง แต่อาจจะต้องใช้เวลาในการขับเคลื่อนได้ทั้งหมด ขณะที่ซัพพลายเออร์หลายรายมองว่าจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก แต่ในความเป็นจริงสามารถเริ่มได้ทันทีจากแนวคิดและปรับเปลี่ยนภายในองค์กร ซึ่งไม่จำเป็นต้องลงทุนเพิ่ม แต่สามารถ​​ช่วยลดค่าใช้จ่ายและทำให้ศักยภาพทางธุรกิจภาพรวมดีขึ้นได้เช่นกัน”​ ผู้บริหารตัวแทนจากกลุ่ม​ผู้ร่วมก่อตั้ง TSCN กล่าวทิ้งท้าย

Stay Connected
Latest News