SET เผยผล CEO Survey ​พบผู้บริหาร บจ.ไทย 70% มอง Generative AI และ Sustainability ส่งผลเชิงบวกทั้งต่อเศรษฐกิจและภาคธุรกิจ

ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สำรวจความคิดเห็นผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนในปี 2567 – 2568 (CEO Survey: Economic Outlook 2024 – 2025) เกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจ การดำเนินธุรกิจ และประเด็นที่น่าสนใจ

โดยรวบรวมข้อมูล​ช่วงวันที่ 1 สิงหาคม – 27 กันยายน 2567 มีบริษัทจดทะเบียนจาก SET และ mai ร่วมแสดงความคิดเห็นทั้งสิ้น 249 บริษัท จาก 26 หมวดธุรกิจ รวม 53.9% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ณ 31 กรกฎาคม 2567 โดยมีรายละเอียดจากการศึกษาแต่ละด้าน ดังนี้

ด้านเศรษฐกิจ

CEO คาดว่าเศรษฐกิจไทยยังเติบโตได้ 2-3% ในปี 2567 และ 2568 โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญ คือ การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ส่วน 3 ปัจจัยลบที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจในปี 2567  ได้แก่ เสถียรภาพการเมืองไทย หนี้ครัวเรือน และกำลังซื้อภายในประเทศ ตามลำดับ และยังเป็น 3 ปัจจัยเสี่ยงสำคัญในปี 2568 ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ในปี 2568 CEO มองว่าเสถียรภาพการเมืองไทยและปัญหากำลังซื้อภายในประเทศจะเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจน้อยลง แต่เสถียรภาพการเมืองโลกและต้นทุนค่าจ้างแรงงานจะเข้ามามีบทบาทกดดันเศรษฐกิจมากขึ้น รวมทั้งบางท่านมีความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงสร้างการผลิตของประเทศไทยที่ยังเป็นอุตสาหกรรมรูปแบบเก่าซึ่งต้องมีการปรับตัว และการเข้ามาทำตลาดของสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ

ส่วนมุมมองต่อปัญหาเงินเฟ้อ​ในปี 2567 CEO ส่วนใหญ่ราว 60% เชื่อว่าน่าจะอยู่ภายในกรอบเป้าหมายทที่ 1%-3% และ 27% มองว่าอาจจะต่ำกว่ากรอบเงินเฟ้อ

ด้านการดำเนินธุรกิจ 

CEO มาก​กว่า 70% คาดการณ์รายได้ของบริษัทยังคงเติบโตต่อเนื่องในปี 2567 ​โดย 55% คาดว่ารายได้บริษัทจะโตขึ้นเล็กน้อยถึงปานกลาง (0.1-10%) สอดคล้องกับแนวโน้มการเติบโตของรายได้ของบริษัทจดทะเบียนช่วงครึ่งปีแรกเฉลี่ย 6.3% ใน SET และ 7.7% ใน mai ตามลำดับ ​

ทั้งนี้ เชื่อว่าอัตราการเติบโตจะเร่งขึ้นในปี 2568 และยังเชื่อมั่นลงทุนขยายธุรกิจเพิ่มเติมโดยเฉพาะในไทยและภูมิภาคอาเซียน (69%) รวมทั้งประเทศจีน (12%) และประเทศอินเดีย (10%) โดย 3 ใน 4  มองว่าช่วงเวลา 12 เดือนข้างหน้า มีความน่าสนใจลงทุนหรือขยายกิจการเพิ่มเติม ซึ่งราว 2 ใน 3 มีความสนใจในภูมิภาคอาเซียน นำโดยประเทศไทยและตามมาด้วยเวียดนาม และให้ความสนใจรองๆ ลงมาในประเทศจีนและประเทศอินเดีย ตามลำดับ ซึ่งเป็นภูมิภาคหรือประเทศที่มีฐานลูกค้าขนาดใหญ่ และเศรษฐกิจกำลังพัฒนารวดเร็ว

ด้านสภาพคล่องของธุรกิจยังเป็นปกติแม้อาจมีความเสี่ยงจากกำลังซื้อภายในประเทศที่ลดลงและต้นทุนการผลิตที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น โดยส่วนใหญ่​มีความกังวลด้านยอดขายที่ชะลอตัวลง (64%) และการชำระเงินของลูกหนี้การค้า (55%)

ทั้งนี้ ได้มีการปรับกลยุทธ์ในหลายๆ ด้าน เพื่อรับมือกับความท้าทาย โดยเฉพาะปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง อาจเป็นความเสี่ยงต่อการดำเนินธุรกิจมากที่สุด ตามด้วยปัจจัยต้นทุนการผลิต ทั้งด้านวัตถุดิบ พลังงาน และต้นทุนทางการเงิน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ รวมทั้งบางส่วนมีความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเข้ามาทำตลาดของสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยใหม่ที่ถูกระบุเพิ่มเข้ามาในการสำรวจรอบนี้

เทรนด์ที่น่าสนใจ

CEO ราว 70% มองเทรนด์โลกอย่างเทคโนโลยี Generative AI และการปรับตัวด้านความยั่งยืน (Sustainability) เป็นผลดีทั้งต่อเศรษฐกิจและการดำเนินธุรกิจในช่วง 12 เดือนข้างหน้านี้มากที่สุด และอาจนำมาทั้งโอกาสในการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานโดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่ในทางกลับกัน CEO ส่วนใหญ่มองว่าการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจะส่งผลเชิงลบทั้งต่อเศรษฐกิจไทยและการดำเนินธุรกิจ โดยการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำอาจกระทบต่อต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น อีกหนึ่งปัจจัยที่ CEO ส่วนใหญ่มองว่าอาจกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและส่วนหนึ่งมองว่าอาจกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ คือ สงครามการค้า

 

Stay Connected
Latest News