ฐานการผลิตไบเออร์สด๊อร์ฟ ประเทศไทย ถือเป็นฐานการผลิตหลัก 1 ใน 5 โรงงานขนาดใหญ่ของไบเออร์สด๊อร์ฟทั่วโลก และยังเป็น Hub ในการส่งออกไปยัง 40 ประเทศทั่วโลก ภายใต้การบริหาร 15 ไลน์ผลิต 12 ถังผสมวัตถุดิบ และการบริหารจัดการวัตถุดิบและส่วนผสมกว่า 4,000 ประเภท ซึ่งต้องมีความสามาถในการบริหารจัดการในระดับสูง เพื่อสามารถรักษามาตรฐานการผลิตได้ตาม Global Standard เพื่อรักษาความเชื่อมั่นในคุณภาพที่ผู้บริโภคทั่วโลกให้การยอมรับ
นอกจากภารกิจในการผลิตสินค้าคุณภาพเพื่อรักษาความแข็งแกร่งในมิติ Business Performance แล้ว บริษัท ไบเออร์สด๊อร์ฟ ประเทศไทย ยังขับเคลื่อนแนวทางด้าน Sustainability ที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ ‘Care Beyond Skin’ เพื่อให้ธุรกิจสร้างผลกระทบเชิงบวกทั้งต่อผู้คน สังคม และสิ่งแวดล้อม
คุณวราพร ลิขิตจรรยากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไบเออร์สด๊อร์ฟ ประเทศไทย กล่าวถึงความมุ่งมั่นที่ไบเออร์สด๊อร์ฟต้องการบรรลุ เพื่อมุ่งสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ที่ตั้งเป้ามุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2030 รวมทั้งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG Reduction) ตลอดทั้งห่วงโซ่ (Scope 1-3 ) ลงได้ 90% ในปี 2045 โดยวางเข็มไมล์แรกไว้ที่ 30% ภายในปี 2025
ขณะเดียวกันต้องการสร้างความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิต ทั้งตัวผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ โดยมุ่งที่การลดใช้พลาสติกใหม่ในการผลิตลงมากกว่า 50% ในปี 2026 การผลิตบรรจุภัณฑ์จากพลาสติกรีไซเคิลให้มากกว่า 30% รวมทั้งผลิตบรรจุภัณฑ์ทั้ง 100% ให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ท้ังในรูปแบบการผลิตบรรจุภัณฑ์รีฟิลแบบถุงเติม การนำกลับมาใช้ใหม่ รวมทั้งผลิตจากวัสดุที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ทั้งหมดภายในปี 2025 รวมทั้งการลดการใช้พลังงานภายในกระบวนการผลิตลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนมิติทางสังคม จะมุ่งส่งเสริมศักยภาพให้ผู้หญิงผ่านโครงกาาร Empowering Girls Program ไม่ต่ำกว่า 5 แสนคนทั่วโลก ภายในปี 2025 เช่นเดียวกัน รวมทั้งส่งเสริมการขับเคลื่อนโครงการเพื่อสังคมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำต่างๆ
“การขับเคลื่อนความยั่งยืนของไบเออร์สด๊อร์ฟ ประเทศไทย ถือว่าเป็นไปตามแผน ทั้งในมิติของการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม รวมท้ังมิติสิ่งแวดล้อมที่เห็นพัฒนาการได้อย่างชัดเจนผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเรื่อง โดยผลิตภัณฑ์ของนีเวียทั้ง 100% ปลอดไมโครพลาสติกมาตั้งแต่ปี 2021 และยังไม่มีสารที่เป็นอันตรายต่อปะการัง รวมท้ังแบรนด์เวชสำอางอย่างยูเซรินที่ปลอดไมโครพลาสติกได้ 100% ในปี 2023 เช่นกัน พร้อมพัฒนาการอื่นๆ เช่น เป้าหมายลดใช้ทรัพยากรใหม่ลง 50% เพื่อลดการใช้ Fossil Based ก็สามารถทำได้แล้ว 16% , การเพิ่มวัสดุรีไซเคิลในการผลิตบรรจุภัณฑ์ได้แล้ว 12%, หรือการทำให้บรรจุภัณฑ์ทั้งหมดเป็นมิตรต่อส่ิงแวดล้อม รวมทั้งการลดขยะในกระบวนการผลิตให้เป็น Zero Waste to Landfill ซึ่งหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ไบเออร์สด๊อร์ฟสามารถบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนได้อย่างรวดเร็ว มาจากนโยบายในการแยกเป้าหมายด้านการเติบโตทางธุรกิจ และด้านความยั่งยืนแยกออกจากกันอย่างชัดเจน ทำให้สามารถขับเคลื่อนด้าน Sustainability ได้อย่างอิสระ และไม่กระทบต่อความเสี่ยงหรือความท้าทายทางเศรษฐกิจที่มีอยู่รอบด้าน หากเชื่อมโยงการขับเคลื่อนไว้ด้วยกัน อาจทำให้แผนการขับเคลื่อนความยั่งยืนกระทบได้ หากเศรษฐกิจอยู่ในช่วงที่ต้องระมัดระวัง”
ทั้งนี้ ไบเออร์สด๊อร์ฟทั่วโลก ได้วางงบประมาณในฟากของการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนในเฟสแรกไว้ราว 300 ล้านยูโร และจะสิ้นสุดในปี 2025 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการวางแผนเพื่อพิจารณางบประมาณในเฟสที่ 2 เพื่อขับเคลื่อนสู่เป้าหมายความยั่งยืน รวมทั้งการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ภายในปี 2030 และเร่งแผน Decarbonization เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ในลำดับต่อไป
คุณสุเรขา วันเพ็ญ ผู้อำนวยการศูนย์การผลิต บริษัท ไบเออร์สด๊อร์ฟ ประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมถึงการยกระดับการใช้พลังงานสะอาดในกระบวนการผลิต ผ่านการลงทุนสร้างโซลาร์ฟาร์ม พื้นที่ 14 ไร่ เพื่อเพิ่มปริมาณการใช้พลังงานสะอาด ทั้งในกระบวนการผลิตและในส่วนของ Operation ต่าง ในโรงงานไบเออร์สด๊อร์ฟ ประเทศไทย (PC Thailand) โดยสามารถผลิตไฟได้ 999 กิโลวัตต์ ซึ่งถือเป็นโซลาร์ฟาร์มแห่งแรก ภายในโรงงานของนิคมอุตสาหกรรมบางพลี รวมทั้งยังเป็นโซลาร์ฟาร์มที่ใหญ่และมีกำลังไฟสูงสุดของไบเออร์สดอร์ฟทั่วโลกด้วย
“หลังการติดตั้งโซลาร์ฟาร์มแล้วเสร็จในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้ PC Thailand สามารถผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์มาใช้ได้เพิ่มเป็น 25% โดย 15% หรือราว 1,434 กิโลวัตต์ มาจากการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในช่วงการขยายกำลังผลิตของโรงงานเมื่อราว 2 ปีก่อน และ 10% เพิ่มเติมจากการติดตั้งโซลาร์ฟาร์มเพิ่มเติมครั้งล่าสุดนี้ โดยสัดส่วน 25% ของปริมาณไฟฟ้าที่ลดได้ คิดเป็นกำลังไฟกว่า 3.8 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง สามารถนำไปชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าให้วิ่งได้เป็นระยะทางมากกว่า 10 ล้านกิโลเมตร เทียบเป็นปริมาณคาร์บอนที่ลดลงได้กว่า 1,900 ตัน”
กระบวนการผลิตของ PC Thailand ยังลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมในมิติอื่นๆ ทั้งสามารถลดปริมาณขยะในกระบวนการผลิตลงได้มากกว่า 445 ตัน ลดการใช้น้ำในกระบวนการผลิตลงได้ 57% หรือเกือบ 8 หมื่นลูกบาศก์เมตรต่อปี รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต ทั้งจากระบบทำความเย็น ระบบปรับอากาศ หรือหม้อต้ม Boiler ทำให้สามารถลดการใช้พลังงานโดยภาพรวมลงได้ 26%
นอกจากนี้ ในส่วนของการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ให้มีความเป็นมิตรต่อส่ิงแวดล้อม ทั้งการใช้วัสุดรีไซเคิลในการผลิตบรรจุภัณฑ์หรือการลดปริมาณลง โดยมีปริมาณการใช้แก้วรีไซเคิลกว่า 1 หมื่นตันต่อปี และสามารถลดปริมาณการใช้ลงได้ 2.3 พันตันจากการออกแบบให้มีน้ำหนักเบาขึ้น หรือการใช้พลาสติกรีไซเคิลเพื่อลดปริมาณการใช้พลาสติกใหม่ในการผลิตกว่า 500 ตัน รวมทั้งใช้กระดาษรีไซเคิลกว่า 1.5 พันตัน ซึ่งช่วยลดปริมาณกระดาษลงได้ 23 ตัน ในส่วนของแหล่งผลิตกระดาษทั้ง 100% ยังผลิตมาจากป่าปลูกทดแทนโดยไม่มีการทำลายป่าไม้ ซึ่งในส่วนของการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์มีส่วนช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนลงได้กว่า 0.5 ตันคาร์บอนเทียบเท่า
“การจะเดินหน้าขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนในระยะยาวนั้น จะต้องทำงานร่วมกันกับพันธมิตรที่มีเป้าหมายเดียวกันอย่างเครือข่ายซัพพลายเออร์ รวมถึงการทำให้ผลิตภัณฑ์ของเรามีความยั่งยืนมากขึ้น ทั้งจากการเลือกใช้วัตถุดิบ และปรับปรุงขั้นตอนการผลิตให้มีการปลดปล่อยคาร์บอนน้อยลง เช่น การใช้เส้นทางการจัดส่งที่ใกล้ขึ้นหรือสั้นลง นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการเลือกใช้วัสดุรีไซเคิลแทนพลาสติกใหม่ (Virgin plastic) ซึ่งทั้งหมดนี้มีส่วนช่วยลดการปล่อยมลพิษทั้งสิ้น ซึ่งปัจจุบัน PC Thailand ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อเพิ่มศักยภาพในการลดคาร์บอนได้มากขึ้น และเชื่อว่าเมื่อแล้วเสร็จจะช่วยในการบรรลุเป้าหมายลดคาร์บอนลงได้ 30% ภายในปี 2025 รวมทั้งมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนได้อย่างแน่นอน”